29 พ.ย. 2023 เวลา 05:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คูเมืองทางเศรษฐกิจ วิธีเลือกหุ้นดี ของ Warren Buffett และ Charlie Munger

การค้นหาบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง และสามารถทำธุรกิจ ให้เป็นผู้ชนะได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่สำคัญ ที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าต้องทำอยู่ตลอด
นอกจากการตรวจสอบงบการเงินอย่างละเอียด โดยการดู NPM, ROE, ROA และกระแสเงินสดอิสระแล้ว
ยังมีการตรวจสอบในเชิงคุณภาพที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ
การตรวจสอบว่าบริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุนนั้น มีคูเมืองทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งหรือไม่
แล้วทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ขนาดคู่หูนักลงทุนระดับตำนานอย่างคุณ Warren Buffett และคุณ Charlie Munger ยังเน้นย้ำเป็นพิเศษ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
คูเมืองทางเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนป้อมปราการของกำแพงเมืองในสมัยโบราณ ที่จะต้องมีคูเมืองที่ทั้งกว้างและลึก เพื่อให้สามารถทนทานต่อการบุกรุกของฝ่ายศัตรูได้อย่างยาวนาน
ซึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยถึงบริษัท ที่ประกอบกิจการที่เราสนใจ ว่ามีความสามารถในการแข่งขันที่มากพอ ที่จะทำให้บริษัทอื่น ๆ เข้ามาแข่งขันได้ยากหรือไม่
คูเมือง จะมีอยู่ทั้งหมด 5 แบบ โดยบริษัทหนึ่ง อาจจะมีส่วนประกอบครบ หรือไม่ครบทั้ง 5 แบบก็ได้
1.ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
ก่อนการลงทุน เราควรตรวจสอบว่า
บริษัทที่เราจะนำเงินไปลงทุนนั้น มีสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นอย่างไร
แล้วทำไมผู้บริโภคถึงต้องใช้สินค้าของบริษัทนี้ แทนที่จะไปใช้ของคู่แข่ง
ถ้าเรานำเงินไปลงทุนในบริษัทที่มีสินค้า ที่ไม่ได้มีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งมากนัก
ผู้บริโภคเองก็จะแยกไม่ออกเช่นกัน ว่าสินค้าของแต่ละแบรนด์ มีความแตกต่างกันอย่างไร
ซึ่งบริษัทที่ไม่ได้มีสินค้าแตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างชัดเจนนั้น เป็นธุรกิจที่คุณ Warren Buffett และคุณ Charlie Munger มักจะหลีกเลี่ยง
เพราะบริษัทดังกล่าวอาจจะไม่มีความสามารถในการเป็นผู้กำหนดราคา
และไม่ค่อยมีความสามารถ ทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้
หนึ่งในธุรกิจที่มักจะมีแต่สินค้าที่คล้าย ๆ กันหมด ก็คือ ธุรกิจขายโดนัท
อย่างไรก็ดี บริษัทที่สามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของตัวเองได้ ก็จะได้รับความนิยมมากกว่าคู่แข่ง
ซึ่งตัวอย่างของธุรกิจ ที่แม้จะมีสินค้าคล้ายกันกับคู่แข่ง แต่ก็ยังมีจุดเด่นเพียงพอที่จะเรียกลูกค้าได้ ก็คือ Krispy Kreme ที่ขายโดนัทในราคาสูงกว่าคู่แข่ง แต่ก็ยังมีผู้ใช้บริการเยอะ เพราะสินค้ามีรสชาติที่อร่อยและเป็นเอกลักษณ์
2.การสร้างแบรนด์ให้น่าจดจำ
การที่บริษัทมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่น่าจดจำ ก็นับว่าบริษัทมีคูเมืองที่แข็งแกร่งเช่นกัน
เพราะเวลาผู้คนนึกถึงสินค้าประเภทนั้น ก็จะนึกถึงแบรนด์นี้ก่อนเป็นรายแรกเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเรานึกถึงมันฝรั่งทอดกรอบ ชื่อแรกที่เรานึกถึงก็คงหนีไม่พ้น Lay’s
หรือถ้าเรานึกถึงเครื่องดื่มน้ำอัดลม เราก็มักจะนึกถึง Coke ไม่ก็ Pepsi
ในส่วนของระบบปฏิบัติการ เราก็มักจะนึกถึง Windows, iOS และ Android
ซึ่งลิขสิทธิ์เป็นของ Microsoft, Apple และ Google เป็นต้น
3.ต้นทุนต่ำทำให้สามารถผลิตสินค้าในราคาที่ถูกได้
บริษัทมีศักยภาพในการผลิตสูง ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณที่มาก
ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถรักษาต้นทุนการผลิตสินค้าได้ ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่ง
ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า บริษัทมีความสามารถในการประหยัดต่อขนาด
หรือก็คือ Economies of Scale นั่นเอง
ด้วยศักยภาพในการผลิตที่สูงนี้เอง บริษัทที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคู่แข่ง ก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าได้ในราคาถูกกว่า
การมีต้นทุนที่ต่ำและผลิตได้ในปริมาณที่มาก ยังสามารถช่วยให้บริษัทเดิมที่อยู่ในตลาดมานาน มีความสามารถในการป้องกัน การเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ได้
เช่น ถ้ามีคู่แข่งคือบริษัท B อยากเข้ามาแข่งขันในตลาดสินค้า C แต่ต้นทุนในการผลิตสินค้า ไม่ได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าบริษัทดั้งเดิม ที่อยู่มาก่อนอย่างบริษัท A
บริษัท A ที่ไม่ต้องการให้บริษัท B เข้ามาแย่งลูกค้า ก็อาจจะกำหนดกลยุทธ์ โดยการลดราคาสินค้าลง
เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าของบริษัท A แทนที่จะซื้อสินค้าของบริษัท B
และเมื่อบริษัท B ไม่สามารถทนต่อการขาดทุนได้นาน บริษัท B ก็อาจจะต้องเลือกออกจากตลาดไป
ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่บริษัท A อยู่นั้น มี Barrier of Entry สูงมาก
จนทำให้บริษัท A แทบจะสามารถผูกขาดตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ
4.ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าของคู่แข่งสูง
หากผู้บริโภคชอบสินค้าบางอย่างของบริษัทนั้น ผู้บริโภคก็ย่อมใช้สินค้าดังกล่าวเป็นเวลานาน
เมื่อผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าและบริการของบริษัทอื่น ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ Mac
แล้วเราได้ซื้อสินค้าผ่านร้านค้าอย่าง iTunes เช่น แอปพลิเคชัน, เพลง และหนัง
สินค้าที่เราซื้อ ก็จะถูกบันทึกอยู่ใน Apple ID ของเรา
เมื่อเราจะเปลี่ยนไปใช้ iPhone รุ่นที่ใหม่กว่าเดิม และเรายังใช้ Apple ID เดิมอยู่
เราก็สามารถโอนย้ายข้อมูลเหล่านั้น รวมถึงสินค้าที่เคยซื้อ ให้มาอยู่ใน iPhone เครื่องใหม่ได้
แต่หากสมมติ เราเกิดเปลี่ยนใจไปใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่น อย่างเช่น Samsung หรือ Huawei
สินค้าที่เราเคยซื้อมาและผูกโยงกับผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้น ก็จะไม่สามารถนำมาใช้ในสินค้าใหม่ที่เราซื้อมาจากแบรนด์อื่นได้
ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้ เราจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ถ้าเราเปลี่ยนไปใช้สินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น แทนที่ผู้ผลิตรายเดิม
และผู้บริโภคหลายคน ที่ได้เสียเงินให้กับแบรนด์ที่ตัวเองคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ก็อาจจะคิดว่า
การเปลี่ยนไปใช้สินค้าของบริษัทอื่นนั้น อาจจะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์น้อยลง จึงเลือกที่จะไม่เปลี่ยน
5.มีกำแพงทางกฎหมายที่ป้องกันคู่แข่งรายใหม่เข้ามา
มีบางสินค้าและบริการ ที่บางบริษัทจะไม่สามารถทำธุรกิจประเภทนั้นได้
เพราะมีกฎหมายหรือสิทธิบัตร ที่ห้ามไม่ให้มีคู่แข่งเข้ามาทำธุรกิจแข่งขัน
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสนามบิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผูกขาดในเชิงสถานที่
โดยผู้ที่อยากทำธุรกิจนี้ จะต้องดำเนินการทางด้านกฎหมาย และสร้างความปลอดภัย ที่จะต้องผ่านขั้นตอนการอนุญาตจากทางภาครัฐ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนน้อยรายที่สามารถทำธุรกิจสนามบินได้
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจประเภทยา และการขนส่ง ที่มีประเด็นทั้งทางกฎหมายและสิทธิบัตร
จนทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ เข้ามาแข่งขันได้ยาก
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดสำคัญว่าบริษัทหนึ่ง ๆ มีคูเมืองหรือไม่ ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นการวัดในเชิงคุณภาพ
แต่การจะวัดว่าคูเมืองนี้แข็งแกร่งมากแค่ไหนนั้น เราจะต้องวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลขด้วย
โดยเราจะต้องตรวจสอบว่า กำไรที่ได้รับมา มีจำนวนมากกว่าค่าเสียโอกาสของเงินทุนหรือไม่
หรือก็คือการนำค่า Return on Invested Capital (ผลตอบแทนของเงินลงทุน) มาลบด้วย Opportunity Cost of Capital (ค่าเสียโอกาสของเงินทุน)
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ Return on Invested Capital สามารถคำนวณได้ ด้วยการนำกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี หารด้วยเงินลงทุน โดยเงินลงทุนคือ การนำส่วนผู้ถือหุ้น มาบวกกับหนี้สินระยะยาว
สำหรับ Opportunity Cost of Capital ก็คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือก็คือทางเลือกการลงทุนอื่นของบริษัท ที่อาจให้ผลตอบแทนมากกว่า หรือน้อยกว่าการลงทุนในปัจจุบัน
โดยธุรกิจที่มีคูเมืองแข็งแกร่ง ควรจะมีผลการคำนวณเป็นบวก
แล้วถ้าถามว่า คูเมืองที่แข็งแกร่งควรจะอยู่ได้นานแค่ไหน ?
คำตอบก็คือ ควรเป็นบวกมากกว่า 2 ปี
แต่ถ้าบริษัทมีความสามารถในการรักษาคูเมือง ได้เป็นระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป
ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คูเมืองของบริษัทนั้นมีความยั่งยืนที่สูงมาก
และมีโอกาสน้อยที่บริษัทอื่น จะมาแย่งส่วนแบ่งของกำไรไปได้
และทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์คูเมืองทางเศรษฐกิจ การตรวจสอบว่าบริษัทมีความแข็งแกร่ง พอที่จะแข่งขันในระยะยาวได้หรือไม่
ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมองข้ามไปไม่ได้..
Reference
-Gone Fishing with Buffett (2012) โดย Sean Seah
โฆษณา