4 ธ.ค. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Warrant และ Derivative Warrant คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

นักลงทุนหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ Warrant และ Derivative Warrant กันมาบ้าง
โดยทั้ง 2 อย่างนี้ คือตราสารอนุพันธ์ ที่มีมูลค่าอ้างอิงอยู่กับอีกสินทรัพย์หนึ่ง
และแม้ว่าจะมีชื่อที่คล้ายกัน แต่ในรายละเอียดนั้น มีความแตกต่างกันพอสมควร
แล้ว Warrant กับ Derivative Warrant คืออะไร
และแตกต่างกันอย่างไร​ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
Warrant คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
ส่วน Derivative Warrant หรือ DW เรียกว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
เริ่มต้นจากจุดประสงค์ของทั้ง 2 ตราสาร
นักลงทุนที่ลงทุนใน Warrant จะมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นแม่ในอนาคต
เพราะฉะนั้น จึงบอกได้ว่า วัตถุประสงค์ของ Warrant คือ เพื่อเป็นหนึ่งในการระดมทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน
ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนใน Derivative Warrant จะมีสิทธิที่จะซื้อ (Call Option) หรือสิทธิที่จะขาย (Put Option) สินทรัพย์อ้างอิงใด ๆ
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของ Derivative Warrant จึงเป็นไปเพื่อการเก็งกำไร ว่าสินทรัพย์อ้างอิงที่เราสนใจ จะมีมูลค่าขึ้นหรือลงในอนาคต
ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันแบบนี้ ทั้ง 2 ตราสารจึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
- สินทรัพย์อ้างอิง
สินทรัพย์อ้างอิงของ Warrant จะเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ที่นักลงทุนสนใจจะซื้อในอนาคต เท่านั้น
ในขณะที่ สินทรัพย์อ้างอิงของ DW จะมีความหลากหลายกว่า ตั้งแต่หุ้นรายตัว เช่น หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ
ไปจนถึงดัชนี เช่น ดัชนี SET, ดัชนี SET50, ดัชนี SETHD และดัชนีราคากลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ
3
รวมถึงดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น ดัชนี Hang Seng Index, ดัชนี S&P 500 Index และดัชนีดาวโจนส์ เป็นต้น
- ผู้ออกตราสาร
Warrant จะออกโดยบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ เท่านั้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนจากนักลงทุน และนำเงินทุนไปใช้ในการขยายกิจการ
ส่วนผู้ออก DW จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ เพิ่มทางเลือกในการสร้างผลตอบแทน และบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตของนักลงทุน
โดยสินทรัพย์อ้างอิงตัวเดียวกัน เช่น ดัชนี SET50 อาจจะมีการออก DW ดัชนี SET50 โดยโบรกเกอร์หลายแห่งก็ได้
- สัญลักษณ์ของตราสาร
Warrant นั้น จะใช้แค่ชื่อของหลักทรัพย์อ้างอิง ตามด้วยลำดับชุดของ Warrant นั้น
เช่น MBK-W2 ที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.เอ็ม บี เค ชุดที่ 2
ในขณะที่สัญลักษณ์ของ DW จะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลัก
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราลองมาดูตัวอย่าง DW ของหุ้น PTT ที่ใช้ชื่อ PTT01C2401A โดยคำว่า
- PTT หมายถึง ชื่อหลักทรัพย์อ้างอิง
- 01 หมายถึง หมายเลขของโบรกเกอร์ผู้ออก DW
- C หมายถึง ประเภทของ DW ซึ่ง C คือ Call แต่ถ้าเป็นคำว่า P คือ Put
- 2401 หมายถึง ปีและเดือนที่ DW นั้นจะหมดอายุ ซึ่งกรณีนี้ก็คือ ปี 2024 เดือน 1
- A หมายถึง รุ่นของ DW นั้น โดยจะเรียงจาก A ไป Z
- อายุของตราสาร
Warrant จะมีอายุไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ออก
ส่วน DW จะมีอายุการซื้อขายประมาณ 2 เดือน จนถึง 2 ปี
ดังนั้น DW อาจตอบโจทย์นักลงทุนระยะสั้นที่นิยมจับจังหวะการลงทุน
ในขณะที่นักลงทุนระยะยาวอาจชื่นชอบ Warrant มากกว่า
- การส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิง
สำหรับ Warrant นั้น ถ้านักลงทุนเลือกใช้สิทธิ ก็จะเป็นการชำระเงินสด และนักลงทุนก็จะได้รับหุ้นแม่จริง ๆ
แต่ถ้าเลือกไม่ใช้สิทธิ ก็ปล่อยให้ Warrant นั้นหมดอายุไป
ส่วน DW จะไม่มีการส่งมอบสินทรัพย์กันจริง ๆ แต่จะเป็นการชำระเงินสดส่วนต่าง ระหว่างราคาสินค้าอ้างอิงกับราคาใช้สิทธิ และเกิดเป็นกำไรหรือขาดทุน
- ผู้ดูแลสภาพคล่อง
Warrant จะไม่มีผู้ดูแลสภาพคล่อง และไม่ได้มีข้อกำหนดจากตลาดหลักทรัพย์ให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องในการทำราคา
ส่วน DW มีผู้บริหารสภาพคล่อง หรือ Market Maker ซึ่งปกติมักจะเป็นโบรกเกอร์ผู้ออก DW ตัวนั้น ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลราคา และรับซื้อขาย DW ในราคาที่เหมาะสม
เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลาทำการ ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ที่ให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 1 ราย
Warrant และ Derivative Warrant ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ต้องศึกษา เช่น ลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะตัว, มูลค่า, ราคาใช้สิทธิ รวมถึงอัตราทด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีกำไรหรือขาดทุน
อย่างไรก็ตาม เราก็น่าจะพอเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Warrant กับ Derivative Warrant ได้ในเบื้องต้นแล้ว..
โฆษณา