1 ธ.ค. 2023 เวลา 14:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ

#ร้อยคนร้อยหุ้น หุ้น XO : สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)

กำลังการผลิตที่รองรับได้สูงสุดของบริษัท
# อ้างอิงจากคำพูดของคุณคิด ผู้บริหารที่เคยมาออก Opp day ในช่วงที่โรงงานสร้างเสร็จใหม่ๆ ในช่วงปี 2559
# โรงงานได้ติดตั้งไลน์การผลิตในปัจจุบันทั้งหมด 4 ไลน์ (สามารถติดตั้งได้สูงสุด 6 ไลน์การผลิต )
# ทางทฤษฎีที่ผู้บริหารเคยพูดไว้ในช่วงปี 2559 นั้นสำหรับ 4 ไลน์นี้ 1 กะ สามารถรองรับยอดขายได้ 2000 ล้านบาท ถ้าทำงาน 2 กะ สามารถรองรับยอดขายได้เป็นมูลค่าราวๆ 4000 ล้านบาท และถ้าติดตั้งครบทั้ง 6 ไลน์จะรองรับยอดขายได้เป็นมูลค่าราวๆ 6000 ล้านบาท
# กลับมาในทางปฏิบัติที่ทำได้จริงในปัจจุบัน ไตรมาส 2/66 ใช้กำลังการผลิต 118% สร้างยอดขายได้ ราวๆ 616 ล้านบาท และไตรมาส 3/66 ใช้กำลังการผลิต 150% สร้างยอดขายได้มูลค่าราวๆ 700 ล้านบาท
# ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์กลับมาที่ 200% (ใช้เต็ม 2 กะ) จะสร้างมูลค่าของยอดขายได้ราวๆ 933 - 1044 ล้านบาท ต่อไตรมาส หรือราวๆ 3600 - 4200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ผู้บริหารเคยพูดไว้
# ถ้าต้องการความ Conservative ก็ใช้ตัวเลขกรอบล่างของกำลังการผลิตสูงสุดที่ 3600 ล้านบาท เป็นตัวอ้างอิง สำหรับ 4 ไลน์การผลิตในปัจจุบัน
# การคลาดเคลื่อนในกรอบของมูลค่ารายได้ อาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ชนิดของสินค้าที่ผลิต ความต่อเนื่องของการผลิต ค่าเงินบาท การปฏิบัติหน้างาน ฯลฯ
# กำลังการผลิตสูงสุดในระดับ 3600 ล้านบาทนี้ สามารถรองรับได้ถึงปลายปี 2567 ก่อนที่จะมีการติดตั้งไลน์การผลิตเพิ่มอีก
# ไลน์การผลิตใหม่ที่ได้มีการเริ่มติดตั้งและสามารถเริ่ม COD ได้ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถรองรับการผลิตใน 1 กะ ได้อีก 1000 ล้านบาท ถ้าทำงาน 2 กะ อาจจะไปได้ถึง 2000 ล้านบาท แต่ผมจะเผื่อไว้ที่ 1400 ล้านบาทสำหรับการทำงาน 2 กะเท่านั้น
# กำลังการผลิตสูงสุดเฉพาะที่โรงงานอมตะซิตี้ ระยองในปี 2568 จึงคาดว่าจะรองรับการผลิต ในทางปฏิบัติจริงที่คิดเป็นมูลค่าของยอดขายนั้นจะได้ ราวๆ 3600 + (1000 หรือ 1400) = 4600 ถึง 5000 ล้านบาท
# ในความเห็นของผม กำลังการผลิตสูงสุดเฉพาะที่โรงงานปัจจุบันสามารถรองรับยอดขายไปได้อีกหลายปีโดยที่ยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานใหม่ที่โรจนะด้วยซ้ำ เว้นเสียแต่ว่ารายได้ในแต่ละปีจะเติบโตเกินกว่า 30 - 40% ทบต้น
# ในปี 2569 โรงงานใหม่ที่โรจนะ กำลังการผลิต 1 กะ จะสร้างเสร็จซึ่งสามารถรองรับยอดขายได้เป็นมูลค่าอีกราวๆ 1500 ล้านบาท ถ้าทำงาน 2 กะ อาจจะไปได้ถึง 3000 ล้านบาท แต่ผมจะเผื่อไว้ที่ 2500 ล้านบาท สำหรับการทำงาน 2 กะเท่านั้น
# สรุป กำลังการผลิตสูงสุดที่บริษัทคาดว่าจะรองรับได้ ปี 2567 = 3600 ล้านบาท , 2568 = 5000 ล้านบาท , 2569 = 7500 ล้านบาท
# *** ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะทำรายได้ในแต่ละปีได้เท่านี้ เป็นเพียงกำลังการผลิตสูงสุดจะรองรับได้เท่านั้น***
ปัจจัยอิ่นๆที่ส่งผลต่อกำไรสุทธิ
(+)
# GPM จะขึ้นกับชนิดของสินค้าที่ขาย ซึ่งพวก Sauce จะมี GPมากที่สุด แต่การเพิ่มมาร์จินในทวีปยุโรปที่มีส่วนผสมการขายสินค้าของหลายผลิตภัณฑ์ หรือ ในอเมริกาที่ยังอยู่ในช่วงโปรโมตสินค้าในตลาดใหม่ อาจจะทำให้เพิ่ม GP ในส่วนนี้ได้ยาก ดังนั้น GP ที่จะเพิ่มได้ หลักๆจะมาจากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ Economic of scale ที่มากขึ้น
# ถ้าปี 2567 กำลังการผลิตถูกใช้เต็มที่เกิน 150% (เทียบเท่าไตรมาส 3/66) ตลอดทั้งปี อาจจะทำให้ ปี 2567 เป็นปีที่มี GPM สูงที่สุดในรอบหลายๆปีเลยทีเดียว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายที่เพิ่มมากกว่าปีก่อนจะยิ่งทำให้มี Economic of scale เต็มปีเพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้ราคาวัตถุดิบในปัจจุบันจะยังยืนอยู่สูงมากก็ตาม
# ราคาวัตถุดิบในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำตาลที่ค่อนข้างยืนในระดับสูง ถ้าปีต่อๆไป ราคาน้ำตาลเริ่มลง และบริษัทไม่ได้ fix ราคาน้ำตาลเอาไว้ก็อาจจะเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรสุทธิได้ แต่บริษัทแจ้งว่าได้ Fix ราคาพริก กระเทียม ปีหน้าทั้งปีไว้แล้ว และ Fix ราคาน้ำตาลไว้ 60% กว่าๆ
(-)
# ค่าเงินบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่อนข้างมาก ถ้าปีต่อๆไป ค่าเงินเกิดแข็งค่าขึ้นก็อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อกำไรสุทธิ และการสั่งซื้อของลูกค้าได้
# อัตรากำไรสุทธิที่สูงในช่วงนี้ หลักๆ เกิดจากการใช้กำลังการผลิต ที่เกิน 100% และ ยังได้รับการยกเว้นภาษีจากสิทธิ์ BOI จากโรงงานเดิม
# BOI หรือสิทธิพิเศษทางภาษี จะหมดลงตอนสิ้นปี 2567 แม้จะยังทำให้กำไรในปี 2567 ใช้ฐานภาษีเดียวกันกับปี 2566 ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลกดดันต่อการเติบโตของกำไรในปี 2567 ส่วนในปี 2568 การยกเว้นภาษีของโรงงานเดิม จะหายไป 80% อีก 20% จะถูกคิดภาษีครึ่งเดียว แต่บริษัทจะได้ปัจจัยบวกจากไลน์การผลิตใหม่ที่เพิ่มเข้ามาตอนปลายปี 2567 และกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มเข้ามานี้จะได้รับสิทธิ์การเว้นภาษีเหมือนก่อนหน้านี้ ถ้าหากทางบริษัทวางแผนการผลิตดีๆ ปี 2568 น่าจะเสียอัตราภาษีที่ราวๆ 12-13% ของกำไรสุทธิก่อนภาษี
# ในขณะที่ ปี 2569 โรงงานที่โรจนะก็จะเสร็จ ทำให้การผลิตหลักๆ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมดอีกครั้ง แต่ถ้าหากมีคำสั่งซื้อมาก ออเดอร์บางส่วนจะต้องถูกกระจายไปยัง โรงงานเก่าที่หมด BOI แล้ว ดังนั้นอัตราภาษีจะไม่ใด้รับการยกเว้นทั้งหมด
# กำลังการผลิตที่เพิ่มเข้ามาในปี 2568 รวมถึงโรงงานใหม่ที่โรจนะ ในปี 2569 จะช่วยเพิ่มยอดขายในกรณีที่มีคำสั่งซื้อในระดับสูงและทำให้โรงงานผ่านจุดคุ้มทุน แต่ถ้าหากว่าคำสั่งซื้อน้อยกว่าที่ผู้บริหารคาด การเพิ่มกำลังการผลิตอาจจะทำให้มีค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายมาฉุดผลประกอบการ ทำให้ GPM รวมถึง NPM ลดลงได้
ความคิดเห็นอื่นๆ
# การที่ราคาขายของซอสศรีราชาห่านบิน ขึ้นมาเทียบเท่า Huy Fong ในร้านค้าบางแห่ง หมายความว่า ราคาเดิมอาจจะถูกเกินไปและขายได้ค่อนข้างดี จึงทำให้ร้านค้ากล้าที่จะขึ้นราคาขึ้นมาเทียบเท่าเจ้าตลาดเดิม
# เรื่องรสชาติที่เปลี่ยนไปของ Huy Fong ผมขอแสดงความคิดเห็นใน 2 รูปแบบ ไม่รู้ว่าแบบไหนจะตรงกับความเป็นจริงในสถานการณ์นี้มากกว่ากัน
# ผมชอบกินโค้ก แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังเสี่ยงกับโรคเบาหวานหลังจากตรวจค่าน้ำตาล จึงเปลี่ยนตัวเองไปกินโค้กซีโร่ แรกๆก็ยังไม่ชินกับรสชาติและรู้สึกว่าไม่อร่อย โค้กแบบเดิมอร่อยกว่า แต่เมื่อกินต่อเนื่องไปนานๆ กลับรู้สึกชินกับรสชาติโค้กซีโร่ และสามารถกินได้เป็นปกติ รู้สึกว่าชอบกว่ารสชาติแบบดั้งเดิมด้วยซ้ำ ในกรณีนี้ผมคิดว่า คนที่มีความภักดีกับ Huy Fong มากๆ น่าจะยอมซื้อต่อไปและไม่เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อใหม่ แม้รสชาติจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม จนสามารถชินกับรสชาติใหม่นี้ได้
ในทางกลับกัน ก็อาจจะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้ภักดีกับแบรนด์มาก มาลองกินยี่ห้อใหม่ในช่วงที่ Huy Fong ขาดตลาดและติดใจในรสชาติใหม่ จนไม่กลับไปซื้อ หรือถ้าจะซื้อ Huy Fong ก็คงซื้อบ้างในบางโอกาสสลับกับแบรนด์ใหม่ๆที่ได้ลองก่อนหน้านี้ ในกรณีของผมที่ต้องซื้อโค้กซีโร่แทนโค้กธรรมดา เป็นเพราะสุขภาพบังคับให้ต้องซื้อ แต่ถ้าไม่ได้ปัจจัยอื่นๆเข้ามา ลูกค้าสามารถซื้อได้อย่างอิสระ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ Huy fong จะยังทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำเหมือนเดิม แม้รสชาติจะเปลี่ยนหรือไม่
# วงดนตรีในอดีตที่ผมชอบคือ Silly fools ซึ่งมีเอกลักษณ์ คือ เสียงของนักร้องนำ และ ซาวน์ดนตรีที่หนักแน่น จนทำให้ Silly fools เป็นวงดนตรีที่ถ้าพูดถึงแล้ว คนจะต้องนึกถึง 2 สิ่งนี้
ในตอนที่มีการเปลี่ยนนักร้องนำ ความเป็น Silly fools ทั้ง 2 อย่างที่ผมชอบก็ได้ถูกแยกออกจากกัน ทำให้แม้จะมี Silly fools จะมีซาวน์ดนตรีที่หนักแน่นเหมือนเดิม แต่ก็ไม่เหมือนเดิมเนื่องจากความชื่นชอบในเสียงของนักร้องนำคนเก่านั้นไม่สามารถถูกทดแทนโดยคนใหม่ได้ แม้จะมีคนบอกว่าถึงจะเปลี่ยนนักร้อง แต่ความเป็น Silly fools จริงๆอยู่กับสมาชิกคนอื่นๆในวงหรือซาวน์ดนตรีที่หนักแน่นก็ตาม ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆกับ Huy Fong ถึงแม้รสชาติจะเปลี่ยน แต่แบรนด์ก็ยังเป็น Huy Fong เหมือนเดิม
# ในขณะเดียวกัน โต อดีตนักร้องนำSilly fools ก็ได้มาตั้งวงดนตรีใหม่ชื่อ Hangman แม้เอกลักษณ์ของเสียงจะยังเหมือนเดิม(อาจจะต่างบ้างเล็กน้อยตามอายุนักร้องที่มากขึ้น) แต่สมาชิกในวงและ ซาวน์ดนตรีกลับไม่หนักเท่าสมัยอยู่กับ Silly fools ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงจะเทียบได้กับ Supplier พริกเดิมของ Huy Fong คือ Underwood ที่ได้มาทำซอสพริกในแบรนด์ตัวเอง และมีรสชาติที่ว่ากันว่าคล้ายกับ Huy Fong แบบดั้งเดิมก่อนจะมีปัญหากัน แต่ ซอสพริกของ Underwood ก็ไม่ได้ขายดีหรือได้รับความนิยมเหมือนกันกับ Huy Fong
# ในท้ายที่สุดแม้ Silly fools ใหม่ กับ วง Hangman อาจจะประสบความสำเร็จได้ในระดับนึง แต่ทั้งคู่ก็เทียบไม่ได้กับ Silly fools ยุคแรก และโดยส่วนตัวเมื่อพูดถึง Silly fools ผมก็ยังนึกถึง Silly fools ที่มี โตเป็นนักร้องนำ หรือถ้าพูดถึง โต ผมก็ยังนึกถึง โต Silly fools ไม่ใช่ โต Hangman
# ผมไม่ได้จะสรุปว่า ซอสห่านบินจะสามารถแย่งตลาดและเอาชนะ Huy Fong ได้ แต่ผมเพียงคิดว่า Huy Fong เองก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนที่ภักดีในแบรนด์จริงๆเท่านั้นที่จะซื้อต่อ ส่วนคนทั่วๆไปก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปลองของใหม่ และเปิดโอกาสให้แบรนด์อื่นๆขึ้นมาที่ยืนในตลาดซอสพริกของอเมริกาได้ และการเอาเรื่องของวงการเพลงมาเปรียบเทียบกับวงการอาหารอาจจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว อาจจะเป็นความคิดของผมแค่คนเดียว ซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นๆที่ผมมองข้ามไป และ Huy Fong ยังคงครองใจคนอเมริกันอยู่ต่อไปก็ได้ครับ
สามารถเข้าไปอ่านกระทู้ "ร้อยคนร้อยหุ้น" อย่างละเอียดต่อได้ที่
เป็นกระทู้พิเศษสำหรับสมาชิกเท่านั้น สามารถสมัครทดลองใช้ฟรี 30 วันก่อนอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้ครับ https://board.thaivi.org
โฆษณา