2 ธ.ค. 2023 เวลา 15:52 • ประวัติศาสตร์

ชื่อที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมตั้งกันมากในช่วงสมเด็จพระเจ้าตากสินกำลังกอบกู้เอกราช คือ “ฉิม”

ลองค้นจากประวัติพระนามพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงศรีอยุธยาไม่พบว่าพระนามมเหสีหรือพระราชบุตร พระองค์ใดชื่อฉิม ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามีชาวบ้านชื่อฉิมอยู่บ้าง แต่ความนิยมในช่วงกรุงธนบุรีนั้นถือว่ามีมากกว่ายุคสมัยอื่นๆ
เริ่มจากกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระนามเดิม “เจ้าหญิงฉิม” เป็นธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับ หม่อมทองเหนี่ยว
พอเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 พระมเหสีคือท่านผู้หญิงนาก (นาก ณ บางช้าง) มีพระราชธิดาชื่อ เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระเจ้ากรุงธนบุรี (กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์)
นอกจากนี้ยังมีพระราชบุตรชื่อ เจ้าฟ้าชายฉิม ซึ่งต่อมาคือรัชกาลที่ 2
บรรดาเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 1 ก็มีชื่อ ฉิมแมว ธิดาพระยามหาอำมาตย์ (เสือ)  และ ฉิมยักษ์ (ฉิม ณ พัทลุง) ธิดาพระยาพัทลุง
ส่วนเจ้าจอมมารดางิ้ว ตั้งชื่อธิดาว่าพระองค์เจ้าหญิงฉิมพลี
ไม่เฉพาะฉิมเท่านั้น ยังมีชื่อแปลกๆที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครนำมาตั้งกันแล้ว โดยบรรดาเจ้าจอมมารดาพระราชบุตร-พระราชธิดา สมัยนั้นยังมีชื่อ กล้าย ผะอบ เอี้ยง อู่ เป็นต้น
รัชกาลที่ 2 พระนามเดิมเจ้าฟ้าชายฉิม มีเจ้าจอมมารดาชื่อตามสมัยเช่น แจ่มใหญ่ เหมใหญ่ ม่วงใหญ่ เหมเล็ก ม่วงซอ ปรางใหญ่ พะวา กล้ำ จันทน์ใหญ่ ลูกจันทน์เล็ก เป็นต้น
ในขณะที่พระนามพระราชบุตร-ธิดา ตามสมัย เช่น พระองค์เจ้าชายเน่า พระองค์เจ้าหญิงพันแสง พระองค์เจ้าชายเรณู พระองค์เจ้าหญิงใย  พระองค์เจ้าหญิงส้มจีน พระองค์เจ้าชายมั่ง ก็นับว่าแปลกและหาได้ยากในปัจจุบันเช่นกัน
รัชกาลที่ 3 พระนามเดิม หม่อมเจ้าชายทับ มีเจ้าจอมมารดาที่ชื่อตามสมัย เช่น ฉิม เอมใหญ่ เอมน้อย สุดใหญ่ เหม็น สาดใหญ่ น้อยใหญ่ น้อยเล็ก
โดยพระราชบุตรมีพระนามแปลกที่สุดคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้างอนรถ
รัชกาลที่ 4 พระนามเดิม ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ มีเรื่องที่หลายคนยังไม่ค่อยทราบคือ ขณะเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระชนมายุ 19 ชันษา มีพระราชบุตรกำเนิดนอกเศวตฉัตร 2 พระองค์ เมื่อครองราชย์ป็นพระบาทสม้ด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2394 พระราชบุตรคนโต มีพระชนมายุ 28 ชันษา แม้จะทรงมีสนม 77 คน พระราชบุตร 84 พระองค์ แต่ไม่มีคนไหนมีพระนามว่า “ฉิม”
ซึ่งความนิยมในการตั้งชื่อคนว่า “ฉิม” ค่อยๆหายไป สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการมิบังควรที่ชาวบ้านหรือเจ้าจอมมารดาจะตั้งชื่อพระราชบุตรซ้ำกับสมเด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
นับจากรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ก็ไม่พบว่าสมัยนิยมตั้งชื่อว่า “ฉิม” อีกจนถึงปัจจุบัน
สรุปได้ว่าความนิยมในการตั้งชื่อของคนสมัยกรุงธนบุรีและช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักจะชื่อฉิม ซึ่งสามารถนำมาตั้งได้ทั้งหญิงและชาย นอกจากนั้นแม้จะมีการตั้งชื่อซ้ำๆกัน เช่น เอม สุด หรือน้อย ก็มักจะต่อท้ายด้วยคำว่าใหญ่ น้อย และเล็ก
วิวัฒนาการทางภาษาในแต่ละยุคสมัยสามารถนำการตั้งชื่อคนมาจำแนกช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญได้โดยคร่าวๆ
ยกตัวอย่าง 100 ปีที่ผ่าน นิยมตั้งชื่อคนสั้นๆ พยางค์เดียวมีความหมายในตัวเอง หรือเป็นคำที่ไม่ซับซ้อนทางภาษา เช่น บัว ใบ บาง แบน แก้ว เขียว อ่อน เป็นต้น
พอมาถึงยุคเบบี้บูม สังคมไทยรณรงค์ให้แต่ละครอบครัวมีลูกหลายคน การตั้งชื่อจึงเปลี่ยนมาเป็นคำสั้นๆที่มีความหมายในตัว เช่น สัมพันธ์ ทองใบ สวัสดิ์ สมพร กินนร วัฒนา ฯลฯ
ก่อนที่ GenX จะมีการตั้งชื่อที่มีความหมายซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับ เช่น วุฒิชัย วิฑูรย์ เฉลิมศักดิ์ เกียรติชัย อรรณพ ทัศนัย สิทธิโชค เป็นต้น
ดังนั้น หากวิเคราะห์การตั้งชื่อลูกในปัจจุบันที่เขียนพิศดารและหาความหมายหลายๆอย่างมาผสมกัน บริบททางสังคมและเทคโนโลยีอาจมีส่วนทำให้ชื่อของเด็กสมัยนี้พัฒนาไปจนเข้าขั้นพิลึกหลุดโลก
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด กลับไม่พบคนชื่อ “ฉิม” อีกแล้ว
และในไม่ช้า อาจถึงวันที่คนชื่อ พิศมัย , สรพงศ์ , วัฒนา , วันทอง ฯลฯ คนสุดท้ายกำลังจะหายไปจากประเทศไทยแล้วก็เป็นได้
โฆษณา