6 ธ.ค. 2023 เวลา 08:45 • การศึกษา

สรุปเนื้อหาคอร์ส Training from the BACK of the Room

ในที่สุด ผมก็ได้เรียนคอร์สที่คอยมาครึ่งปี และเป็นคอร์สที่อยากเรียนมากที่สุดในปีนี้
นี่คือความรู้สึกของผมในเช้าวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพราะกำลังจะได้เรียนหลักสูตร Training from the BACK of the Room หรือ TBR ระดับ practitioner
TBR หรือคอร์สการอบรมหลังห้อง เป็นคอร์สที่สอนวิธีการสอน การอบรม โดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์สมอง (Brain Science) เพื่อให้ผู้เรียนสนใจ เข้าใจ จำเนื้อหาได้
บทความนี้จะเล่าบางกิจกรรมใน TBR ครับ
วันอบรมคือ จันทร์ที่ 27 พ.ย. และอังคารที่ 28 พ.ย. เวลา 9–17 น. จัดที่โรงแรม VIE ใกล้บีทีเอส ราชเทวี
ตอนที่ผมทราบว่า TBR จัดที่โรงแรม VIE ก็ดีใจ เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงานของผมมาก เดินทางสะดวกสุด ๆ
คอร์สที่ผมเรียนเป็นระดับ practioner หมายความว่า เรียนเพื่อนำไปใช้กับการสอนของตนเอง
ถ้าใครต้องการเป็น certified trainer ซึ่งเรียนเพื่อนำเนื้อหาของ TBR ไปสอนอีกทีหนึ่ง จะต้องเรียนเพิ่มอีก 1 วันคือ วันพุธหรือวันพฤหัส
ผมยังไม่สนใจที่จะเป็น certified trainer จึงเรียนแค่ 2 วันเท่านั้น เพราะอยากนำความรู้ไปใช้กับเนื้อหาวิชาหรือคอร์สต่างๆ ที่ผมสอน
ถ่ายคู่กับคุณ JP วิทยากร
ผู้สอนหลักสูตรนี้ มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า คุณ JP ซึ่งเป็น certified trainer ชาวอังกฤษ และมีผู้ช่วยอีกหนึ่งคน
ถ่ายกับเพื่อนวิทยากรที่รู้จักกัน จากซ้ายไปขวา คุณอุ้ย โค้ชแพท ผม และอาจารย์อาจ
คอร์สนี้มีผู้เรียน 20 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย อีกครึ่งเป็นคนต่างชาติ มาจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ก่อนเริ่มเรียน มีกิจกรรม Quick Start โดยที่วิทยากรบอกให้พวกเราเดินไปที่โต๊ะอื่น ๆ เพื่อทำความรู้จักกัน ทำให้ทราบว่า แต่ละคนมาจากสายงานที่หลากหลาย เช่น อาจารย์ วิทยากร โค้ชด้าน Agile เป็นต้น
ดร.ต้า วิโรจน์ ผู้ก่อตั้ง Skooldio ก็มาเรียนด้วย
ผมได้พบเพื่อนวิทยากรที่รู้จักหลายคนมาอบรมในงานนี้ และได้นั่งโต๊ะเดียวกับอาจารย์มหาลัยฟิลิปปินส์ซึ่งสอนด้านสื่อชื่อ คุณ Data ก็คุยกันว่า การสอนระดับมหาลัยต้องเปลี่ยนแล้ว ใช้วิธีสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้
Right to pass ข้ามกิจกรรมได้ ถ้าไม่อยากทำ
แนวคิดหนึ่งที่ผมชอบในคลาสนี้คือ Right to pass หมายความว่า ผู้เรียนมีสิทธิที่จะไม่ทำหรือข้ามบางกิจกรรมได้ ถ้าผู้เรียนไม่ต้องการ
เป็นการสร้าง Psychological Safety ในห้องเรียน
คุณ JP เล่าว่า เคยพบผู้เรียนบางคนที่นำโน้ตบุ๊คมาเรียน แล้วบอกว่า จำเป็นต้องใช้โน้ตบุ๊ค เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อได้ หรือบางคนที่ต้องวาดรูปขยุกขยิก ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ตั้งใจเรียน แต่การวาดรูปกลับทำให้เขามีสมาธิกับการเรียน
Bingo เป็นกิจกรรมที่ผมชอบมากที่สุดอย่างหนึ่ง ตั้งใจว่า จะต้องนำมาใช้ในการสอนแน่นอน
คุณ JP ให้พวกเราทำตาราง 6 ช่องบนกระดาษ จากนั้นเขียน 6 คำจากสไลด์บนกระดาษ โดยเลือกคำไหนก็ได้ที่ชอบ
เวลาคุณ JP พูดคำไหนที่ตรงกับคำที่เราเขียน ก็ขีดคำนั้นบนสไลด์ ใครที่ได้ครบทั้ง 6 คำ ก็ตะโกนบิงโกได้เลย และจะได้รับรางวัลเป็นหนังสือ
บิงโกที่ผมเขียน
สุดท้ายแล้ว ทุกคนก็บิงโก ได้หนังสืออีกคนละ 1 เล่ม แถมยังหยิบของเล่นบนโต๊ะไปได้อีก 1 อย่างด้วย
ที่จริงแล้ว ทุกคนได้หนังสือแน่ๆ แต่แทนที่จะแจกหนังสือตรง ๆ การใช้ Bingo ช่วยให้ผู้เรียนจดจ่อมากขึ้น เพราะต้องตั้งใจฟังว่า เมื่อไรจะมีคำตรงกับสิ่งที่เราเขียน
นี่เป็นเทคนิคหนึ่งที่ผมจะนำไปใช้ในคลาสอย่างแน่นอน
กิจกรรม Myth or Fact
นี่เป็นกิจกรรมง่าย ๆ คือ ทุกคนในกลุ่มอ่านข้อความเกี่ยวกับการเรียนรู้ในการ์ด แล้วจัดหมวดว่า จริงหรือเท็จ ซึ่งวิทยากรต้องเตรียมการ์ดมาให้พอกับจำนวนกลุ่ม
อีกวิธีที่ทำได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องเตรียมวัสดุ คือ แสดงข้อความในสไลด์ ถ้าข้อความเป็นจริง ก็นั่ง ข้อความเป็นเท็จ ลุกขึ้นยืน
นี่เป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในคอร์ส TBR ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
1. การเคลื่อนไหวดีกว่าการนั่งนิ่งๆ ดังนั้น TBR จะมีกิจกรรมมากมายที่ทำให้ผู้เรียนเคลื่อนไหว เช่น ลุกขึ้นยืน, เดินไปหาคนอื่น, ชูนิ้วโป้งขึ้นหรือลง
2. การพูดดีกว่าการนั่งฟังอย่างเดียว เพราะการพูดจะช่วยให้ผู้พูดเข้าใจและจำเนื้อหาได้มากขึ้น
3. ภาพดีกว่าข้อความ สไลด์ที่มีภาพประกอบย่อมน่าสนใจกว่าสไลด์ที่มีตัวอักษรอย่างเดียว
4. การเขียนดีกว่าการอ่าน เพราะการเขียนทำให้มีส่วนร่วมมากขึ้น สมองต้องคิดก่อน จึงจะเขียนได้
5. สั้นดีกว่ายาว การสอนนานเกินไปให้สมองเหนื่อยล้า การสอนสั้น ๆ ดึงดูดความสนใจได้ดีกว่า
6. แตกต่างดีกว่าซ้ำซาก การมีวิธีสอนที่แตกต่างกันหลายแบบ ทำให้ผู้เรียนสนใจมากกว่าการสอนแบบเดิมๆ
นี่คือรูป 6 Trumps ที่ผมวาดโดยมีภาพวาดง่าย ๆ ซึ่งกิจกรรมวาดภาพง่าย ๆ อย่างรวดเร็วเรียกว่า Quick Draw
กิจกรรม Teach Back
เนื่องจากคอร์ส TBR เป็นเรื่องการสอน จึงต้องมีกิจกรรมที่ให้สอนจริง ๆ โดยเป็นงานกลุ่ม ให้เวลาเตรียมตัว 10 นาที และสอนหน้าห้องให้ทุกคนฟัง 3 นาที
กติกาคือ มีเนื้อหา 1 เรื่องที่ใช้หลักการ TBR มาประกอบการสอน และมีกิจกรรมให้ผู้เรียนทำ
หัวข้อที่กลุ่มผมเลือกคือ วิธีคัดเลือกคนเข้าทำงาน โดยที่สมาชิกในกลุ่มเขียนชื่ออาชีพ แล้วให้ผู้เรียนเลือกว่า อยากรับใครเป็นผู้ช่วย
เนื้อหาสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ TBR คือ การวางแผนการสอนด้วย 4C ซึ่งประกอบด้วย C1 — Connections, C2 — Concepts, C3 — Concrete Practice และ C4 — Conclusions
รูปข้างล่างคือแผนการสอนของผมเรื่องฝึกชี่กงแบบง่าย ๆ โดยใช้หลักการ 4C
วางแผนการสอนชี่กงอย่างง่ายด้วย 4C
คอร์ส TBR แจก workbook และหนังสือ 2 เล่มนี้ให้ผู้เรียนทุกคน
คุณ JP บอกให้พวกเรานำ Post-it ไปติดบางหน้าที่สำคัญ เพื่ออ่านเพิ่มเติมในภายหลัง
หนังสือเล่มหนึ่งที่คุณ JP แนะนำ ซึ่งเป็นหนังสือดังมากที่สุดเล่มหนึ่งคือ Brain Rules ซึ่งมีฉบับแปลไทยแล้ว
คอร์ส TBR ใช้หลักการหลายอย่างที่แนะนำใน Brain Rules รวมทั้งหลักการ 6 Trumps ก็นำมาจาก Brain Rules นั่นเอง
ประเมินหลักสูตรด้วย Standing Survey
คุณ JP ให้ผู้เรียนยืนหน้าห้องเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ เรียนแล้วไม่ได้ตรงกับที่ต้องการ, เรียนแล้่วได้บ้างเล็กน้อย, เรียนแล้วได้สิ่งที่ต้องการครบถ้วน
ซึ่งคนส่วนใหญ่รวมทั้งผม ก็ยืนในกลุ่ม 3 คือ เรียนแล้วได้สิ่งที่ต้องการครบถ้วน เพราะผมได้เทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งการมีประสบการณ์ตรงในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งจะนำไปใช้ในวิชาและคอร์สต่าง ๆ ที่ผมสอนอย่างแน่นอน
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น เอไอ คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ การอบรมที่น่าสนใจ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา