11 ธ.ค. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เลบานอน ประเทศล่มสลาย เพราะรัฐบาล บริหารแบบแชร์ลูกโซ่

ทุกวันนี้ อาชญากรรมทางการเงิน มาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกไปลงทุน ไปจนถึงแชร์ลูกโซ่ โดยขบวนการแก๊งมิจฉาชีพต่าง ๆ
2
ขบวนการเหล่านั้น หลาย ๆ ครั้งก็อาจจะเป็นกลุ่มอาชญากรต่างชาติ หรือกลุ่มอาชญากรในประเทศ ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากผู้คนที่รู้ไม่เท่าทัน
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากผู้ที่หลอกลวงประชาชนนั้น ไม่ใช่กลุ่มอาชญากร แต่เป็นรัฐบาล ซึ่งควรจะเป็นผู้ดูแลประชาชนเสียเอง
1
ประเทศที่ได้เผชิญกับเหตุการณ์นี้ จนทำให้ประเทศแทบจะล่มสลาย ก็คือ “เลบานอน” ที่ทางรัฐบาลบริหารประเทศ ด้วยวิธีที่ทางธนาคารโลกถึงกับต้องกล่าวในรายงานว่า เลบานอนกำลังเป็น “แชร์ลูกโซ่วงใหญ่” เลยทีเดียว
แล้วรัฐบาลเลบานอน บริหารประเทศแบบไหน จนถูกมองว่า ไม่ต่างกับแชร์ลูกโซ่วงใหญ่ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
3
เลบานอน เป็นประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของภูมิภาค จนกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศ ได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”
2
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางศาสนาที่แฝงอยู่ในสังคมของประเทศ ก็ได้ปะทุออกมาเป็นสงครามกลางเมือง ในปี 1975 และกินเวลากว่า 15 ปี จนภาคการเงิน และเศรษฐกิจที่เคยเจริญรุ่งเรือง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
4
รัฐบาลเลบานอน จึงต้องใช้เงินจำนวนมาก ไปกับการบูรณะบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ จนเป็นหนี้มหาศาล
2
แต่สิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงให้เงินทุนสำรองของรัฐบาลเลบานอนยังอยู่ได้ แม้จะต้องจ่ายหนี้เหล่านั้น ก็คือ เงินสนับสนุนจากต่างชาติ และเงินจากการท่องเที่ยว
3
และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เงินของชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งกลับเข้าประเทศ
2
สาเหตุที่มีชาวเลบานอนจำนวนมากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็เพราะว่าสงครามกลางเมืองที่กินเวลาอย่างยาวนาน
1
ทำให้ประชาชนชาวเลบานอนอพยพหนีภัยสงคราม ไปยังประเทศที่เจริญแล้วต่าง ๆ จนสามารถตั้งตัวได้ และส่งเงินกลับมาให้ญาติพี่น้อง
2
เงินมหาศาลจากต่างประเทศ จึงไหลเข้ามายังเลบานอน และรัฐบาลจึงไม่มีปัญหาด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
3
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวของเลบานอน ก็เริ่มซบเซา เนื่องจากประเทศใกล้เคียงอย่างซีเรีย เกิดสงครามกลางเมือง
3
อีกทั้งวิกฤติซับไพรม์ ที่ลุกลามมาถึงยุโรป ก็ได้ทำให้ชาวเลบานอนในยุโรป ส่งเงินกลับประเทศได้น้อยลง
1
ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไป เงินทุนสำรองของประเทศเลบานอน ก็คงจะหมดลงในไม่ช้าแน่
จนกระทั่งในปี 2016 ธนาคารกลางและรัฐบาลเลบานอน ก็ได้คิดวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา
1
1. ธนาคารพาณิชย์ คงดอกเบี้ยให้สูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน
ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในเลบานอน ให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5% ต่อปี สำหรับเงินฝากในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นถือว่าน่าสนใจมาก
3
เพราะขนาดชาวอเมริกันในตอนนั้น ยังได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินในธนาคารของประเทศตัวเอง เพียงแค่ประมาณ 1% ต่อปี เท่านั้นเอง
นั่นจึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมูลค่ามหาศาล จากเศรษฐีในประเทศอาหรับข้างเคียง หลั่งไหลเข้ามายังเลบานอน
รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐจากประชาชนในประเทศ ที่ปกติก็ใช้สกุลเงินนี้ ควบคู่กับปอนด์เลบานอนอยู่แล้ว
2
แล้วทำไม ธนาคารพาณิชย์ ถึงกล้าให้ดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ ? เหตุผลเบื้องหลัง ก็มาจากปัจจัยข้อต่อไป
2. ธนาคารกลาง ก็ให้ดอกเบี้ยสูง เพื่อดึงเงินจากธนาคารพาณิชย์
1
ดอกเบี้ยที่ประชาชนได้จากธนาคารพาณิชย์ ก็ว่าสูงแล้ว แต่ดอกเบี้ยที่ทางธนาคารพาณิชย์จะได้จากการฝากเงินกับธนาคารกลางเลบานอน ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ นั้นสูงยิ่งกว่า
1
เพราะธนาคารกลางเลบานอน ให้ดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น มากกว่า 10% ต่อปี เพียงแต่ดอกเบี้ย จะจ่ายด้วยเงินปอนด์เลบานอนเท่านั้นเอง
2
และที่ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นยอม ก็เพราะว่าเลบานอน ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยผูกค่าเงินปอนด์เลบานอนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ดอกเบี้ย ที่ธนาคารพาณิชย์ได้มา ถ้าอยากจะได้เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็สามารถนำไปแลกได้โดยง่าย
1
3. นำเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้ มาจ่ายดอกเบี้ย เงินกู้ต่างประเทศ
1
จากทั้ง 2 ขั้นตอนที่ผ่านมา ในตอนนี้เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะอยู่ในมือของธนาคารกลาง และรัฐบาลของเลบานอนแล้ว
1
สิ่งที่รัฐบาลเลบานอนต้องทำ ก็มีเพียงแค่นำเงินเหล่านี้ ไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้สถานะของเลบานอน ในสายตาของเจ้าหนี้ดูแข็งแกร่ง
3
แต่อันที่จริงแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เอามาจ่ายเจ้าหนี้เหล่านั้น ก็คือเงินของประชาชน และนักลงทุนต่างชาติ ที่ตั้งใจจะเอาเงินมาฝาก เพื่อกินดอกเบี้ยสบาย ๆ นั่นเอง
1
ถึงตรงนี้เอง ทางธนาคารโลก จึงมองว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลเลบานอน ไม่ได้ต่างอะไรกับการทำแชร์ลูกโซ่เลย
1
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเลบานอนก็ยังมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำมาใช้จ่าย
2
จนทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ไต่จาก 134% ในปี 2011 ขึ้นมาเป็น 172% ในปี 2019
2
หนี้ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็บีบให้รัฐบาลเลบานอน ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน นำไปสู่การขึ้นภาษีน้ำมัน, ยาสูบ หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดีย ในปี 2019
4
การขึ้นภาษี นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน จนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้นักลงทุนที่กังวล จึงพากันถอนเงินออก
เมื่อมีคนรุมถอนเงินกันมาก ๆ ก็ถึงเวลาที่วงแชร์ลูกโซ่จะต้องล่ม เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐหมดลง รัฐบาลเลบานอน ก็ไม่มีเงินพอจ่ายเจ้าหนี้ และต้องผิดนัดชำระหนี้กว่า 42,000 ล้านบาท ในที่สุด
6
สิ่งที่ตามมาก็คือ ประเทศเลบานอน กลายเป็นรัฐล่มสลาย ชาวเลบานอนทั่วประเทศ มีสถานะที่จนลงเกินกว่าครึ่ง ในเวลาแค่ 3 ปี ด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่หดตัวกว่า 57%
2
เงินที่ประชาชนฝากไว้ในธนาคาร ก็ไม่สามารถถอนออกมาได้ จนประชาชนต้องรวมตัวกัน ปล้นเงินของตัวเองกลับคืนมาจากธนาคาร
4
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า การบริหารประเทศที่ผิดพลาด ส่งผลเสียกับประเทศชาติได้มากเพียงใด
2
ที่แย่กว่านั้นก็คือ เงินที่รัฐบาลเลบานอนกู้ยืมมานั้น ถูกนำไปสร้างความมั่งคั่ง ให้กับเหล่าชนชั้นสูงของประเทศ
3
แต่เมื่อถึงเวลาที่ประเทศล่มสลายแล้ว คนที่เดือดร้อนและต้องรับกรรม กลับเป็นประชาชนคนธรรมดา ที่หวังว่ารัฐบาล จะช่วยรับประกันความมั่นคงในชีวิต ให้กับพวกเขาเอง..
4
โฆษณา