11 ธ.ค. 2023 เวลา 05:23

PISA-2022 ฉบับเข้าใจง่ายและครบถ้วน ว่าเด็กไทยเก่งมากน้อยเพียงใด ?

การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุดเครื่องมือหนึ่งของมนุษยชาติ
1
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในมิติใด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
แต่การประเมินผลการจัดการศึกษาว่าดีมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีความแตกต่างหลากหลายในวิธีการประเมินมาก
การที่จะบอกว่าการจัดการศึกษาของประเทศใดดี หรือมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใดนั้น จึงมักมีข้อถกเถียงและโต้แย้งอยู่เสมอ
OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งมีประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป ก็ได้จัดให้มีการประเมินคุณภาพของการศึกษาประเทศต่างๆที่เรียกว่า PISA และได้รับการยอมรับอยู่ในระดับสูง
วันนี้เราจะมาสรุปและทำความเข้าใจแบบครบถ้วนและเข้าใจง่าย เกี่ยวกับการประเมิน PISA 2022 กันดังนี้
1) PISA : Programme for International Student Assessment เป็นการประเมินความสามารถของนักเรียนที่อายุ 15 ปี (สำหรับประเทศไทยคือจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี คือสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.3)
1
2) เป็นการประเมินการใช้ความรู้และทักษะ 3 ด้านด้วยกันคือ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการอ่าน
3) OECD จัดให้มีการประเมินทุก 3 ปี เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2000 แต่เนื่องจากมีโควิด-19 จึงทำให้การจัดล่าช้าไปหนึ่งปี
4) เป็นการประเมินนักเรียนกว่า 690,000 คน จาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวแทนนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 29 ล้านคน
5) ประเทศไทยเราได้ดำเนินการจัดสอบหรือประเมินเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 (คศ.2022) มีนักเรียนไทยเข้าร่วม 8495 คน จาก 279 โรงเรียนครอบคลุมโรงเรียนในทุกสังกัดของประเทศไทย
6) สัดส่วนของนักเรียนที่เข้ารับการประเมินนั้น มาจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ) 62% สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ) 19% สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช) 12% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) 6% โรงเรียนสาธิต 1% สังกัดกรุงเทพมหานคร 0.5% และโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ 0.3%
7) การประเมินในครั้งนี้ สัดส่วนข้อสอบจะเน้นทางด้านคณิตศาสตร์ 60% วิทยาศาสตร์ 20% ด้านการอ่าน 20% รวมทั้งได้จัดให้มีการประเมินทางด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย
8) นักเรียนจะเข้าทำการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทั้ง 4 ด้าน รวมใช้เวลา 2 ชั่วโมง แล้วตอบแบบสอบถามอีก 45 นาที ส่วนตัวผู้บริหารโรงเรียนจะทำแบบสอบถาม 45 นาที
9) ผลการประเมิน ประเทศที่ได้อันดับสูงสุด 10 อันดับแรกของโลกได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดาและเนเธอร์แลนด์
10) สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดทั้ง 3 ด้านคือ คณิตศาสตร์ 575 คะแนน(ค่าเฉลี่ย 472 คะแนน) วิทยาศาสตร์ 561 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 485 คะแนน) การอ่าน 543 คะแนน(ค่าเฉลี่ย 476 คะแนน)
11) ผลการประเมินการจัดการศึกษาของไทย ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสามด้านคือ คณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน การอ่าน 379 คะแนน
1
12) เมื่อเปรียบเทียบคะแนนการประเมิน PISA 2 ครั้งล่าสุด ระหว่างปี 2018 / 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านของประเทศต่างๆทั่วโลกลดลงในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ส่วนวิทยาศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง ของประเทศไทยเรานั้นลดลงทั้ง 3 ด้าน
1
13) เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมี 8 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมินนั้น มีสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนที่เหลืออีก 7 ประเทศล้วนแต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้งสิ้น
14) โดยประเทศไทยได้ลำดับที่ 5 จาก 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 3 ด้าน ตามหลังเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และได้คะแนนการประเมินสูงกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาตามลำดับ
1
15) แนวโน้มคะแนน PISA ของนักเรียนไทย ตั้งแต่ปี 2000 2003 2006 2009 2012 2015 2018และ 2022 ได้คะแนนในลักษณะทรงตัวและลดลงเล็กน้อยมาโดยตลอด
16) ที่น่าสนใจมากคือ นักเรียนกลุ่มช้างเผือกที่หมายถึงนักเรียนที่มีฐานะยากจน โดยรายได้ครอบครัวอยู่ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 แต่สามารถทำคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มสูงคือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป ซึ่งค่าเฉลี่ยทั้งโลกจะมีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% แต่ของประเทศไทยมีมากถึง 15% จัดเป็นอันดับ 12 จาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ
5
17) นั่นย่อมหมายความว่า เด็กไทยที่มีฐานะยากจนมีศักยภาพโดยธรรมชาติสูง สามารถที่จะมีผลการเรียนรู้ได้คะแนนดี ทั้งที่ขาดปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆที่มีเหตุจากฐานะยากจนและด้อยโอกาส
5
18) โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ ได้คะแนนคณิตศาสตร์สูงมากถึง 589 คะแนน วิทยาศาสตร์ 581 คะแนน การอ่าน 531 คะแนน ซึ่งสูงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าประเทศสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยกลุ่มโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัย
2
19) ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เป็นกลุ่มที่สังกัด สพฐ. สอศ. รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3
20) มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมาก ระหว่างผลการประเมินของกลุ่มนักเรียนที่สังกัดโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์และสาธิต กับนักเรียนที่สังกัดกับหน่วยงานที่เหลือ โดยในกลุ่มแรกได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ส่วนกลุ่มหลังได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก
1
21) ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรก มักจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมีพลเมืองน้อย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
2
สรุปได้ว่า
1) การประเมินผล PISA ปี 2022 พบว่าความสามารถของนักเรียนในการเรียนรู้ทั่วโลกลดลง น่าจะเกิดจากผลของโควิด-19 ทำให้การจัดการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่
1
2) ประเทศไทยมีคะแนนที่ลดลงเช่นกัน แต่มีนัยสำคัญค่อนข้างมาก
3) ความสามารถของนักเรียนไทยแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยมีกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิตที่ได้คะแนนสูงกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ
2
4) ประเทศไทยมีนักเรียนในกลุ่มช้างเผือกสูงถึง 15% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 10%
1
5) ประเทศที่มีขนาดเล็กและมีพลเมืองน้อย มักจะมีผลการประเมินที่สูง
สำหรับประเทศไทยคงต้องมาพิจารณาว่า ปัจจัยใดหรือประเด็นใดมีความสำคัญมากน้อยกว่ากัน ที่จะส่งผลถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ประเมินด้วยผลของ PISA ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยมาจากตัวคุณครู ตัวนักเรียนเอง หลักสูตร ผู้บริหาร และทรัพยากรการศึกษารวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ผลการประเมินของ PISA ดังกล่าวพอที่จะบอกในเบื้องต้นได้ว่า นักเรียนไทยมีศักยภาพที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนช้างเผือก
1
ถ้ามีการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะได้ผลการศึกษาที่ดี เฉกเช่นเดียวกับนักเรียนในกลุ่มเรียนวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิตได้เช่นกัน
1
โฆษณา