11 ธ.ค. 2023 เวลา 09:06 • ประวัติศาสตร์

เปิดประวัติ“ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์” ผู้แต่งตำรา"แม่ครัวหัวป่าก์"

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390 เป็นธิดาของนายสุดจินดา(พลอย ชูโต) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์(ถัด) มารดาของท่านชื่อนิ่ม เป็นธิดาของพระยาสุรเสน(สวัสดิ์ ชูโต) น้องจมื่นศรีสรรักษ์(ถัด) กับคุณหญิงเปี่ยม ซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ บุนนาค) เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อน ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลกิจการบ้านเรือน และโดยเหตุที่ท่านเป็นสตรีที่ฉลาด มีอุปนิสัยรักความประณีต อีกทั้งมีความคิดริเริ่มที่ดี ท่านจึงได้พากเพียรศึกษา ฝึกฝน และปรับปรุงการประกอบอาหารหวานคาว โดยท่านยังริเริ่มการประดิษฐ์อาหารและขนมให้ดูน่ารับประทาน เช่น การประดิษฐ์"ลูกชุบ" ขึ้นถวายเจ้านาย ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ท่านยังได้รวบรวมและเรียบรวมตำราอาหารหวานคาวทั้งของไทยและของต่างชาติขึ้นไว้ คือตำรา"แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย โดยมีเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตำราอาหารเล่มนี้ยังใช้เป็นแบบอย่างอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ท่านผู้หญิงยังมีฝีมือในการแกะสลักผักและผลไม้ รวมทั้งการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ดอกไม้สด และดอกไม้ขี้ผึ้งอบหอม ส่วนฝีมือในการเย็บปักถักร้อยของท่านก็เป็นเยี่ยมเช่นกัน
งานปักชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงต่างประเทศ คือ งานปักรูปเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานชิ้นสำคัญนี้ได้ร่วมประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก ได้รับเงินรางวัลเป็นมูลค่าหลายพันดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ท่านผู้หญิงเปลี่ยนยังมีผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น และด้วยความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอันนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอีกด้วย กล่าวคือในปี พ.ศ. 2436(ร.ศ. 112) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องพรมแดนที่ฝั่งแม่น้ำโขง ผลของการกระทบกระทั่งกลายเป็นการสู้รบ เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดอ่าว ในการสู้รบครั้งนั้นปรากฏว่ามีราษฎรและทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
เธอได้เล็งเห็นความทุกข์ยากของทหารและราษฎรเหล่านั้น จึงได้ดำริว่า น่าจะมีองค์กรสักองค์กรหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ ดังนั้นท่านจึงได้ชักชวนบรรดาสตรีชั้นสูงทั้งหลายให้มาร่วมมือกันโดยท่านได้นำความกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี(สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงรับเป็น"ชนนีผู้บำรุง" ขององค์การนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรการกุศล เหมือนอย่างประเทศตะวันตกที่เคยมีมาแล้ว จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มสตรีอาสาสมัครนี้ทำการเรี่ยไร ได้เงินทั้งสิ้น 444,728 บาท ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าอันมหาศาลสำหรับสมัยนั้น เงินที่ได้ทั้งหมดนี้ใช้ไปในการซื้อยาเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ โดยส่วนหนึ่งใช้ในการเดินทางไปเยี่ยมเยียน
และช่วยเหลือครอบครัวทหารและพลเรือนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วย ต่อมาจึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสมาคมการกุศลในปี พ.ศ. 2436 โดยพระองค์ทรงพระกรุณาลงพระนามาภิไธยจัดตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์(ปัจจุบันคือ สภากาชาดไทย)
ด้านชีวิตครอบครัว ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ กับหม่อมอิน ตามหลักฐานที่ปรากฏทั้งสองมีบุตรธิดารวม 5 คน คือ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์(เพ่ง) เจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 นายราชาณัตยานุหาร(พาสน์) พัฒน์ ได้เป็นหม่อมของเจ้านายท่านหนึ่ง พวง ได้เป็นภรรยาของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ถึงแก่อนิจกรรม เนื่องจากถูกคนเมาบริเวณกรมอู่ทหารเรือใช้มีดดาบฟันจนเป็นแผลฉกรรจ์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2454 สิริอายุได้ 64 ปี 3 วัน
โฆษณา