15 ธ.ค. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

‘เส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรบริเวณคอคอดกระ’

: เส้นทางที่ ๒. เขมายี้-คลองละอุ่น-ในวง-เขาทะลุ-เขาค่าย-ปากตะโก
จากหนังสือ ‘ข้ามคาบสมุทรในห้วงแห่งสุวรรณภูมิ’
จากบริเวณบ้านเขมาเช่นกัน เดินทางลงทางใต้ตามลำ ‘คลองเขมา’ แล้วมาออก ‘ลำน้ำกระ’ ระยะทางราว ๒๐ กิโลเมตร บริเวณนี้ ‘ลำน้ำกระ’ เริ่มขยายตัวเป็นลำน้ำขนาดใหญ่มากเมื่อใกล้ออกปากทะเล ลงมาตามลำน้ำอีกราว ๖ กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามคือ ‘ปากน้ำละอุ่น’ เข้าไปทาง ‘ลำน้ำละอุ่น’ มีปากน้ำขยายใหญ่แล้วจึงแคบลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าระยะทาง ๑๘-๑๙ กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามลำน้ำละอุ่นเข้าสู่แผ่นดินภายในที่ความสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
จากนั้นเดินทางเลียบคลองละอุ่นต่อมาราว ๑๕ กิโลเมตรจนถึง ‘ปากแพรก’ จากบริเวณนี้มีแพรกน้ำแยกไปทางเหนือเดินทางเลียบลำน้ำไปราว ๕ กิโลเมตร ก็จะผ่านสันปันน้ำเพื่อเดินทางไปอีกราว ๑๐ กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่เรียกว่า ‘เขาค่าย’ ถึงตรงนี้ก็มีแหล่งโบราณคดีที่อยู่ตามเพิงผาถ้ำ ซึ่งมีโบราณวัตถุร่วมสมัยกับยุคสุวรรณภูมิ พบบริเวณเชิงเขาถ้ำหินปูน ในตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพรอีกหลายแห่ง
จากนั้นสามารถเดินทางบกไปยังเทือกเขาหินปูนทางฝั่งตะวันตกของแนวเทือกเขาทะลุ ซึ่งพบร่องรอยของแหล่งโบราณคดีที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีพิธีกรรมฝังศพบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำหลายแห่ง ส่วนบริเวณแนวเขาทะลุนั้นพบร่องรอยบริเวณรอยต่อระหว่างช่องเขาและตามแนวภูเขาหินปูนด้านนอกไปตามแนวเทือกเขาหินปูน เช่นที่เขาค่ายและลำน้ำสาขารวมทั้งลำน้ำสวีอีกหลายแห่งจนถึงบริเวณปากน้ำสวี แหล่งโบราณคดีในกลุ่มดังกล่าวที่อยู่ในพื้นที่อำเภอสวีตามแนวเทือกเขาหินปูนนั้น
พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีอีกหลายแห่ง มีเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าซึ่งพบร่องรอยของการฝังศพที่มีการอุทิศสิ่งของให้ศพที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องกับยุคสมัยสุวรรณภูมิหรือยุคที่มีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว เช่น ที่เขาค่าย ตำบลเขาค่าย ถ้ำเสือ ตำบลเขาค่าย เขาถ้ำห้วยน้ำแดง ตำบลเขาค่าย เขาถ้ำดิน ตำบลเขาทะลุ เขาศาลช้างแล่น ตำบลขุนไกร เขาช่องขุกขัก (เพิงผาฉานทา) ตำบลเขาทะลุ เพิงผาน้ำลอด เขาน้อย เขาถ้ำช่องเขา เขาจุฬา เขาบ้านกลาง เขาโกรบ เขาแครง ตำบลเขาทะลุ เขาหลัก ตำบลเขาหลัก
จากนั้นแหล่งโบราณคดีกลุ่มต่อมาที่เป็นถ้ำเขาหินปูนต่างๆ จะอยู่นอกแนวเทือกเขาค่ายและเขาหลักออกมาตามทุ่งทางฝั่งตะวันออกเรื่อยไปถึงชายฝั่งทะเล ถ้ำเขากริม ตำบลน้ำฉา, ถ้ำน้ำลอด ตำบลทุ่งระยะ, เขาตาพล ตำบลทุ่งระยะ, เขานก เขาตาหมื่นนี ตำบลนาสัก, เขาถ้ำตาชี เขากรม บ้านน้ำฉา, ภูเขาทอง ตำบลทุ่งระยะ และกลุ่มเขาหลักที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในตำบลครน ทั้งหมดนี้อยู่ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร
แนวเทือกเขา ‘เขาค่าย-เขาทะลุ’ เป็นแนวเทือกเขาหินปูนที่มีโพรงถ้ำเป็นแนวเขาสำคัญ เป็นต้นทางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบชายฝั่งน้ำสำหรับเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐาน ส่วนการใช้เพิงผาถ้ำ [Shelter] และถ้ำ [Cave] สำหรับใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะการฝังศพอย่างเห็นได้ชัด
จากข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ที่ขึ้นไปค้นหาโบราณวัตถุที่ ‘ถ้ำตาหมื่นนี’ ในตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กล่าวว่า การฝังศพมีอยู่ด้วยกันสองระยะ โดยการฝังศพระยะแรกจะพบโครงกระดูก ภาชนะที่อุทิศให้แก่ศพไม่มากนักและโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประดับเช่นลูกปัดทำจากเปลือกหอยมือเสือ เปลือกหอยมวนขนาดเล็ก เปลือกหอยเบี้ยที่ตัดผิวด้านบนและลูกปัดทำจากหินสีส้มรูปแบบแตกต่างไปจากหินคาร์นีเลียนที่พบกันในระยะหลัง และเน้นว่าพบภาชนะแบบหม้อสามขาอยู่ในการฝังศพที่ชั้นดินล่างสุด
ชั้นดินด้านบนเป็นการฝังศพที่มีโบราณวัตถุในกลุ่มแบบสุวรรณภูมิอยู่ด้วย เช่น การพบลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ คือ หินอาเกต คาร์นีเลียน ควอทซ์ใสเจียเป็นรูปร่างต่างๆ หินแจสเปอร์สีเขียวทำเป็นเหลี่ยมมุมแบบ ๒๔ เหลี่ยมมุม ลูกปัดสีเดียวแบบอินโด-แปซิฟิค หัวแหวนที่น่าจะทำจากหินอาเกต เศษเครื่องประดับทองคำ และชิ้นส่วนของเครื่องมือเหล็ก และยังมีกำไลวงใหญ่ขนาดเรียวเล็กที่น่าจะมีส่วนผสมของทองแดงเด่นชัด ที่ไม่เคยพบทั่วๆ ไป
นอกจากนี้จากคำบอกเล่ากล่าวว่าแหล่งฝังศพพบบริเวณเพิงผาถ้ำ [Shelter] แต่พื้นที่ด้านบนที่เป็นโพรงถ้ำ [Cave] มีการพบเครื่องประดับพวกลูกปัดต่างๆและเศษเครื่องทอง โดยไม่พบการฝังศพแต่อย่างใด
ย้อนขึ้นไปที่ ‘ต้นน้ำละอุ่น’ จากบริเวณ ‘ปากแพรก’ นี้เอง หากเดินทางเลียบลำน้ำละอุ่นต่อมาทางใต้ราว ๑๐ กิโลเมตร ก็จะเดินทางสู่พื้นที่เนินราบเป็นรูปร่างคล้ายวงกลม และภายในพื้นที่ ‘ตำบลในวง’ มีภูเขาหินปูนลูกโดดอยู่หลายแห่ง เรียกว่า ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
มีถ้ำที่รู้จักกันดีคือ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งพบโบราณวัตถุสำคัญ เช่น ภาชนะมีปุ่มด้านใน [Knobbed Ware] ทำจากดินเผาและถูกหินปูนเคลือบภายนอก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นโบราณวัตถุจากแดนไกลที่กรมศิลปากรให้ความสนใจเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังพบดาบเหล็กขนาดสั้น รูปทรงคล้ายพระขรรค์ ภาชนะแบบขันทำจากสัมฤทธิ์แบบบางน่าจะเป็นลักษณะโลหะประเภทสัดส่วนดีบุกสูง [High Tin Bronze] ลูกปัดทำจากหินกึ่งมีค่าและแก้วรวมทั้งเปลือกหอย ขาภาชนะแบบหม้อสามขา ขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่าขนาดใหญ่และสั้น เศษหินสำหรับบดที่เป็นแท่นหินพบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีแบบทวารวดี ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจโดยนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช พบแหล่งโบราณคดีกว่า ๑๕ แห่งภายในตำบลในวงเหนือและใต้นี้ ซึ่งมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ โดยพบเศษภาชนะ กระดูกสัตว์ และพบลูกปัดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามถ้ำต่างๆ ที่มีการสำรวจเหล่านี้ไม่พบหลักฐานร่องรอยที่มีมากและเด่นชัดว่ามีการใช้พื้นที่ในช่วงเวลายุคสุวรรณภูมิแบบที่ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งบริเวณที่ถ้ำเสือยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีหรือค้นพบว่ามีการฝังศพเพื่ออุทิศสิ่งของเหล่านี้ให้ผู้วายชนม์ในช่วงเวลานี้
แต่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยของผู้คนที่นำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมมาจากแดนไกลทางฝั่งอนุทวีปอินเดีย และทิ้งร่องรอยสำคัญเหล่านี้ไว้ จนทำให้เห็นว่า บริเวณ ‘ถ้ำเสือ’ ที่ตำบลในวง อำเภอละอุ่น เป็นพื้นที่พักแรมหรือเป็นจุดเชื่อมต่อในเส้นทางข้ามคาบสมุทรทางฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. ก่อนประวัติศาสตร์-แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ตำบลในวงเหนือ-ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง, เผยแพร่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
จากถ้ำเสือมีเส้นทางน้ำเดินทางลงสู่นอกหุบเขาอีกราว ๑๖ กิโลเมตร ก็ผ่านสันปันน้ำของบริเวณนี้ถึงบริเวณบ้านทับช้าง ในอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร เดินทางตามลำน้ำตะโกอีกราว ๒๐ กิโลเมตรก็ถึง ‘ปากน้ำตะโก’ ที่มี ‘ถ้ำถ้วย’ ซึ่งน่าจะเป็นที่พักของนักเดินทางก่อนออกสู่ทะเลในระยะราว ๓ กิโลเมตรก็จะถึงปากน้ำ บริเวณนี้เป็นเผิงผาถ้ำหินปูนและพบโบราณวัตถุพวกลูกปัดหินและแก้ว เครื่องถ้วยแบบซ่าหวิงก์-คาลานาย และเศษภาชนะแบบกุดจุดประทับ [Roletted Wares] ซึ่งทั้งแบบภาชนะเต็มใบและแบบเขียนสีแดง จำนวนหนึ่ง
บริเวณนี้หากเดินทางเลียบชายหาดไปจะพบว่ามีแหล่งโบราณคดีแบบเพิงผาถ้ำที่ ‘ถ้ำพลา’ ซึ่งการสำรวจในปัจจุบันไม่พบร่องรอยหลักฐานภายในถ้ำหลงเหลืออยู่ ผู้ดูแลกล่าวว่ากระดูกมนุษย์ที่พบในถ้ำนั้นชาวบ้านนำไปลอยอังคารที่ปากน้ำสิ้นแล้ว นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีที่แนว ‘เขาหลัก’ ตำบลครน อำเภอสวี ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนแนวยาวตั้งในแนวขวางเหนือใต้ห่างจากอ่าวสวีเก่าชายฝั่งทะเลราว ๓-๔ กิโลเมตร
และบริเวณ ‘อ่าวคราม’ ซึ่งอยู่ห่างจาก ‘ปากน้ำตะโก’ ห่างจากกลุ่มเขาหลักราว ๕-๖ กิโลเมตร และผ่านเขาต่างๆ ที่พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคสุวรรณภูมินี้ไปทางด้านเหนือราว ๒๐ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีอยู่ติดเชิงเขาและเป็นพื้นที่ปิดอยู่ระหว่างหุบเขาคือเขาล้านทางฝั่งตะวันตกและเขาข่อคอที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเลโดยมีหินปะการังล้อมรอบ แต่เดิมคือบ้านบ่อคาและบ้านอ่าวค้อก่อนจะเรียกว่าอ่าวคราม
บริเวณริมแนวเขาพบร่องรอยแหล่งโบราณคดีแบบที่พักชั่วคราว พบร่องรอยของลูกปัดจำนวนไม่น้อยและโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง และจากลักษณะพื้นที่ซึ่งมีเทือกเขาล้อมรอบอยู่ทุกด้าน ทำให้เห็นว่าพื้นที่นี้ช่องทางเข้าน่าจะเป็นทางทะเลและเป็นสถานที่หลบลมฝนพายุได้อย่างดีมาก ซึ่งลักษณะการเลือกพื้นที่ของชาวประมงที่อ่าวครามนี้ก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นพื้นที่สงบคลื่นลมและมีที่ราบกว้างเชิงเขาเหมาะสำหรับปลูกเพิงหรือกระท่อมพักแรมสำหรับนักเดินเรือเลียบชายฝั่งได้ดี
ดังนั้นบริเวณถ้ำปากน้ำ เช่น ที่ถ้ำถ้วย ปากน้ำตะโก และอ่าวคราม ก็น่าจะแสดงถึงเป็นที่พักแรมชั่วครามของชาวน้ำ-นักเดินทางเลียบชายฝั่งในกลุ่มออสโตรนีเชียน [Sea Fairers] เป็นการเดินทางของนักเดินทางและพ่อค้าที่ต้องใช้เครือข่ายระบบการเดินทางจากป่าเขาที่สูง ซึ่งแน่นอนต้องเดินทางด้วยพาหนะเช่น ‘ช้าง’ ซึ่งในบริเวณจังหวัดชุมพรในป่าเขาไปจนถึงจังหวัดระนอง การใช้ ‘ช้าง’ เพื่อเดินทางข้ามคาบสมุทรและเดินทางในป่าเขาริมลำน้ำ นอกจากเรือขุดจากซุงในตามลำน้ำแล้วก็ต้องใช้ ‘ช้าง’ ในการเดินทางเป็นหลัก
และจากบริเวณ ‘ถ้ำถ้วย’ ที่อยู่ทางฝั่งขวาของปากน้ำตะโกและอยู่ห่างจากแนวลำน้ำตะโกราว ๑๐๐-๒๐๐ เมตร จึงเป็นสถานที่หลบลม พายุ ฝนได้เป็นอย่างดี และสามารถค้างแรมเป็นที่พักอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนานต่อวงรอบปี และมีการฝังศพในบริเวณเพิงผาถ้ำ ทั้ง ‘ถ้ำถ้วยและถ้ำพลา’ ซึ่งเป็นเพิงผาถ้ำที่อยู่ห่างออกไปอีกฝั่งของลำน้ำตะโกราวไปทางเหนือห่างจากแนวถ้ำถ้วยราว ๔.๕-๕ กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการพบลูกปัดอีกจำนวนมาก และภาชนะดินเผาลายคดโค้งแบบซ่าหวิงก์-คาลานายรวมทั้งแบบกดจุดแบบอินเดีย
ทั้งหมดอาจจะเป็นผู้เดินทางเลียบชายฝั่งที่เป็นชาวน้ำผู้ชำนาญการการเดินทางที่เป็นผู้ประกอบการเดินทางขนส่งสิ่งของล้ำค่าเหล่านี้เลียบชายฝั่ง เพราะจาก ‘ปากน้ำตะโก’ สามารถใช้เรือเดินทางเลียบชายฝั่งขึ้นเหนือหรือลงใต้ได้ทั้งสองทิศทาง ทางเหนือไปยังปากน้ำท่าตะเภาอีกราว ๕๐ กิโลเมตร ถึงปากน้ำท่าตะเภาสู่เขาสามแก้ว ส่วนทางใต้เข้าปากน้ำหลังสวนอีกราว ๑๗ กิโลเมตรก็เดินทางเข้าสู่ลำน้ำหลังสวนสู่เขาเสก หรือจะเดินทางออกไปยังน่านน้ำทะเลนอกเพื่อไปยังทิศทางต่างๆ ที่ต้องการได้ตามเหมาะสม...
จากหนังสือ ‘ข้ามคาบสมุทรในห้วงแห่งสุวรรณภูมิ’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
.
ท่านผู้สนใจสั่งซื้อทางอินบอกซ์เพจสยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ ได้ตามลิงค์ค่ะ ... https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02nZ1HgQqupfduUFWsnfnrG3jgzNqks43qiBQt9DX6aNpiM5BL71B5GbPBraPc1YVGl&id=100072360480833
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web : https://siamdesa.org
โฆษณา