15 ธ.ค. 2023 เวลา 13:13 • ความคิดเห็น

“เด็กกระทำผิด.. ควรให้ผู้ใหญ่รับโทษมั้ย..”

ช่วงนี้มีข่าว นักมวยคนดัง พาเด็กอายุ 17 ปี เข้าโรงแรม..
ข้อเท็จจริงในคดีจะเป็นอย่างไง.. ใครผิด ใครถูก.. ไปว่ากันให้ยุติในศาลนะครับ..
แต่เห็นว่า การที่สังคมได้รับรู้กฎหมาย แนวคิดที่เกี่ยวข้อง จะเป็นประโยชน์ จะเข้าใจอะไร ๆ มากขึ้น.. เลยเขียนโพสต์นี้ขึ้นมา..
หัวข้อที่โพสต์ ไม่ได้หมายถึง ความรับผิดทางแพ่งของผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ แต่ปล่อยปละละเลยให้เด็กไปทำละเมิด ซึ่งกฎหมายให้ผู้ใหญ่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายนะครับ..
แต่หมายถึง ความรับผิดทางอาญาที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก.. ในกรณีที่เด็กมีส่วนรับผิดด้วย..
 
เช่น เด็กที่ค้าบริการทางเพศ ยอมร่วมประเวณีกับแขก..
แนวคิดในเรื่อง สิทธิเด็กมีว่า..
“เด็ก คือ บุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี ควรได้รับความคุ้มครอง.. ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสม..”
ตามพรบ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546.. เด็กบางคนควรได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ และได้รับการสงเคราะห์.. ในกรณีที่สมควร ต้องให้เด็กเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู..
เช่น เด็กที่เสี่ยงทำผิด.. ประพฤติไม่สมควร.. ประกอบอาชีพทำนองผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม.. ซื้อขายบริการทางเพศ..
เจ้าหน้าที่ของรัฐ (กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ).. มีหน้าที่จัดให้เด็กนั้นได้รับการดูแล แก้ไข ฟื้นฟู..
กฎหมายนี้ เป็นเรื่อง การดำเนินการกับเด็กที่กระทำผิด..
ในแง่กฎหมายอาญา.. เด็กกระทำผิด ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ.. แต่ต้องถูกดำเนินการตามพรบ คุ้มครองเด็ก..
ส่วนเด็กที่อายุเกิน 12 - 18 ปี มีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่กระทำผิด.. และกฎหมายให้ศาลเยาวชน ลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูเด็กนั้น..
ประมวลกฎหมายอาญา บางมาตรา มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กเกี่ยวกับเพศ.. เพื่อมิให้บุคคลใดแสวงหาประโยชน์ในทางเพศกับเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถตัดสินใจใช้เสรีภาพในการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น..
นั่นคือ กฎหมายกำหนดว่า เด็กอายุไม่เกิน 15 ปียินยอมให้ผู้อื่นร่วมประเวณี.. แม้เด็กนั้นสมัครใจ..
บุคคลที่กระทำชำเรากับเด็ก ก็ยังมีความผิด ฐานกระทำชำเราเด็ก.. (statutory rape).. มีโทษจำคุกอย่างต่ำ 5 ปี..
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ..
1) ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ เป็นการกระทำต่ออำนาจปกครองเด็ก.. เด็กไม่ใช่ผู้เสียหาย.. แต่ผู้ปกครองเด็กนั้น เป็นผู้เสียหาย..
2. ถ้าเด็กอายุเกิน 15 ปี สมัครใจกระทำชำเรากับผู้อื่น.. ผู้อื่นนั้นไม่มีความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก.. เพราะเด็กอายุเกิน 15 ปีแล้ว..
ผู้อื่นนั้น ไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เพราะเด็กนั้นสมัครใจมีเพศสัมพันธ์ุ ไม่ใช่การบังคับ ข่มขืนใจ..
แต่บุคคลอื่นนั้น อาจมีความผิดฐานพรากโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย เพื่อการอนาจาร (มีโทษจำคุกอย่างต่ำ 2 ปี) หรือความผิดอื่นๆได้..
3. ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี สมัครใจให้ผู้อื่นกระทำชำเรา.. ผู้อื่นนั้นมีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี.. มีโทษจำคุกอย่างต่ำ 7 ปี..
4. กรณีเด็กอายุเกินกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี.. สมัครใจให้ผู้อื่นกระทำชำเรา..
ผู้อื่นนั้น มีสิทธิให้การต่อสู้ในคดีได้ว่า ไม่มีเจตนากระทำชำเราเด็ก เพราะไม่รู้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถ้าศาลเชื่อ ก็อาจตัดสินยกฟ้องได้ เพราะเขาไม่มีเจตนาชั่วร้าย..
5. แต่ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี สมัครใจให้ผู้อื่นกระทำชำเรา.. ผู้กระทำจะต่อสู้คดีในศาล โดยอ้างว่า ขาดเจตนา ไม่รู้ว่าเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ได้..
เช่น เด็กที่ค้าบริการ ใช้บัตรปลอม เพื่อหลอกผู้ใช้บริการว่า ตนไม่ใช่เด็กที่กฎหมายคุ้มครองแล้ว สมัครใจมีเพศสัมพันธุ์ด้วยแล้ว ไม่มีความผิด..
บุคคลนั้น จะสืบพยานต่อสู้ว่า ไม่รู้อายุ ไม่มีเจตนากระทำชำเราเด็ก ไม่ได้.. กฎหมายปิดปาก ไม่มีสิทธิต่อสู้คดี ต้องรับโทษ..
แนวคิดที่น่าสนใจก็คือ..
พรบ คุ้มครองเด็ก เป็นกฎหมายที่ดีมาก.. มีมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงเด็กที่กระทำผิด ได้อย่างเหมาะสม แทนการลงโทษ..
แต่น่าเสียดาย ที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ค่อยนำกฎหมายนี้มาใช้.. ในต่างจังหวัดมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กประจำทุกจังหวัด แต่กลับไม่มีการทำงานเชิงรุก..
ผลก็คือ เด็กที่เสี่ยง กระทำผิด เช่น ค้าบริการทางเพศ กลับไม่ได้รับการลงโทษ หรือปรับปรุงแก้ไข..
ในทางตรงข้าม สังคมให้ความสนใจ ผู้ใหญ่ที่กระทำผิดต่อเด็กมากกว่า โดยมองว่า สมควรได้รับโทษอย่างรุนแรง..
ผลก็คือ ผู้ใหญ่ที่กระทำผิดต่อเด็ก.. ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นเด็กดี หรือเป็นเด็กที่มีส่วนผิด เช่น ค้าบริการทางเพศเป็นปกติ.. มักจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง.. ด้วยความเชื่อเอาเองว่า จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้..
ผู้เขียนมีข้อสังเกต ในปัญหานี้ 2 ข้อ..
1) ทฤษฎีการลงโทษ (proportionality theory) มีว่า.. การลงโทษที่เป็นธรรมต่อผู้กระทำผิด และจะมีผลให้เขาไม่กระทำผิดซ้ำนั้น..
“เขาจะต้องได้รับโทษที่ได้สัดส่วน เหมาะสมกับความร้ายแรง หรือความชั่วร้ายในใจเขา..”
การลงโทษ บุคคลที่กระทำชำเราเด็ก.. อาจมีความแตกต่างกันในข้อเท็จจริง ที่สะท้อนความชั่วร้ายในใจ. . และผลร้ายที่เกิดขึ้น.. การลงโทษหนักเบา จึงต้องแตกต่างกันตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดี..
แม้เป็นความผิดเดียวกัน แต่โทษควรหนักเบาแตกต่างกัน ตามข้อเท็จจริง จึงเรียกว่า เป็นการลงโทษที่เหมาะสมตามทฤษฎีการลงโทษ..ที่เป็นธรรม..
เช่น เด็กเป็นเหยื่อโดยบริสุทธิ์ ไม่มีส่วนกระตุ้น เกี่ยวข้องให้เกิดการกระทำต่อตัวเอง แต่ถูกยั่วยุ ล่อให้สมัครใจ ด้วยความอ่อนด้อยในประสบการณ์ชีวิต.. แบบนี้ ผู้กระทำต้องมีความชั่วร้ายในใจมาก ผลร้ายเกิดขึ้นรุนแรง.. เขาควรต้องรับโทษหนัก..
แต่หากเด็กเป็นฝ่ายยั่วยุ มีประสบการณ์ทางโลก หรือมีส่วนร่วมในการกระทำ ให้บริการทางเพศเป็นอาชีพ.. แบบนี้ ความเสียหายไม่ร้ายแรง.. หรือผู้กระทำไม่ได้มีความชั่วร้ายในใจ เพราะไม่รู้อายุว่าเป็นเด็กต่ำกว่าเกณฑ์.. แบบนี้ เขาไม่สมควรรับโทษหนักเท่ากรณีแรก..
2) ราว 30 ปีก่อน.. ผู้เขียนไปเรียนกฎหมายที่เมือง Austin ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมลรัฐเท็กซัส..
ในขณะที่ประเทศไทยตอนนั้น.. ภาพยนต์จอเงิน และจอแก้ว มีบท love scene แสดงบทรักบนเตียง อย่างชัดเจน นัยว่า เพื่อให้สมจริง กอปรกับเป็นสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่จะได้ชมภาพเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่.. เท่าเทียมกัน..
แต่ภาพยนต์ทีวีในเมืองหลวง ดินแดนแห่งเสรีภาพนั้น กลับแบน ฉากรักทั้งหมด แม้การกอดจูบก็ไม่มีให้เห็น..
ในเมือง รัฐอนุญาตให้มีร้านขายเหล้า มีผับบาร์ เปิดให้บริการเฉพาะ บนถนนสายที่ 6 เพียงสายเดียว..
วันหนึ่ง ผู้เขียนเคยเดินหลงทางไปแถวนั้น.. ต้องประหลาดใจ เมื่อเห็นป้ายจราจร ปักอยู่ ตรงทางเข้าถนนสายที่ 6..
มีรูปเด็ก.. ภายในวงกลม.. มีขีดทาบ เป็นเครื่องหมายห้าม.. พร้อมเขียนว่า..
“ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาในถนนสายนี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลา 06.00 น.”
เห็นแล้ว ชื่นชม ปนระคนสะท้อนใจครับ..
ไทยเราเลียนแบบ แนวคิดเขามาเยอะ.. เอาอย่างวิธีการของเขามาก็มาก..
มีถูกบ้าง ผิดบ้าง.. เพราะบางที เราเอาอย่างสิ่งที่เห็นเขาทำ โดยไม่เข้าใจสาเหตุหรือความคิด อันเป็นที่มาของการกระทำของเขา.. อันนี้ไม่ว่ากันนะ..
อยากเห็นกฎหมายแบบนี้ มาใช้ในบ้านเราบ้างครับ..
ไม่ใช่แต่ลงโทษผู้ใหญ่.. แต่เขาลงโทษให้เด็กที่ทำผิด ได้เรียนรู้ผลการกระทำ และมีวินัยในเด็กด้วย..
หากเราดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อเด็กอย่างเข้มงวด.. ลงโทษเขาอย่างเป็นธรรม คือ ให้เหมาะสมได้สัดส่วนกับความชั่วร้ายและผลเสียที่เกิดขึ้น..
น่าจะลดการกระทำผิดต่อเด็กลงได้..
พร้อมกันนั้น หากเราดำเนินการกับเด็กที่ไม่ใช่เหยื่อโดยบริสุทธิ์ด้วย.. ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก.. ให้เขาได้สำนึก แก้ไขฟื้นฟู ปรับพฤติกรรม.. เลิกทำสิ่งที่ไม่สมควรได้..
พ่อแม่ที่ละเลย จนเด็กกระทำผิด หรือทำให้เขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยง.. ก็มีโทษตามกฎหมายนี้ด้วยนะ..
การใช้กฎหมายที่เรามีอยู่อย่างจริงจัง และเหมาะสม.. ทั้งด้านผู้กระทำผิด และด้านเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความผิด..
การใช้กฎหมายที่เรามีอยู่ทั้งหมด อย่างครอบคลุม.. และตามหลักการ ทฤษฎีที่ถูกต้อง..
น่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้..
มากกว่าการเน้นใช้บังคับกฎหมายตามกระแส.. ตามความรู้สึก.. หรือใช้กฎหมายเพียงด้านเดียวนะครับ..
-ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค-
โฆษณา