1 ม.ค. เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

จากแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย สู่วันที่ 1 มกราคม

เมื่อกล่าวถึงปีใหม่ มีหลายสิ่งต่าง ๆ มากมายด้วยกันที่ทุกท่านนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นกาได้ร่วมเฉลิมฉลอง พบปะสังสรรค์กัน การยึดถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการประกอบกิจต่าง ๆ ที่ดีงามและเป็นประโยชน์ รวมถึงการได้หยุดพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี
โดยปกติหากยึดตามปฏิทินแล้ว วันปีใหม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ให้เป็นวันหยุดของทุกปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ เมื่อย้อนกลับไปถึงวันปีใหม่ของไทยแล้วก็จะพบว่า 1 มกราคม คงยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะในวันปีใหม่ของไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอยู่ครั้ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความเหมาะสมบางประการ
  • วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย
เริ่มจากการที่ไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยอาศัยเหตุแห่งการนับเดือนที่เริ่มตั้งแต่เดือนอ้าย เดือนยี่ไล่ไปตามลำดับ หรือการนับวันเดือนปีของไทยตามแบบจันทรคติ ขณะเดียวกัน ได้อาศัยเหตุแห่งสภาพอากาศของไทยเป็นสำคัญ หากว่านับเดือนอ้าย ตามเดือนแบบอย่างในปัจจุบันแล้ว ก็จะตรงกับช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม อันเป็นเวลาปลายฝนต้นหนาว ต้องกับคติทางพระพุทธศาสนาที่ถือเอาฤดูหนาว หรือเหมันตฤดู เป็นเวลาการเริ่มต้นแห่งปี
  • วันตรุษสงกรานต์
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันตรุษสงกรานต์ ซึ่งไม่ใช่วันเดียวกัน โดยคำว่า “ตรุษ” แปลว่าตัด ขาด หมายถึงกําหนดให้เป็นวันสิ้นปี กําหนดเอาตามจันทรคติ คือถือเอาวันแรม 12 ค่ํา และ 15 ค่ํา เดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า ส่วน “สงกรานต์” แปลว่าเคลื่อนที่ หมายถึงการที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีใหม่ และวันขึ้น 1 ค่ําเดือน 5 ถือเป็นวันต้นปีใหม่ กําหนดเอาตามสุริยคติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน
ซึ่งคติเกี่ยวกับสงกรานต์นี้ ไทยได้รับมาจากทางศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ของอินเดีย ที่ถือเอาเดือนจิตรมาส หรือเดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือวสันตฤดู อันเป็นเวลาที่พืชพรรณต่าง ๆ ผลิดอกออกผลสวยงาม และมีอากาศร่มรื่น
แต่ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นสังคมเกษตรกรรมก็ตาม แต่ก็ไม่มีฤดูใบไม้ผลิ จึงต้องเลื่อนวันปีใหม่ออกไปอยู่ในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคม หรือเมษายน เพราะหากไปอยู่ในเดือนอ้าย จะตรงกับช่วงต้นของการเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงไม่เหมาะแก่การสนุกรื่นเริงต่าง ๆ แม้แต่ปีใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ทั่วทุกพระโกศ ในพระราชพิธีสงกรานต์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566 (ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)
  • วันที่ 1 เมษายน
จนมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริถึงความสับสนที่เกิดขึ้น ประกอบกับสมัยนั้น ไทยได้มีการติดต่อกับนานาประเทศมากขึ้น จึงทำให้การคำนวณ หรือใช้ปฏิทินแบบจันทรคติไม่มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ จึงได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนมาเป็นการคำนวณ หรือใช้ปฏิทินตามสุริยคติแบบปฏิทินเกรโกเรียนตามธรรมเนียมสากลแทน โดยใช้การโคจรของพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ พร้อมกับกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน และในแต่ละเดือนมี 28–31 วัน
แล้วก็โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แต่ครั้งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง เป็นผู้ตั้งชื่อเดือนต่าง ๆ ที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน พร้อมกับกำหนดให้เดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี จนมาถึงเดือนสุดท้ายของปี คือเดือนมีนาคม เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432
(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ (ภาพ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี) (ขวา) เทวประติทิน พระพุทธศักราช 2462 (ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม)
  • วันที่ 1 มกราคม
ต่อมาสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำการศึกษา พร้อมกับเสนอร่าง และออกประกาศใช้ “พระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พุทธศักราช 2483” ด้วยมูลเหตุที่ว่า วันขึ้นปีใหม่ของไทยไม่มีความเหมาะสมกับกาลสมัย ประกอบกับเพื่อการดำเนินด้านการเงินและภาษีของประเทศโดยราบรื่น รวมถึงการนับอายุของบุคคล ส่งผลให้ปีปฏิทินของไทยมีการกำหนดระยะเวลาอยู่ที่ 12 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม
เพราะฉะนั้น วันขึ้นปีใหม่จึงตรงกับวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2484
เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 แล้ว เป็นอันว่า วันปีใหม่ในประเทศไทย จึงตรงกับวันที่ 1 มกราคม อันสอดคล้องต้องกับปฏิทินสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก แล้วเป็นเช่นนั้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้
หน้าปกของพระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 (ภาพ : ราชกิจจานุเบกษา)
จะเห็นได้ว่า วันขึ้นปีใหม่หรือวันปีใหม่ที่เราทั้งหลายเรียกขาน เป็นสิ่งที่มนุษย์เรานั้นได้สมมุติปรุงแต่งขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องระลึกเตือนใจอย่างหนึ่งว่า ขณะนี้ชีวิตของเราได้ล่วงไปเป็นอีกปีหนึ่งแล้ว เราได้ทำคุณประโยชน์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้างแล้วหรือยัง หากว่ายังก็ควรที่จะรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ไป อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้มันช่างหาสิ่งใดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยสักอย่างเดียว ดังพุทธภาษิตที่ว่า
ขโณ โว มา อุปจฺจคา.
อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์
การแสดงพลุรักษ์โลก ทำจากข้าวเหนียวกว่า 30,000 ดอก ในงาน “Amazing Thailand Countdown 2022” ณ ไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 (ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)
ด้วยประการฉะนี้...
อ้างอิง :
#AdminField
โฆษณา