20 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00

5 วิธีทำ bucket list เป้าหมายชีวิตในปีใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง!

ใครๆ ก็มี “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่แอบจดบันทึกไว้ว่าในชีวิตฉันจะต้องทำบางอย่างให้ได้ก่อนจากโลกนี้ไปอยู่ในอ้อมอกธรรมชาติ บางความปรารถนาก็เป็นเรื่องแสนเรียบง่าย แต่บางอย่างนั้นต้องใช้ทั้งความพยายามของแรงกายและแรงเงินพอสมควร แต่ไหนๆ ก็ค้นพบสิ่งอยากทำแล้ว อย่าล้มเลิกหรือหลงลืมความฝัน หากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เดือดร้อนใคร เพราะการตั้ง Bucket List ให้ตัวเองนั้น ในทางจิตวิทยาคือการหยอดความทะเยอทะยาน เป็นเหมือนการให้รางวัลเป็นกำลังใจให้ตัวเอง และยังสอนให้เรารู้จักลงมือทำอะไรอย่างมีเป้าหมายชัดเจนด้วย
1. วางไทม์ไลน์ให้ชัดเจน
เป็นการกำชับตัวเองให้ซื่อตรงต่อเป้าหมายที่วางไว้ เพราะบางความปรารถนาอาจเหมาะสมที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น เป้าหมายการเดินทางแบบสะพายเป้แบ็คแพ็ค ที่อาจต้องทำในวัยที่เรายังมีเรี่ยวแรงและความคิดสดใหม่พอจะเปิดรับโลกกว้าง หรือหากมีความต้องการในเชิงวัตถุที่ต้องใช้ทุนทรัพย์เพื่อให้ได้มา จะได้เริ่มการสะสมเก็บออมอย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อให้ฝันเป็นจริง เช่น ฝันเปิดร้านเบเกอรีให้ได้ภายในอายุสามสิบปี เป็นต้น
2. อย่าละเลย “ระหว่างทาง” สู่เป้าหมาย
แม้จะอยู่ในช่วงเตรียมตัวเพื่อทำความปรารถนาในชีวิตให้เป็นจริง แต่อย่าลืมละเลียดรับประสบการณ์ที่เราสั่งสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น และทำให้การเดิน “ระหว่างทาง” มีคุณค่าไม่แพ้ตัวเส้นชัย เช่น หากคุณฝันจะสอบใบอนุญาตดำน้ำแบบมืออาชีพให้ได้ ก็อย่ามัวแต่ฝึกซ้อมจนเคร่งเครียด แต่ให้สนุกกับการเรียนและการเก็บเกี่ยวประสบการณ์แต่ละครั้ง ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่ค้นพบระหว่างฝึกซ้อม และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ร่วมเรียน
หรือหากคุณมุ่งมั่นจะเปิดร้านอาหารในฝัน แต่หากระหว่างทางนั้น ได้เป็นผู้แบ่งปันช่วยฝึกสอนทักษะให้กับคนอื่น ก็อาจยิ่งทำให้เราเดินหน้าสู่เป้าหมายตัวเองแบบอิ่มเอมใจมากขึ้น
1
3. อยู่กับความเป็นจริง ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์
ถึงแม้จะยึดมั่นในการเช็คลิสต์ความต้องการของตัวเอง แต่ต้องอย่าลืมว่าบริบทรอบตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในโลกที่มีความพลิกผันแปรเปลี่ยน มีปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นรายวัน ดังนั้น ไม่ควรยึดติดจนเกินไปหากเป้าหมายของเราเข้าข่ายจะต้องใช้พลังงานมหาศาลมากกว่าปกติ หรือต้องฝืนต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดขึ้นจริง
เช่น หากเรายังอยากเดินทางทั่วยุโรป แต่เมื่อยังมีความไม่แน่นอนจากโรคระบาด ก็อาจพักแผนหรือปรับเปลี่ยนเป็นการจำกัดขอบเขตไปยังประเทศที่มั่นใจ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสงคราม ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือกระทั่งหากพบว่า มีค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น ก็ต้องรู้จักลดทอนเพื่อไม่ให้ความฝันนั้นกลายมาเป็นความเดือดร้อนของตัวเองในภายหลัง
4. ควบคุมงบประมาณให้สอดคล้องกับชีวิตจริง
1
หนึ่งในฝันของใครหลายคนคือการได้ไปท่องเที่ยว ได้กินอยู่ หรือสัมผัสประสบการณ์สุดหรู ประเภทครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งโดยมากก็มักจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล อาทิ การขึ้นบอลลูนชมพระอาทิตย์ขึ้น นั่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวชมทิวทัศน์กลางคืน หรือดูคอนเสิร์ตของนักร้องระดับโลกที่ชื่นชอบ ความปรารถนาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจกลายเป็นความพลาดพลั้งอย่างมหันต์ หากทุ่มสุดตัวโดยไม่เผื่อเหลือใช้จ่ายในวันข้างหน้า หรือถึงกับต้องไปกู้ยืมมาเพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง
1
เพราะเราควรตระหนักไว้ว่าหากการทำ Bucket List ของเราจัดอยู่ในหมวดหมู่ความฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐาน ก็ควรเกิดขึ้นจากงบประมาณที่เราตระเตรียมไว้เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนชีวิตประจำวันในภายหลัง
1
5. เฉลิมฉลองและแบ่งปันกับผู้อื่น
แม้ว่าการขีดฆ่า Bucket List สำเร็จ จะถือเป็นความภูมิใจส่วนตัว แต่จะดีไม่น้อยหากเราได้ฉลองความสำเร็จเหล่านั้นและแบ่งปันกับผู้อื่น ซึ่งมันอาจช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น และทำให้เรามีกำลังใจฟูฟ่องในการทำสิ่งดีๆ เรื่องอื่น เช่น หากประสบความสำเร็จในการลองไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครกับทีมแพทย์อาสาในถิ่นทุรกันดาร ลองนำเรื่องราวเหล่านั้นมาบอกเล่า ถ่ายทอดแง่คิดดีๆ ที่เราได้รับ เพื่อชักชวนให้คนอื่นสานต่อความฝัน และกลายเป็นการสร้างโอกาสช่วยเหลือคนเพิ่มเติมได้อีก
สุดท้ายต้องอย่าลืมว่าความปรารถนาของคุณนั้น ไม่ควรตั้งไว้อย่างเลื่อนลอยแต่ควรเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ ไม่ควรยาวยืดเยื้อเป็นหางว่าวจนในที่สุดเราจะเสียกำลังใจเองเมื่อทำไม่สำเร็จ และที่สำคัญคือต้อง “เริ่มตั้งแต่วันนี้” เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตและโลกนี้ในอนาคตบ้าง
2
โฆษณา