22 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ข่าวรอบโลก

ไทย-ฮ่องกง ใช้ QR สแกนจ่าย กระตุ้นท่องเที่ยวและเสริมแกร่ง MSMEs

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางของไทยและฮ่องกงได้ร่วมกันเปิดบริการใหม่ คือ การชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศสามารถทำการชำระเงินแบบรายย่อยผ่านแอปพลิเคชันการชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือได้
จากการเชื่อมโยงดังกล่าว ลูกค้าที่ใช้ระบบโอนเงินทันทีของฮ่องกง Faster Payment System (FPS) และระบบ ‘พร้อมเพย์’ ของไทยสามารถใช้ QR ชำระเงินกับร้านค้าในแต่ละประเทศได้ โดยนักท่องเที่ยวไทยในฮ่องกงสามารถใช้ ‘พร้อมเพย์’ ได้กับร้านค้าของ FPS กว่า 50,000 แห่งในฮ่องกง ขณะที่ นักท่องเที่ยวฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชัน FPS ได้กับร้านค้าของ ‘พร้อมเพย์’ จำนวนกว่า 1 ล้านแห่งในไทยซึ่งผู้ขายจะได้รับเงินทันที
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวฮ่องกงสามารถชำระเงินได้สูงสุดที่ราว 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 1,279 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวัน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยสามารถใช้จ่ายได้สูงสุด 500,000 บาท หรือประมาณ 14,149 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
การชำระเงินผ่าน QR ช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวในไทย
ระบบการชำระเงินแบบไร้รอยต่อนี้ถูกมองว่าสามารถช่วยประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงและจีนให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ ประกอบกับรัฐบาลไทยได้ออกโครงการยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567
ซึ่งตลอด 5 เดือนนี้ นักท่องเที่ยวสามารถพำนักได้นานถึง 30 วัน ด้วยรัฐบาลมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้ราว 5 ล้านคนภายในสิ้นปี 2566 แต่ถ้าไม่มีการยกเว้นวีซ่าก็คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาราว 3.4 ล้าน คนในปีนี้หรือคิดเป็น 31% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562
การท่องเที่ยวนับว่าเป็นตัวหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19 ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยประมาณ 24.5 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 25 ล้านคน แต่เมื่อเทียบกับปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยประมาณ 40 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 18-20% ของ GDP
การชำระเงินผ่าน QR ช่วยเสริมแกร่ง MSMEs ไทย
QR code สามารถส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSMEs) นำการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs ส่วนมากอยู่นอกระบบ หรือยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (unbanked) หรือใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน (underbanked) ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจำนวนครึ่งหนึ่งยังคงเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และอีกราว 18% ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนสถานการณ์ของภูมิภาคที่ราว 50% ของประชากร หรือประมาณ 300 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและอีกประมาณ 24% ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน โดยการเข้าถึงบริการทางการเงินมีความแตกต่างกันออกไปใน
แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเข้าถึงบริการทางการเงินมากที่สุดในโลก ขณะที่ 70% ของประชากรของเวียดนามยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ส่วนของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่ที่ 65% และ 50% ตามลำดับ
กลุ่มอาเซียนมุ่งที่จะสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อในหมู่ประเทศสมาชิกภายใต้กรอบนโยบายระบบการชำระเงินอาเซียนด้วยการทำให้โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสอดคล้องกันและทันสมัยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี MSMEs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรูปแบบธุรกิจที่ไม่เข้ากันกับคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารและสถานบันทางการเงินอื่น ๆ เช่น เงื่อนไขการชำระเงินสำหรับโครงการเงินกู้ รูปแบบของหลักประกันและคุณภาพความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ Peer-to-peer (P2P) lending หรือธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหนึ่งโมเดลทางการเงินที่มีศักยภาพที่จะให้บริการกลุ่มประชากรของภูมิภาคที่ยังเข้าไม่ถึงทางการเงินและใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน
โฆษณา