22 ธ.ค. 2023 เวลา 22:37 • ศิลปะ & ออกแบบ

“โอลิมเปีย”: โสเภณี? ผู้กล้าหาญ (เอดัวร์ มาเนต์)

Olympia, 1863, Edouard Manet
Édouard Manet, Olympia, 1863, oil on canvas, 130 x 190 cm (Musée d’Orsay, Paris)
“โอลิมเปีย” นำเสนอภาพผู้หญิงเปลือยเอนกายอยู่บนเก้าอี้ยาวอย่างมั่นใจ เก้าอี้ยาวปูด้วยผ้าปูที่นอนสีขาว และผ้าคลุมไหล่สไตล์ตะวันออกสีครีม มีแมวดำตัวเล็ก ๆ อยู่ที่เท้าของเธอ และมีคนรับใช้หญิงผิวดำถือช่อดอกไม้อยู่ข้างหลัง เธอไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าอะไรเลย เพียงแต่ผูกริบบิ้นสีดำรอบคอ สวมสร้อยข้อมือทองคำ สวมรองเท้าแตะอันหรูหรา และติดดอกไม้ผ้าไหมบนผมสีน้ำตาลที่รวบไปด้านหลัง
แน่นอนว่าเครื่องประดับเหล่านั้นล้วนเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ร่ำรวย และราคะ ยิ่งไปกว่านั้นโอลิมเปียยังจ้องมองตรงมาที่ผู้ชมอย่างไม่สะทกสะท้าน ครั้งที่ผลงานนี้ได้จัดแสดงก็ได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ชมอย่างมาก เพราะโอลิมเปียแตกต่างจากนิยามความงามที่นิยมกันในสมัยนั้น
จริงอยู่ที่ว่าภาพเปลือยของสตรีถูกวาดมานานนับร้อยปีก่อนหน้านี้ แต่ภาพเปลือยของสตรีเหล่านั้นเช่นในยุคเรอเนซองส์มักจะวาดขึ้นโดยมีคติที่ว่าร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งที่แสดงความงดงามแต่จะต้องเป็นภาพที่สื่อความงามอันสูงส่งพอที่จะยกระดับความคิด และจิตใจของผู้ชมซึ่งส่วนมากล้วนเป็นภาพนางในนิทานปกรณัมของกรีก-โรมัน ไม่ใช่หญิงโสเภณีที่นอนเปลือยกายอยู่บนเตียง
A close-up of Olympia (1863) by Édouard Manet; Édouard Manet, Public domain, via Wikimedia Commons
มาเนต์จัดวางภาพให้มีสีที่อ่อนตัดกับเข้มอย่างเห็นได้ชัด สีผิวที่ขาวกระจ่างใสของโอลิมเปียนั้นเจิดจ้าราวกับเป็นการจัดแสงไฟในสตูดิโอ ตัดกับพื้นหลังที่มืดเกือบจะสนิท อีกทั้งสีผิวของสาวใช้ และแมวดำ ก็กลืนไปกับฉากหลังจนแทบจะแยกไม่ออก
ด้วยค่าสีที่ต่างกันอย่างชัดเจนนี้ทำให้เราแทบจะไม่รู้สึกถึงความลึกในองค์ประกอบภาพนี้เลย มาเนต์ยังวาดภาพนี้ด้วยฝีแปรงที่ค่อนข้างไม่ละเอียดนัก ไม่ได้ถูกต้องตามการลงสีที่ละเอียดปราณีตตามความนิยมในสมัยนั้นอีกด้วย
มาเนต์ได้รับเเรงบันดาลใจจากภาพวาดที่มีชื่อเสียงในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อย่างภาพ “วีนัสแห่งเออร์บิโน (Venus of Urbino)” วาดขึ้นในปี 1538 โดย ทิเชียน (Titian) ศิลปินยุคเรอเนซองส์ชาวเวนิส
แต่ดูเหมือนว่าภาพโอลิมเปียนี้ไม่ได้วาดเพื่อเคารพหรือเชิดชูต้นแบบแต่อย่างใด แต่เป็นการเสียดสีดังที่เราจะเห็นถึงความแตกต่างมากมายในวิธีที่ศิลปินทั้งสองแสดง ทั้งภาพผู้หญิงที่เป็นศูนย์กลางในภาพวาดของตน สิ่งที่โดดเด่นในงานโอลิมเปียของมาเนต์คือภาพสตรีที่ขาดความยั่วยวน และความสะโอดสะองของเรื่อนร่าง ต่างจากภาพวีนัสแห่งเออร์บิโนที่งดงามตามแบบประเพณีเดิม
บน: Titian, Venus of Urbino, 1538 ล่าง: Édouard Manet, Olympia, 1863
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสุนัขที่นอนหลับอยู่ใกล้เท้าขวาสุดของเก้าอี้นอนในภาพวีนัสแห่งเออร์บิโนของทิเชียน ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากภาพแมวดำด้านขวาสุดของเก้าอี้ยาวในภาพโอลิมเปียเช่นกัน สุนัขนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์และความรัก แต่แมวดำเป็นสัญลักษณ์ของความสำส่อน และโสเภณี
โอลิมเปียคือใคร?
ผู้หญิงที่เอนกายอยู่นี้คือ Victorine-Louise Meurent ซึ่งเป็นนางแบบและจิตรกรชาวฝรั่งเศส เธอเป็นนางแบบให้กับภาพวาดของมาเนต์หลายภาพ รวมถึงภาพอันโ่ด่งดังของเขาอย่างภาพอาหารกลางวันบนพื้นหญ้า (Le Déjeuner sur L'Herbe)
Victorine-Louise Meurent ที่มาภาพ :https://bonjourparis.com/history/victorine-meurent-the-unvarnished-story-of-manets-muse/
ภาพของมาเนต์ที่ Victorine-Louise Meurent เป็นแบบให้ ที่มาภาพ : https://www.tuttartpitturasculturapoesiamusica.com/2015/07/Edouard-Manet.html
ทำไมต้องชื่อ "โอลิมเปีย"
มีการถกเถียงกันทางวิชาการว่าทำไมมาเนต์จึงเลือกคำนี้มาใช้ตั้งชื่อภาพ Sharon Flescher ได้ให้ความคิดเห็นว่า คำว่าโอลิมเปียนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของหญิงกล้า ซึ่งตรงกับบุคลิกของตัวละครในละครโอเปร่า เรื่อง “Herculaneum” ซึ่งแสดงครั้งแรกในปารีสเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1859 มีนักแสดงเป็นสตรีผู้กล้าหาญมีชื่อว่า "โอลิมเปีย" เป็นราชินีนอกรีตที่ถูกส่งมาเพื่อหยุดยั้งความก้าวหน้าของศาสนาคริสต์
เช่นเดียวกับโอลิมเปียของมาเนต์ที่แสดงความกล้าหาญออกมาจากการเพ่งมองอย่างไม่เอียงอายของเธอ นอกจากนั้นแล้วคำว่า "โอลิมเปีย" ยังมีประวัติความเป็นมาของมันเองคือเป็นคำที่ใช้เพื่ออ้างถึงโสเภณีในช่วงทศวรรษที่ 1800 ในฝรั่งเศสอีกด้วย
ภาพโอลิมเปียของมาเนต์ตกเป็นประเด็นทางสังคมเมื่อได้จัดแสดง เพราะในช่วงแรกก่อนที่เขาจะเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ เขาเป็นศิลปินที่วาดภาพแบบลัทธิเหมือนจริง (Realism) มาก่อน ซึ่งจะเน้นไปที่เรื่องราวของชนชั้นกระฎุมพี หรือบุคคลที่มักถูกละเลยในสังคม อย่างเช่นภาพโอลิมเปียนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงการปฏิเสธอดีต และความงามตามแบบแผนประเพณีนิยมอย่างชัดเจน
นอกจากสัญญะ และการเสียดสีแล้ว การจ้องมองของโอลิมเปียยังถูกกล่าวว่าเป็นจุดสุดยอดของการต่อต้านปิตาธิปไตยจากการจ้องมองของผู้ชาย (ในที่นี้หมายถึงผู้ชมในห้องจัดแสดงงานศิลปะ) เพื่อต่อต้านการเป็นวัตถุของความปรารถนาดังที่เคยเป็นมา
แต่ในขณะเดียวกันนั้นสาวใช้ที่จ้องมองมายังโอลิมเปียกลับถูกเพิกเฉย แม้เธอจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพ แต่ก็แทบไม่ได้รับความสนใจกับการมีอยู่ของเธอแม้แต่น้อย ในศตวรรษที่ 20 และ 21 ภาพนี้กลายเป็นภาพวาดที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขบวนการสตรีนิยม โดยเฉพาะเกี่ยวกับหัวข้อการจ้องมองของผู้ชาย และบทบาทของสาวใช้
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา