26 ธ.ค. 2023 เวลา 10:28 • ท่องเที่ยว

ลพบุรี .. สังเขปประวัติศาสตร์

ช่วง 30 ปีแห่งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) นับเป็นช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นยุคทองสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์อยุธยา ความโดดเด่นทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง การเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามา
.. พร้อมกับบรรดาราชทูตจากประเทศต่างๆ การเปิดศักราชด้านการศาสนาใหม่ในสยาม และยุคทองของวรรณคดีสำคัญต่างๆ ล้วนทำให้โฉมหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ได้รับการศึกษาในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และถือกันว่าในรัชกาลนี้เองที่พระมหากษัตริย์อยุธยาได้เปิดโลกทัศน์ของสยามให้กว้างขวางออกไปด้วย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2175 เมื่อแรกประสูติ พระประยูรญาติเห็นว่าพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ฯ” และทรงได้รับการศึกษาในสำนักพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม จนจบไตรเพทวิชา
เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ราชสมบัติตกอยู่แก่เจ้าฟ้าชัย เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ สมคบคิดกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาซึ่งเป็นพระเจ้าอา ก่อการกบฏ จับเจ้าฟ้าชัยสำเร็จโทษ แล้วสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์สมบัติ จากนั้น 2 เดือน 10 วัน สมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ประทะรัฐประหารอีกครั้ง โดยอ้างว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดข่มเหงน้ำใจพระขนิษฐาในพระองค์ คือเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ แล้วสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2199 ขณะพระชนมายุได้ 24 พรรษา
การเมืองในช่วงต้นรัชกาลของพระองค์มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพราะเพียงแค่ 2 เดือนแรกก็เกิดกบฏขึ้นท้าทายพระราชอำนาจ พระราชพงศาวดารฉบับพิสดาร เช่นฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ กับพระองค์ทองคิดการกบฏ ทั้งสองเป็นพระอนุชาต่างมารดากับสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่การกบฏครั้งนั้นไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์ถูกจับกุมสำเร็จโทษพร้อมพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น ออกญาพลเทพ ออกญากลาโหม ออกญาพัทลุง ออกพญาศรีภูริปรีชา เป็นต้น
ลักษณะเช่นนี้ ย่อมทำให้การเมืองในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่สงบมากนัก การสูญเสียขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่สะดวกราบรื่นประการหนึ่ง
ทั้งเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งในอำนาจเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาท้าทาย
สมเด็จพระนารายณ์ฯเองก็ไม่อาจทรงไว้วางพระราชหฤทัยในขุนนางได้อย่างสนิทใจ การควบคุมกองกำลังไพร่พลอันเป็นฐานอำนาจสำคัญของสังคมอยุธยา จะเป็นกลยุทธ์ที่ต้องนำมาใช้ให้เหมาะแก่กาลด้วย จึงปรากฏว่าไม่ทรงตั้งขุนนางขึ้นมาดำรงตำแหน่หลายตำแหน่ง เช่น เมื่อตำแหน่งสมุหนายกว่างลง ก็ไม่ทรงตั้งใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเป็นเวลานาน หรือมิฉะนั้นก็โปรดให้ขุนนางควบคุมตำแหน่งพร้อมกัน 2 ตำแหน่ง เป็นต้น
เหตุการณ์อีกประการหนึ่ง คือ เริ่มทรงเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มชาวต่างชาติว่าคงพอมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานในราชสำนักมากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงคุ้นเคยดีกับ “ความเป็นต่างชาติ” นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์
.. โดยเฉพาะกลุ่มชาวมัวร์ หรือเปอร์เซียที่มีอิทธิพลทั้งทางการค้าและการเมือง อาทิ ขุนนางชาติมัวร์ที่เคยรับใช้มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และได้ร่วมการกบฏมาตั้งแต่ต้นรัชกาล ต่างก็ได้รับพระราชทานตำแหน่งสำคัญทั้งสิ้น กลุ่มขุนนาง “ชำนัญการ” เหล่านี้มีความสามารถในระดับหนึ่ง เช่นการอำนวยผลการค้า และอำนาจเหนือกลุ่มคนในสังกัดของตนเอง แต่ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้การเมืองในรัขกาลเกิดการแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านชาวต่างชาติที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายรัชกาล
สิ่งที่ปรากฏในรัชกาลของพระองค์ นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการค้าที่เฟื่องฟูแล้ว นักประวัติศาสตร์ต่างให้ความสนใจในปฏิกิริยาของพระองค์ต่อ “โลกทรรศน์” ตะวันตกที่มีมากขึ้น
เอกสาร “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” บันทึกถึงรสนิยมของพระองค์ต่อความเป็นเปอร์เซียไว้เป็นอย่างมาก ทั้งการดำเนินพระจริยาวัตรประจำวัน การสนับสนุนการแพร่กระจายของศิลปวัฒนธรรมต่างชาติในอยุธยา การรับรู้ความเป็นไปในโลกที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกับความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการค้าการลงทุนเชิงทุนนิยม หรือนโยบายการเมืองที่เริ่มใช้อำนาจทางทะเล และแสนยานุภาพทางการทหารเข้ามาแทนที่การเจริญสัมพันธ์ด้วยสันติวิธี อันเคยเป็นวิธีที่ชาติตะวันตกใช้มากว่าศตวรรษ
… และการเข้าแทรกแซงอำนาจการเมืองท้องถิ่นของบรรดาผู้แทนศาสนา เหล่านี้ กลับสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้จักกับโลกตะวันตกมากน้อยเพียงใดในอยุธยา แม้ว่าในปีสุดท้ายของรัชกาลจะเกิดปฏิวัติขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกไปก็ตาม แต่เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวตะวันตกชาติเดียว และเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
ความสัมพันธ์กับประเทศฝรั่งเศส ไม่ใช่การเจริญความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์อยุธยา หรือเป็นประเทศแรกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสานสัมพันธไมตรีด้วย เพราะโปรตุเกสเคยเดินทางเข้ามาในสยามนานก่อนนั้นแล้วเกือบร้อยปี นับแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงคุ้นเคยดีด้วย
… ส่วนฮอลันดาและอังกฤษ ก็เดินทางเข้ามาค้าขายกับสยามนานแล้วมิพักต้องระบุถึงประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย ศรีลังกา หรือประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างยืนยันการค้าและการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสม่ำเสมอ
ประเทศฝรั่งเศสกลับเป็นประเทศสุดท้าย ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงทำความรู้จัก และเป็นเพียง 10 ปีสุดท้ายในรัชกาลเท่านั้น ที่ประเทศฝรั่งเศสกลับมาสามารถดำเนินภาวะการเมืองในสยามได้นานมากกว่าการค้าและศาสนา
เมื่อบรรดาผู้แทนทางศาสนาฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาในสยามนั้น คือในปี พ.ศ. 2205 และจากนั้นก็ปรากฏการเดินทางเข้ามาของมิชชันนารีบาทหลวง ทั้งพวกเจซูอิต และจากสำนักมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส
แต่หลังจากนั้นราว 20 ปี ผู้แทนบริษัทการค้าฝรั่งเศสจึงเข้ามาอยุธยาเพื่อขอตั้งสถานีการค้า จากนั้นราวอีก 3 ปี จึงปรากฏการแลกเปลี่ยนทูตระหว่าง 2 ประเทศ
ในช่วงระยะสุดท้ายนี้เองที่กลายเป็นประเด็นใหม่ทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวว่าโฉมหน้าใหม่ทางการทูตของสยามกับต่างประเทศ เพราะถือว่าออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) นั้นเป็นผู้เปิดศักราชทางการทูตระหว่างสยามกับประเทศในยุโรป หากแท้จริงแล้ว นับตั้งแต่ราชสำนักสยามรู้จักกับโปรตุเกส หรือฮอลันดา ก็พยายามส่งผู้แทนไปเจริญพระราชไมตรียังสำนักนั้นๆอยู่แล้ว เช่น สมเด็จพระเอกาทศรถทรงส่งทูตไปยังเมืองกัว (Goa) ในอินเดีย เพื่อนำพระราชสาส์นไปถึงอุปราชปรตุเกส ดังนี้เป็นต้น
การทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จึงไม่ใช่โฉมหน้าใหม่ในวงการทูตอยุธยาแต่อย่างใด แต่อาจถือได้ว่า การที่สยามทำความรู้จักกับฝรั่งเศสครั้งนี้เอง จะเป็นสาเหตุให้สยามต้องเรียนรู้กลวิธีการเมืองนำการทูต และเป็นประเด็นให้เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นในปี พ.ศ. 2231
เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2231
เป็นปกติที่ว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯนั้น มักจะเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังเมืองลพบุรีเป็นระยะเวลานานหลายเดือนภายใน 1 ปี เมื่อต้นปีนั้น เกิดข่าวลือทั่วไปว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร และชาวฝรั่งเศสมีความคิดจะยึดครองสยาม สมเด็จพระนารายณ์ฯประทับว่าราชการและเสด็จคล้องช้างอยู่ที่ลพบุรี โดยมีบาทหลวงฝรั่งเศสและกลุ่มนายทหารคอยติดตามรับใช้อย่างใกล้ชิด และโปรดที่จะทอดพระเนตรเหตุการณ์ทางดาราศาตร์ที่จะเกิดขึ้นในราวเดือนมีนาคม ทำให้ชาวฝรั่งเศสได้มีโอกาสใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากกว่าปกติ
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอยุธยาเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากขึ้น นับตั้งแต่ปรากฏการเข้ามาของกองทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง เมื่อราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2230
การเดินทางมาของผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส คือ เดอ ลาลูแบร์ (De la Loubere) และผู้แทนทางการค้า คือ เซเบเรต์ (Ceberet) นอกจากจะดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจะผูกพันแน่นแฟ้นมากขึ้นแล้ว ยังมีความเคลือบแคลงที่ว่า เหตุใดฝรั่งเศสจึงส่งกองกำลังทหารที่นำโดย นายพล เดฟาร์จ มาด้วย และกองกำลังนี้จะขึ้นต่อผู้ใด อีกทั้งใครเป็นผู้ขอกองกำลังเข้ามา
นักประวัติศาตร์บางท่านเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯคงทรงขอกองกำลังทหารฝรั่งเศสเข้ามาจำนวนหนึ่งเพื่อทรงใช้สอยในกิจการในพระองค์ เช่น เป็นทหารรักษาพระองค์ เนื่องด้วยคงมีความรู้ด้านการรบ และการป้องกันข้าศึก หรือเป็นการไม่ไว้ใจทหารสยามก็เป็นได้ แต่บางท่านเห็นว่า กองกำลังทหารฝรั่งเศสนี้เป็นเครื่องมือของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ที่ต้องการขอกองกำลังทหารฝรั่งเศสเข้ามาเพื่อรักษาตนเอง ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน
ความต้องการของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งในจดหมายลับที่ฝากไปกับบาทหลวงตาร์ชาร์ด (Guy Tachard) ถึงบาทหลวง เดอ ลา แชส (Le Pere De la Chaise) พระผู้ไถ่บาปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเส ที่ระบุว่าขอให้จัดกำลังบาทหลวงราว 60 นาย ที่มีความรู้ดี เข้ามาในสยามอย่างลับๆ เพื่อที่จะได้จัดให้เข้าประจำกรมกองต่างๆ
ในการนี้ ดูเหมือนว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจพระราชทานเมืองบางเมือง เช่น มะริดหรือสงขลา เพื่อให้ทหารฝรั่งเศสได้เข้ารักษาประจำการด้วย เพราะอย่างน้อยอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็อาจทำให้การค้าในบริเวณชายฝั่งทะเลดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาเรื่องโจรสลัดมากเท่าอดีต
เป็นไปได้ว่าฝรั่งเศสประเมินความคิดดังกล่าวกว้างเกินความเป็นจริงไปว่า ลำพังกองทหารฝรั่งเสคงจะทำให้ทางสยามยินยอมและตกลงตามเงื่อนไขที่ทางฝรั่งเศสกำหนด ดังนั้นกองกำลังทหารฝรั่งเศสที่เดินทางกลับมาพร้อมกับคณะราชทูตโกษาปาน จึงประกอบด้วยนายทหารกว่า 600 นาย เป็นที่แน่นอนว่าความสงสัยของโกษาปานก็คงจะเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ด้วยว่ามีเหตุผลกลใดที่ฝรั่งเศสจะต้องให้นายทหารจำนวนมากเช่นนี้เดินทางมายังสยาม
หากว่าเมื่อเดินทางถึงปากน้ำเจ้าพระยาแล้ว นายทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งล้มเจ็บจากการเดินทาง เสียชีวิตไปบ้าง คงเหลือเพียง 400 กว่านายเท่านั้น ซ้ำภาระหลักของนายทหารกลับอยู่ที่การตระเตรียมป้อมปราการ และจัดหาเสบียงอาหาร มากกว่าการเตรียมพร้อมในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายก่อนออกเดินทางจากฝรั่งเศส
การตั้งมั่นของทหารฝรั่งเศสที่บางกอก ย่อมก่อให้เกิดความสงสัยมากขึ้นในสายตาขุนนางชั้นผู้ใหญ่อย่างพระเพทราชา เจ้ากรมคชบาล พร้อมกันกับที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ก้เริ่มเล็งเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับข่าวลือ และพระอาการของสมเด็จพระนารายณ์ฯก็ไม่น่าไว้วางใจนับแต่เดือน มีนาคม 2331 เป็นต้นมา
แผนการของพระเพทราชาได้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละเล็กละน้อย เมื่อพระเพทราชาได้ออกคำสั่งให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆที่อยู่ตามหัวเมืองให้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
เจ้าพระยาวิไชเยนทร์จึงวิตกกังวลกับสถานการณ์ความปลอดภัยในราชสำนักมากขึ้น และต้องการใช้กองกำลังทหารฝรั่งเศสในฐานะทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้น จึงเชิญนายพลเดฟาร์จ (Desfarges) ผู้นำกองทัพฝรั่งเศสขึ้นมายังลพบุรี และแจ้งความประสงค์ที่จะให้กองทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งเดินทางมาโดยทันที
นายพลเดฟาร์จตกลงให้ความช่วยเหลือ โดยรีบเดินทางมายังเมืองบางกอก และเตรียมกองกำลังจำนวนหนึ่งแล้วจึงเดินทางไปยังลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ผ่านอยุธยา นายพลเดฟาร์จ ได้มีโอกาสพบกับนายพลเวเรต์ (Veret) ผู้แทนสถานีการค้าฝรั่งเศสที่มีความเกลียดชังเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เป็นการส่วนตัว
.. เวเรต์อ้างว่าสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว และให้ความเห็นว่า นายพลเดฟาร์จควรที่จะนำกองกำลังกลับไปยังเมืองบางกอก มิฉะนั้นชาวฝรั่งเศสทั้งหมดในอยุธยาก็จะถูกประหารชีวิต
นายพลได้ส่งนายทหารไปลาดตระเวนที่ลพบุรี และแจ้งข่าวให้เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ทราบ ซึ่งเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ยืนยันยืนยันว่าเหตุการณ์ยังคงสงบเรียบร้อย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และขอให้นายพลเดฟาร์จเร่งนำกองกำลังทหารจากเมืองบางกอกขึ้นมาโดยเร็วที่สุด แต่นายพลเดฟาร์จเร่งกลับนำกองกำลังทหารกลับไปเมืองบางกอก ตามคำนำนำของนายเวเรต์และพระสังฆราชคาทอลิกที่อยุธยา
เมื่อพระเพทราชาสามารถรวบรวมอำนาจจากขุนนางต่างๆได้อย่างเต็มที่แล้ว ขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯยังทรงประชวรและประทับอยู่ในพระราชวังลพบุรี เจ้าพระยาวิไชเยนทร์และทหารฝรั่งเศสอีก 4 นายถูกจับกุมในขณะที่เดินทางจะเข้าเฝ้าในพระที่นั่ง โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปยังทะเลชุบศร ส่วนชาวฝรั่งเศสอื่นๆต่างถูกจับกุมและทรมาน
พระเพทราชาสั่งให้นายพลโบชอง (Beauchamp) พร้อมด้วยราชทูตสยาม 2 นาย เดินทางลงไปยังเมืองบางกอก เพื่อชักจูงให้นายพล เดฟาร์จ และทหารฝรั่งเศสเดินทางขึ้นมายังเมืองลพบุรี
ผลที่สุด เมื่อนายพลเดฟาร์จ ทราบความจริงของสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นแล้ว จึงยอมเดินทางขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยในหมู่ชาวฝรั่งเศสด้วยกันเอง พระเพทราชาได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับมูลเหตุของการเข้ามายังสยามและความประสงค์ของชาวฝรั่งเศส ทั้งยังสั่งให้นายพลเดฟาร์จเขียนจดหมายถึงนายบรูออง (M. de Bruant) ซึ่งควบคุมเมืองมะริดพร้อมกับทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งให้นำกองกำลังทหารมาสมทบ จากนั้นนายพลเดฟาร์จได้เดินทางกลับบางกอก โดยอ้างว่าเพื่อไปนำกองกำลังทหารขึ้นมา และได้ให้บุตรชาย 2 คนไว้เป็นตัวประกัน
พระเพทราชาเห็นว่าทหารฝรั่งเศสคงจะไม่รักษาคำพูด จึงสั่งให้เตรียมความพร้อมในการต่อสู้ ส่วนทหารฝรั่งเศสที่ป้อมเมืองบางกอกเองก็ต้องประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย เช่น ปัญหาการขาดแคลนเสบียงอาหาร การขาดแคลนอาวุธ กระสุนดินปืน ทั้งยังจะต้องต่อสู้กับทหารสยาม ทำให้ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้นายพลเดฟาร์จจึงขอสงบศึก และแสดงความจำนงที่จะออกไปจากราชอาณาจักร ซึ่งก่อนที่จะออกเดินทางนั้น
นางฟอลคอน ผู้ซึ่งเป็นภรรยาม่ายของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ได้ร้องขอที่จะเดินทางกลับฝรั่งเศสด้วย เนื่องจากเกรงอันตรายที่จะเกิดขึ้น แต่นายพลเดฟาร์จไม่อนุญาต นางจึงต้องพำนักอยู่ในค่ายชาวโปรตุเกส และกลายเป็นพนักงานวิเสทประจำห้องเครื่องราชสำนักสยาม
นายทหารทั้งหมดต้องออกจากป้อมเมืองบางกอก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2231 มีการแลกตัวประกันที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา และออกจากราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 13 เดือนเดียวกัน ไปถึงจุดหมายปลายทาวที่เมืองปองบดิเชรี (Pondichery) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2232 ทหารฝรั่งเศสบางนายมีความคิดที่จะย้อนกลับมายึดเมืองภูเก็ต แต่อีกหลายนายกลับไม่เห็นด้วยและประสงค์ที่จะเดินทางกลับฝรั่งเศส เมื่อทั้งหมดเดินทางมาถึงแหลมกู้ดโฮป ก็ถูกเรือฮอลันดาจับไปเข้าคุกที่เมืองมิดเดิลเยฃบิร์ก (Middleburg) ในที่สุด
ขอบคุณ : เนื้อความจากหนังสือ “จากบางเจ้าพระยา สู่ปารีส” โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี
โฆษณา