Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กลยุทธ์ ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง ทำไมชอบทำ แบรนด์สินค้าตัวเอง
HomePro, Global House และ Dohome
รายได้หลัก ๆ ของห้างค้าวัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์ใช้ในบ้านเหล่านี้ มีโมเดลธุรกิจ แบบซื้อมาและขายไป เพื่อกินส่วนต่างกำไร
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าทั้ง HomePro, Global House และ Dohome
ต่างก็มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเช่นกัน
ซึ่งห้างทั้ง 3 แห่ง ได้จดลิขสิทธิ์ชื่อแบรนด์ไปแล้ว มากกว่า 20 แบรนด์
แล้วทำไม ห้างค้าวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ ชอบทำสินค้าแบรนด์ตัวเอง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก็ต้องบอกว่า โดยหลัก ๆ แล้ว HomePro, Global House หรือ Dohome จะนำสินค้าเข้ามาขาย 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ
1. สั่งซื้อสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ จากตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ผลิตโดยตรง
2. สั่งผลิตสินค้าจากโรงงานต่าง ๆ เข้ามาขายในแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเราเรียกว่า House Brand
โดย House Brand ก็คือ แบรนด์สินค้าของห้างหรือร้านค้าปลีกนั้น ๆ ที่จ้างผู้ผลิตภายนอกผลิตสินค้าให้ แล้วติดชื่อแบรนด์ตามที่สั่งไป
ปัจจุบันแบรนด์ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง ได้จดลิขสิทธิ์แบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองไปแล้ว มากกว่า 20 แบรนด์
ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน และของตกแต่งบ้านแบรนด์ต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น
ห้าง HomePro
- มีที่คว่ำจาน และซิงก์ล้างจาน แบรนด์ PARNO
- มีตู้ตั้งพื้น และตู้แขวนผนัง แบรนด์ CABIN
- มีฝักบัว วาล์วฝักบัว และก๊อกอ่างล้างหน้า แบรนด์ MOYA
ห้าง Dohome
- มีเครื่องมือช่าง แบรนด์ YOSHINO
- มีฝักบัวและก๊อกน้ำ แบรนด์ Siena
- มีเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ทำครัว แบรนด์ FINEXT
ห้าง Global House
- มีเฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์สำนักงาน แบรนด์ Smith
- มีปั๊มน้ำอัตโนมัติ แบรนด์ MIZUMA
- มีอุปกรณ์ทำความสะอาด แบรนด์ iClean
- มีหลอดไฟติดเพดาน แบรนด์ EILON
โดยถ้าหากนับจำนวน House Brand ทั้งหมดแล้ว
HomePro มีแบรนด์สินค้าของตัวเองกว่า 36 แบรนด์
Dohome มีแบรนด์สินค้าของตัวเองกว่า 23 แบรนด์
และ Global House มีแบรนด์สินค้าของตัวเองมากกว่า 100 แบรนด์
1
แล้วทำไม ห้างเหล่านี้ถึงจำเป็นต้องปั้น House Brand ขึ้นมาเป็นของตัวเอง ?
ก็ต้องอธิบายว่า ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างนั้น
เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ทั้งการสร้างตัวห้างหรือร้าน และทำโกดังขนาดใหญ่เพื่อเก็บสินค้า
แถมยังต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนหนึ่ง ซื้อเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างเข้ามาสต็อกภายในห้าง
โดยสินค้าจะซื้อมาขายไป แล้วกินกำไรส่วนต่างเป็นอัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit
ซึ่งการซื้อมาขายไปอย่างเดียว จะมีส่วนของกำไรขั้นต้นที่ไม่มากนัก
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง จึงมีอีกทางเลือกหนึ่งในการรับสินค้าเข้ามาขาย
นั่นคือการปั้นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า House Brand
เพื่อ “เพิ่มอัตรากำไร” นั่นเอง
แล้วทำไม House Brand ถึงสามารถเพิ่มอัตรากำไร ให้กับห้างค้าเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างได้ ?
คำตอบหนึ่งก็คือ เรื่องการประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of scale
เพราะว่า HomePro, Global House, Dohome หรือแม้กระทั่ง ไทวัสดุ ของเครือเซ็นทรัลรีเทล
ห้างเหล่านี้ ล้วนมีสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย
ดังนั้นการจะจ้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าสัก 1 อย่าง ก็จะจ้างผลิตในปริมาณมาก ๆ หรือที่เรียกว่า Mass Production
เพื่อกระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ
ซึ่งเมื่อทำการผลิตทีละมาก ๆ ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยนั้นต่ำลง หรือที่เรียกว่าเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale)
แถมถ้าห้างค้าวัสดุก่อสร้าง สั่งออร์เดอร์เพื่อผลิตครั้งละจำนวนมาก
ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง ก็จะมีอำนาจต่อรองราคาซื้อจากโรงงานซัปพลายเออร์ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด
แล้วเมื่อต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง
สามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เน้นความคุ้มค่า
และตัวห้างร้านเอง ก็ได้อัตรากำไรต่อชิ้นที่มากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเช่น
- ห้างค้าวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง สั่งชั้นวางทีวี จากตัวแทนจำหน่ายอื่น ๆ มาในราคาชุดละ 5,000 บาท
แล้วนำมาขายในห้าง ราคาชุดละ 6,000 บาท
กำไรขั้นต้น จากการจำหน่ายชั้นวางทีวีชิ้นนี้ ก็คือ 1,000 บาท คิดเป็นอัตรากำไรขึ้นต้น 20%
- แต่ถ้าห้างค้าวัสดุก่อสร้างนั้น เลือกใช้วิธีจ้างผลิต โดยสินค้ามีสเป็กและดิไซน์ใกล้ ๆ กับสินค้าด้านบน
และได้ราคาโรงงานชุดละ 4,000 บาท แล้วนำมาขายในห้าง ราคา 5,000 บาท
อัตรากำไรขั้นต้น จากการจำหน่ายชั้นวางทีวีแบบนี้ ก็คือ 1,000 บาท แต่คิดเป็นอัตรากำไรขึ้นต้น 25%
ซึ่งนอกจากจะได้อัตรากำไรที่มากขึ้นแล้ว ก็ต้องบอกว่า ห้างค้าวัสดุก่อสร้างเอง
ยังสามารถออกแบบสินค้า ตามความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ด้วย
ปัจจุบัน ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง ก็ได้เพิ่มสัดส่วนสินค้า House Brand มากขึ้นเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ห้างค้าวัสดุก่อสร้าง อย่าง HomePro
ปี 2560 มีสินค้า House Brand 3,000 รายการ
ปี 2566 มีสินค้า House Brand 15,000 รายการ
จะเห็นได้ว่าจำนวนสินค้า House Brand ของ HomePro เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าใน 6 ปี
โดยในช่วงปี 2561-2565 ข้อมูลจากทาง HomePro บอกว่า ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสินค้า House Brand เป็นเงินกว่า 216 ล้านบาท
ส่วนห้างค้าวัสดุก่อสร้างเจ้าอื่น ๆ ก็มีเพิ่มสัดส่วนรายได้ ที่มาจากสินค้า House Brand มากขึ้น เพื่อเพิ่มอัตรากำไรเหมือนกัน
ซึ่งเห็นได้จากกิจกรรมวันจดทะเบียนพบผู้ลงทุน หรือ Opportunity Day ไตรมาส 3 ปี 2566
ผู้บริหารได้กล่าวว่า
1
- ห้าง Dohome ในตอนนี้ มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากสินค้า House Brand 20%
และกำลังมีแผนที่จะทำให้สัดส่วนรายได้ ที่มาจาก House Brand เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
- ห้าง HomePro ที่ในตอนนี้ มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากสินค้า House Brand กว่า 20.7%
และ Mega Home ซึ่งเป็นห้างค้าวัสดุก่อสร้างในเครือของ HomePro
มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากสินค้า House Brand กว่า 19.2%
และคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าทั้ง HomePro และ Mega Home
จะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากสินค้า House Brand มากถึง 25%
มาถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า การปั้น House Brand
ก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง ของห้างค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่
ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการทำแบบนี้
ก็เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการทำกำไรของธุรกิจ ให้เพิ่มสูงขึ้นได้นั่นเอง..
References
-รายงานประจำปี 2561 - 2566 บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.ดูโฮม
-Opportunity day Presentation HMPRO Q3/2023
-เอกสารนำเสนอ Opportunity day HomePro Q4/2017
-เอกสารนำเสนอ Opportunity day HomePro Q3/2023
- เอกสารนำเสนอ Opportunity day DoHome Q3/2023
-
https://greedisgoods.com/private-brand/
-
https://www.marketthink.co/27893
ธุรกิจ
7 บันทึก
19
11
7
19
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย