26 ธ.ค. 2023 เวลา 17:45 • ประวัติศาสตร์

ที่มาของสมุดปฏิทินหลวงพระราชทาน

วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมสากล สำนักพระราชวังได้เปิดพระบรมมหาราชวัง และเขตพระราชฐานสำคัญๆ เพื่อให้ประชาชนลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี
ผู้ที่มาลงนามถวายพระพร จะได้รับพระราชทาน "ปฏิทินหลวง" มีลักษณะเป็นสมุดโน้ตเล่มเล็กพกพาง่าย เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นแนวทางในการวางแผนชีวิตใหม่ การพระราชทานปฏิทินหลวงในวันขึ้นปีใหม่นั้นเกิดขึ้นมานานกว่าศตวรรษแล้ว
ปฏิทินหลวงได้มีการพระราชทานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “สมุดปฏิทิน” หรือ “สมุดเล็กสำหรับพก” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 19 จ.ศ.1264 เรื่องการสโมสรสำราญปีใหม่ คำว่า “ปฏิทินหลวง” เข้าใจว่า เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏคำว่า “ประติทินหลวง” (ปฏิทินหลวง) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 พุทธศักราช 2459 เรื่องการสโมสรสันนิบาตปีใหม่ในพระบรมมหาราชวัง
ความสำคัญของปฏิทินหลวง เป็นการแจ้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ให้ทราบกำหนดการพระราชพิธี งานพิธีประจำปี วันสำคัญของชาติ กับทั้งเป็นการ พระราชทานของขวัญในวันขึ้นปีใหม่แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ และประชาชนผู้มาลงนามถวายพระพรในวันที่ 1 มกราคม ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชฐานต่างจังหวัด 5 แห่ง
โดยปฏิทินหลวงใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการประกอบพิธีทางศาสนา การกำหนดฤกษ์ยามเพื่อประกอบพิธีต่างๆ เนื้อหาประกอบด้วย พระปฐมบรมราชโองการ คำประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระราชปณิธาน ปีและศักราชต่างๆ กาลโยค ประกาศสงกรานต์ ตารางปฏิทินย่อแต่ละเดือน วันกำหนดการ อุปราคา วันหยุดราชการประจำปี การชักและประดับธงชาติในวันสำคัญ วันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงิน
วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศ์ วันประสูติพระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์ วันประสูติสมเด็จพระสังฆราช วันสำคัญของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย วันสำคัญทางศาสนาคริสต์ วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม วันสำคัญทางวัฒนธรรมและประเพณีจีน ตารางเทียบปีต่างๆ
แหล่งที่มาและเรียบเรียง https://www.matichon.co.th/court-news/news_2506864
โฆษณา