27 ธ.ค. 2023 เวลา 02:05 • ท่องเที่ยว

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ... “นิโคลาส์ แชร์แวส” ชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเข้าฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บรรยายและสรรเสริญพระราชบุคลิกลักษณะของพระองค์ว่า ..
ทรงมีรูปพรรณสันทัด พระอังสาค่อนข้างยกสูง พระพักตร์ยาว พระฉวีคล้ำ ดวงเนตรแจ่มใสเป็นประกาย แสดงถึงพระปรีชาสามารถและพระวรกายโดยส่วนรวมมีลักษระท่าทีที่แสดงความเป็นผู้ใหญ่และสง่างาม
"พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 ซึ่งจากคำให้การของชาวกรุงเก่า บันทึกว่า พระองค์โปรดเกล้าฯ ใหสร้างเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้แล้ว 10 ปี โดยมีข้อสันนิษฐานที่สำคัญ คือ ใน พ.ศ. 2207 เกิดกรณีพิพาทระหว่างฮอลันดากับไทย
ฮอลันดาได้นำเรือมาปิดปากอ่าวไทยและบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาเสียเปรียบทางการค้าและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำใหญ่ ไม่ห่างจากทะเล
.. และด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศ พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีเมื่อ พ.ศ.2209 .. ใช้เป็นราชธานีที่สอง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำใหญ่ มีป่า ภูเขา สัตว์ป่าชุกชุมทำให้ต้องอัธยาศัยในการเสด็จเข้าป่าล่าสัตว์ล้อมจับช้างในบริเวณป่าใกล้เมืองลพบุรี พระองค์จึงรู้สึกปลอดภัยเมื่อประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี
พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีเกือบตลอดปี .. เฉพาะฤดูฝนเท่านั้นจึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้างจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"
"พระนารายณ์ราชนิเวศน์” แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน .. กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพงมีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ประตู
ประตูทางเข้าเป็นทรงจตุรมุขมีช่องทางเข้าโค้งแหลม ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง
สิ่งก่อสร้างภายในพระราชวังแบ่งตามยุคสมัยเป็น 2 กลุ่ม คือ .. กลุ่มแรก เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร ซึ่งเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้า
ต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ในจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส กล่าวพรรณนาพระที่นั่งว่า “ตามผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจากฝรั่งเศส เพดานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 ช่อง ประดับด้วยลายดอกไม้ทองคำ และแวผลึกที่ได้มาจากเมืองจีนงดงามมาก”
ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวางตะเกียง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมากตามซุ้มประตูและกำแพงของพระราชวัง สมเด็จพระนารายณ์ฯเคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 ด้วย
เพื่อให้เกิดจินตนาการถึง "ภาพ" สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จฯ ประทับ ณ พระสีหบัญชร ในท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ออกรับคณะราชทูต แม้ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่สามารถเปรียบเทียบได้จาก บันทึกเหตุการณ์ และภาพวาดที่คณะทูตฝรั่งเศส อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ดังนี้
".... คณะทูตฝรั่งเศส มาถึงสยามเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2228 และในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการต้อนรับ โดยเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ตามบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ ระบุว่า
.....พระเจ้าแผ่นดินสยาม ประทับ ณ สีหบัญชร ที่สูงมาก การจะยื่นพระราชสาสน์ถวายให้ถึงพระองค์ท่าน นั้น จำเป็นต้องจับคันพานที่ปลายด้าม และชูแขนขึ้นสูงมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นว่าการถวายพระราชสาสน์ในระยะห่างมาก นั้น เป็นการไม่สมเกียรติ โดยควรที่จะถวายให้ใกล้พระองค์มากที่สุด ราชทูตจึงจับพานที่ตอนบน และยื่นขึ้นไปเพียงครึ่งแขนแค่นั้น
พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบความประสงค์ ว่าเหตุใดราชทูตจึงกระทำเช่นนั้น จึงทรงลุกขึ้นยืนพร้อมกับแย้มพระสรวล และทรงก้มพระองค์ออกมานอกสีหบัญชร เพื่อรับพระราชสาสน์ตรงกึ่งกลางทาง แล้วทรงนำพระราชสาสน์ นั้น จบเหนือเศียรเกล้า อันเป็นการถวายพระเกียรติให้เป็นพิเศษ...."
เราเดินออกทางประตูอีกด้านหนึ่ง อ้อมไปสำรวจทางด้านหลังของพระที่นั่ง .. และเมื่อมองไปที่ขอบพื้นสุดทางเดิน ตรงมุมอาคารพระที่นั่ง ก็เป็นท่อประปาดินเผา อันเป็นระบบประปาภายในพระราชวัง ยุคนั้น
ภาพที่เห็น นั้น ยืนยันว่า การสร้างพระราชวังแห่งนี้ ใช้วิทยาการตะวันตกในการออกแบบโครงสร้างอาคาร และระบบประปาอย่างครบวงจร .. มองไป ตื่นเต้นไป และจินตนาการถึงระบบประปายุคนั้นไปด้วย ว่าน่าจะเย็นฉ่ำ เพราะใช้ท่อส่งน้ำดินเผา...
ตรงจุดที่เห็นท่อประปาดินเผา ไม่มีทางเดินลงไปด้านหลัง จึงต้องเดินกลับ และอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง
ด้าน หลังพระที่นั่ง.. ยืนยันว่า ตัวอาคารพระที่นั่งด้านนี้ มีสองชั้นจริงๆ เพราะมองเห็นบันไดทางขึ้น และช่องหน้าต่างของชั้นล่างชัดเจน..
การ เดินสำรวจโครงสร้างของพระที่นั่งแห่งนี้ ทำให้รู้สึก ทึ่ง ในความสามารถของคนในสมัยนั้น (อย่างน้อยก็ควรสร้างก่อนปี พ.ศ. 2228 ซึ่งเป็นปีที่คณะราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้า) ย้อนหลังไปเกือบ 400 ปี
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์
เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน” สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231
พระที่นั่งจันทรพิศาล
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2208 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งซึ่งพระราเมศวรโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทองได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหม่ และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ออกขุนนาง ซึ่งตรงกับบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นหอประชุมองคมนตรี
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ตามแบบของเดิม ปัจจุบันใช้จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
เรื่องราวพระราชประวัติในช่วงต่างๆ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
งานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
ตึกพระเจ้าเหา (หมายเลข 4 ในแผนผัง)
ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ริมกำแพงด้านซ้ายสุด .. ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแลง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่
ชื่อของตึกซึ่งค่อนข้างแปลกนี้ได้รับการสันนิษฐานถึงที่มากันอย่างกว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร หมายความว่า เรียกเข้ามาหาหรือเรียกเข้ามาประชุม
แต่ถ้ายึดตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสเป็นหลักฐานจะพบว่า ตำแหน่งของตึกคือสถานที่ที่เขาระบุว่าเป็นวัด จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ตึกพระเจ้าหาคงเป็นหอพระประจำพระราชวังเมืองลพบุรี เนื่องจากภายในกด้านในสุดยังปรากฏฐานชุกชีซึ่งคงเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปให้เห็นอยู่ และชื่อพระเจ้าเหาคงเป็นชื่อของพระพุทธรูปสำคัญซึ่งประดิษฐานเป็นประธานอยู่บนฐานชุกชี
.. และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นคำที่มาจาก คำว่า พระเจ้าเฮ้าส์ (House) ที่แปลว่าา บ้านของพระเจ้า หรือวัด ด้วยเหตุที่ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ถือว่าเป็นยุคที่มีการค้าขายกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกอย่างมากมาย มีการเผยแผ่ศาสนาอย่างอิสระเสรีและไม่ปิดกั้น.....
ตึกพระเจ้าเหามีความสำคัญอย่างมากในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อทรงพระประชวรเสด็จออกว่าราชการแผ่นดินไม่ได้แล้ว ทรงปลงราชการแผ่นดินให้สมเด็จพระเพทราชาว่าราชการแทน .. พระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ใช้ ได้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่นัดแนะประชุมขุนนางและทหาร และสมเด็จพระเพทราชาทรงประกาศในที่ประชุมขุนนางและข้าราชการถึงการยึดอำนาจ
ตึกรับรองแขกเมือง
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ใกล้กับหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายเป็นระยะอยู่ 20 แห่ง
จากเค้าโครงที่เห็น แสดงว่า ในสมัยก่อนคงจะสวยงามมาก ทางด้านหน้าตึกเลี้ยงรับรองมีรากฐานเป็นอิฐแสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็ก ๆ คงจะเป็นโรงมหรสพ ซึ่งมีการแสดงให้แขกเมืองชมภายหลังการเลี้ยงอาหาร สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230
พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง)
เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำประปาและตึก ซึ่งใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยงชาวต่างประเทศ สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาวเรียงชิดติดกัน มีถนนผ่ากลาง
อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีจำนวนรวม 12 หลัง เมื่อเดินผ่านบริเวณนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนถนนที่มีตึกแถว ๒ ข้างกระหนาบ .. ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าหมู่ตึกกลุ่มนี้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อันใด แต่ด้วยเหตุที่มีรูปทรงตันทึบ มีหน้าต่างน้อย และมีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด จึงเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการก่อสร้างคงจะไม่ใช่เป็นที่พำนัก แต่คงใช้เป็นที่เก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ หรือเป็นคลังเพื่อเก็บสินค้า จึงเรียกกันว่า สิบสองท้องพระคลัง
.. ซึ่งในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งกล่าวว่า ในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก ใกล้สวรรคต ได้โปรดให้เบิกผ้าจากคลังศุภรัตน์ ให้ข้าหลวงใส่บวช คลังศุภรัตน์หมายถึงคลังผ้า ซึ่งอาจจะเป็นคลังหนึ่งในสิบสองท้องพระคลังในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ก็ได้
สิบสองท้องพระคลังในปัจจุบัน หลังคาปรักหักพังเหลือแต่ผนัง มีหน้าต่างและประตูเป็นแบบโค้งแหลม อาคารบางหลังชำรุดทรุดโทรมเหลือแต่ฐาน แต่เท่าที่เหลือให้เห็นเป็นหลักฐาน พอจะทำให้ทราบว่าบริเวณนี้ในอดีตคงเป็นบริเวณที่คึกคักเต็มไปด้วยผู้คนที่นำสินค้ามาขายหรือลำเลียงสินค้าออกไปจำหน่าย
อ่างเก็บน้ำหรือถังเก็บน้ำประปา
ก่อด้วยอิฐยกขอบเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษ ตรงพื้นที่มีท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามตึกและพระที่นั่งต่างๆ โดยท่อดินเผาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็กตามบันทึกกล่าวว่า ระบบการจ่ายทดน้ำเป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน
โรงช้างหลวง
ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฏให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่
**สิ่งก่อสร้างในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว .. ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏและอาคารต่างๆ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนารายณ์
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2405 เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จบูรณะเมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฏ เป็นที่ประทับ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน พระที่นั่งไชยศาสตรากรเป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานให้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาเมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ใหม่ พระที่นั่งหมู่นี้จึงรวมกับพระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
หมู่ตึกพระประเทียบ
ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน เป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองลพบุรี
ทิมดาบหรือที่พักของทหารรักษาการณ์ (หมายเลข 6 ในแผนผัง)
เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะแลเห็นศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง
โฆษณา