27 ธ.ค. 2023 เวลา 17:01 • ประวัติศาสตร์

นักการเมืองลูกพระเจ้าตาก ทองอยู่ พุฒพัฒน์

หากใครศึกษาเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะคุ้นเคยกับชื่อของ "ทองอยู่ พุฒพัฒน์" อย่างแน่นอน
ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ครูสอนประวัติศาสตร์ชาวฝั่งธนบุรี ผู้ศรัทธาในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรกษัตริย์ผู้กอบกู้อิสรภาพของชาติไทย อย่างแรงกล้า และเมื่อเข้ามาลงสนามการเมืองหลังจากปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครอง เขาคือผู้ก่อกำเนิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ เขาได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่อสู้มายาวนานกว่าสองทศวรรษ และเขาได้ริเริ่มแนวคิดให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมรูปฯ
อีกทั้งเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนกึ่งพุทธกาล จนกระทั่งเมื่อขั้วการเมืองพลิกผัน เขาได้ละทางโลก มุ่งสู่ร่มกาสาวพักตร์จนมรณภาพ
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ คนเกิดที่หลังวัดอมรินทราราม อำเภอบางกอกน้อย ขณะยังอยู่ในจังหวัดธนบุรี เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 ไปศึกษาต่อหลักสูตรครูมัธยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบในปี พ.ศ. 2461 ได้เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
นายทองอยู่มีความศรัทธาต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างมาก หวังจะให้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชผู้กู้ชาติที่ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง ขึ้นที่จังหวัดธนบุรี จึงสอบถามความเห็นบรรดาเพื่อนครู แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บรรดาเพื่อนครูเกรงว่าจะกระทบกระเทือนกับราชวงศ์จักรี จึงต่างพากันเดินหนี
ในปลายปี พ.ศ. 2476 ได้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก นายทองอยู่ได้ลงสมัครเป็นผู้แทนจังหวัดธนบุรี และได้รับเลือกตั้งเข้าสภา ส.ส.ทองอยู่จึงนำความฝันเดิมเปิดประชุมขอความเห็นจากผู้นำท้องถิ่น แล้วนำเรื่องเสนอต่อรัฐบาล แต่เรื่องก็เงียบหายไป จึงยื่นหนังสือถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา (นายกรัฐมนตรี) ว่าถ้ารัฐบาลไม่สนใจ ประชาชนก็จะระดมทุนกันสร้างเอง พร้อมทั้งพาคณะเข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ในรัชกาลที่ 8 เพื่อขอพระกรุณาสนับสนุนในการสร้าง
นายทองอยู่ติดตามเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินตลอดที่เป็น ส.ส. อยู่สองสมัย เมื่อมีการยุบสภาในปี พ.ศ. 2481 จึงหันไปลงการเมืองท้องถิ่น เป็นเทศมนตรีและประธานสภาเทศบาลนครธนบุรีระหว่างปี พ.ศ. 2483 - 2492 ก็ยังวิ่งติดตามเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมาตลอด
ต่อมาประสบปัญหาสงครามโลกครั้งที่ 2 จนหลังเกิดกบฏแมนฮัตตัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถูกจับเป็นตัวประกันไว้ใน ร.ล.ศรีอยุธยา แต่ก็ถูกถล่มด้วยระเบิดจากเครื่องบินจนเรือจม จอมพล ป.ต้องว่ายน้ำไปขึ้นหลบในท้องพระโรงพระราชวังเดิมของพระเจ้าตากสินจึงรอดชีวิต
จากนั้นจึงยอมตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และอนุมัติงบประมาณให้ 2 แสนบาท แต่การสร้างต้องใช้งบถึง 5 แสนบาท นายทองอยู่และคณะจึงต้องรณรงค์หาเงินบริจาคอีก กว่าจะสำเร็จมีพิธีเปิดได้ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากที่นายทองอยู่ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี
และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษก จึงมีรัฐพิธีเปิดอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปวางพวงมาลาถวายสักการะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคมเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษของชาติ ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย
เดิมมีกำหนดจะให้วันสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นวันที่ 27 ธันวาคม แต่นายทองอยู่ก็คัดค้านและแสดงหลักฐานจนกระทรวงวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนตามคำเรียกร้องเป็นวันที่ 28 ธันวาคม มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว ในปี พ.ศ. 2498 หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงครามนำคณะทัศนาจรรอบโลกดูงานประชาธิปไตย กลับมาก็นำวิธีการพูดปราศรัยที่ไฮด์ปาร์คของอังกฤษมาเปิดให้คนไทยได้ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ก็ได้จัดคณะตั้งเวทีปราศรัยขึ้นกลางสนามหลวงในเวลาแดดร่มลมตกของวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และได้รับเชิญให้ขึ้นพูดเป็นคนแรก จึงได้ฉายาว่า “โต้โผไฮด์ปาร์ค”
จุดมุ่งหมายของนายทองอยู่ก็ปรารถนาอยู่อย่างเดียว ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เลิกบทเฉพาะกาล เลิก ส.ส.ประเภท 2 เลิกปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ว่าจะขึ้นพูดครั้งใดนายทองอยู่ก็เน้นในเรื่องนี้ ทั้งยังประกาศว่าเมื่อถึงปี พ.ศ. 2500 ที่ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล ก็จะขอลาทางโลกไปอุปสมบทตลอดชีวิต
ไฮด์ปาร์คเรียกคอการเมืองไปชมกันมาก แต่ทว่าไม่ว่าจะดุเดือดเผ็ดร้อนอย่างใดก็ไม่เกิดผลทางการเมือง เป็นได้แค่ความบันเทิงของคอการเมืองเท่านั้น เมื่อเห็นว่าการฉลองครบ 25 พุทธศตวรรษใกล้เข้ามา มีเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้วสิ่งที่เรียกร้องก็ไม่มีท่าทีจะสำเร็จ นายทองอยู่จึงตัดสินใจแลกหมัดแบกกรดไปปักหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ประกาศอดอาหารจนกว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ
โดยมีดาวไฮด์ปาร์คส่วนหนึ่งไปร่วมผสมโรงด้วย กลุ่มนี้แม้จะอดอาหารแต่ก็มีแรงด่ารัฐบาลได้ทั้งวันทั้งคืน จอมพล ป.ก็คงรำคาญพวกไฮด์ปาร์คกลุ่มนี้เต็มทน ในเย็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จึงส่งตำรวจกระจายกำลังกันอุ้มนักอดข้าวไปอดต่อในห้องขังฐานกบฏ ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏอดข้าว” นายทองอยู่ถูกหิ้วปีกขึ้นศาลในฐานะหัวหน้าคณะ แต่แล้วศาลก็ยกฟ้อง
เมื่อถึงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แสวงหาอรหันต์ทางประชาธิปไตยไม่สำเร็จ ก็สละเพศฆราวาส อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดทองธรรมชาติ ปากคลองสาน ฉันอาหารเพลวันละมื้อจนถึงวันมรณภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ จากแนวคิดของทองอยู่ พุฒพัฒน์
แหล่งที่มาและเรียบเรียง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000123126
โฆษณา