29 ธ.ค. 2023 เวลา 02:47 • ท่องเที่ยว

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี .. เป็นวัดร้างขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมากวัดหนึ่งที่มีโบราณสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย
.. เป็นสถานที่ที่มีปรางค์องค์แรกๆในศิลปะไทยปรากฏขึ้นที่นี่ ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟลพบุรี ในเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่
Photo : Internet
ประมาณกึ่งกลางของพื้นที่มีการสร้าง เจดีย์ และปรางค์องค์เล็ก ๆ ล้อมรอบกำแพงวัด และมี วิหารคดถึงสองชั้น ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงปฏิสังขรณ์คราวหนึ่ง
และรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง และจากการศึกษา ศิลปะสถาปัตยกรรมและศิลปะประติมากรรม ที่ปรากฏในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทำให้พอจะกำหนดอายุโบราณสถานต่าง ๆ ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้ว่า ..
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี .. สร้างขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณพ.ศ.1800 ก่อนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 1893
.. สันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อลพบุรีพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมขอมแล้ว มีบันทึกในจดหมายเหตุจีนว่า ระหว่างพ.ศ. 1832-1842 เมืองลพบุรีส่งทูตไปเจริญไมตรีกับจีนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง นั่นย่อมแสดงถึงความมีอิสระของนครแห่งนี้ (สันติ เล็กสุขุม 2555, 304)
วัดแห่งนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้งทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สถาปัตยกรรมของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีการผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลายในอดีต เช่น ขอม ละโว้ อโยธยา และ ศิลปะตะวันตก
.. เนื่องจากช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 เป็นยุคที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ จึงเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมมาถึง ละโว้ ซึ่งก็คือ ลพบุรีในอดีต ทำให้รายละเอียดบางส่วนภายในวัด เช่น ลายกระหนก บนหน้ากระดานแถวบนสุดของพระปรางค์ มีลักษณะแบบศิลปะขอม
พอเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้มีการบูรณะปรับปรุงบางส่วนภายในวัด ทำให้มีศิลปะแบบ อโยธยา และ ละโว้ ผสมปนเปกันไป เช่น ซุ้มหน้าของปรางค์ประธาน เป็นต้น
ส่วนศิลปะตะวันตก ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการติดต่อกับ ฝรั่งเศส และได้รับวัฒนธรรมทางศิลปะตะวันตกมาเป็นบางส่วน
จุดที่ชัดเจนที่สุดคือ วิหารหลวง ที่แม้ประตูวิหารจะยังคงรูปแบบเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้อยู่ แต่หน้าต่างได้เจาะเป็นบานเล็กๆ คล้ายกับหน้าต่างทรงยุโรปในสมัยนั้น
ปัจจุบัน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้กลายเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งใน จังหวัดลพบุรี รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง แม้วัดนี้จะพังทลายไปแล้วหลายส่วน แต่ความงดงามอันทรงคุณค่าก็ยังคงปรากฏให้คนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้เห็นกันต่อไป
วัดมหาธาตุ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนพุทธาวาส และสังฆาวาส ซึ่งส่วนหลังนี้ถูกบุกรุกไปหมดแล้วคงเหลือพื้นที่ส่วนพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มีถนนตัดรอบวัด
องค์ประกอบภายในวัด
ศาลาเปลื้องเครื่อง
ศาลาเปลื้องเครื่องนี้ เป็นส่วนแรกนับจากทางเข้าที่ปรากฏในสายตาผู้มาเยือน .. ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ
ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว
วิหารหลวง หรือ วิหารเก้าห้อง
วิหารหลวง เป็นส่วนที่ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่อง เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมเด็จพระนารายณ์โดยเฉพาะคือ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ตรงประตูและหน้าต่างมีลักษณะวงโค้ง ซึ่งทำเป็นแบบโค้งแหลมและโค้งมน
ซึ่งได้รับอิทธิพลจากช่างต่างประเทศประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบกอธิคของฝรั่งเศส
เมื่อ พ.ศ.2563 มีการสร้างฐานชุกชี และประดิษฐานพระพุทธรูป ไว้ภายในวิหารคือ "พระพุทธลวบุรารักษ์" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก แกะสลักจากหินทรายเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 3 เมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง
… ซึ่งจังหวัดลพบุรี ร่วมกับพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวลพบุรี และประชาชนทั่วไป โดยได้รับประทานนามจาก สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ว่า "พระพุทธลวบุรารักษ์" แปลว่า พระพุทธเจ้าทรงปกปักรักษาเมืองลพบุรี
ปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
เจดีย์ประธานเป็นทรงปรางค์ อยู่ด้านหลังของวิหารหลวง ทางด้านทิศใต้ .. สร้างขึ้นก่อนราชธานีกรุงศรีอยุธยาราว 100 ปี นับเป็นปรางค์แบบไทยที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในพระอารามที่เป็นศูนย์กลางของนคร ปรากฏขึ้นด้วยคตินิยมเดียวกับการประดิษฐานพระมหาธาตุไว้ใจกลางเมืองสำคัญของแว่นแคว้นโบราณทุกยุคสมัย
นับว่าเป็นพระปรางค์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็นแบบอย่างแก่การสร้างเจดีย์ทรงปรางค์นับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
พระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงตั้งแต่ฐานถึงหน้าบันเหนือขึ้นไป เป็นอิฐจนถึงยอด
.. รูปลักษณะมีเค้าของปราสาทขอม ทั้งรูปแบบสัดส่วนและลวดลายปูนปั้นประดับ ซึ่งลวดลายที่ปรากฏในปัจจุบัน มีทั้งงานคราวสร้างและงานคราวซ่อม วัดสำคัญแห่งนี้ผ่านการปฏิสังขรณ์ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย
.. มีผู้กำหนดอายุไว้ว่า พระปรางค์ได้สร้างขึ้นสองรุ่น รุ่นแรกสร้างราว พ.ศ. 1600 แล้ว พังเหลือแต่ฐาน ภายหลังจึงสร้างองค์ปรางค์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ขึ้นเป็นรุ่นที่สองในราว พ.ศ. 1800
… เป็นปรางค์ที่ผิดไปจากแบบปรางค์เขมรแต่คงอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอยู่ ที่เห็นขัดคือ ลวดลายปูนปั้นตกแต่งแต่องค์ปรางค์ จึงเข้าใจว่า ปรางค์องค์ที่เห็นในปัจจุบัน ได้สร้างขึ้นเมื่อคนไทยมีอำนาจในภูมิภาคแถบนี้แล้ว
ปรางค์มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนล่างเป็นชุดฐาน ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ และส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่น
ชุดฐานขององค์ปรางค์ .. ก่อบนฐานซ้อนลดหลั่น 3 ฐาน เป็นชุดฐานที่ไม่สูงนัก เช่นเดียวกับปรางค์ขอมทั่วไป ก่อนที่ชุดฐานของปรางค์ไทยจะยืดสูงในสมัยหลัง ปรางค์แห่งนี้มีตรีมุขยื่นออกไปทางตะวันออก ปีกทั้งสองข้างของปรางค์ยังคงเหลือส่วนฐานอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของปรางค์ปีกในแนวเหนือ-ใต้
ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ... ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก
เรือนธาตุ .. มีลวดลายประดับที่ซุ้มบรรพแถลง ที่ส่วนล่าง และที่ส่วนบน ของผนังเรือนธาตุ ที่ซุ้มบรรพแถลงของเรือนธาตุทางทิศใต้ มีปูนปั้นแสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา นิกายมหายาน ภาพพระพุทธองค์และสาวก
ประทับนั่งในเรือนแก้ว ที่ผนังส่วนบนของเรือนธาตุประดับด้วยลายเฟื่องอุบะ คือ รูปมาลัยดอกไม้ทรงสามเหลี่ยมปลายชี้ลง ดูคล้ายแขวนเรียงเป็นราว
.. เหนือจากลายเฟื่องอุบะบนยอดผนัง เป็นลวดลายประดับแบบต่างๆบนชุดลวดบัวรัดเกล้า เสากรอบซุ้มประตูยังหลงเหลือลวดลายปูนปั้น ส่วนล่างของผนังเรือนธาตุประดับลายกรวยเชิง
.. ประตูซุ้มซ้อนด้านทิศใต้ของตรีมุข ยังเหลือลวดลายประดับรุ่นสร้างปรางค์อยู่ตรงทับหลังกรอบประตู ลายกรวยเชิง ลายเฟื่องอุบะ และที่ชุดลวดบัวรองรับเสากรอบประตู
.. บนแผ่นสี่เหลี่ยมในตำแหน่งของทับหลังปราสาทแบบขอม มีรูปเล่าเรื่องกฤษณาวตาร แต่ถูกทับซ้อนด้วยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านทิศเหนือของตรีมุข มีลวดลายประดับที่กรอบซุ้มของหน้าบรรพชั้นซ้อน
.. ซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างามมาก เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และ สมเด็จพระนารายณ์ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย
ยอดพระปรางค์ .. ประกอบด้วยรูปจำลองของเรือนธาตุ ที่เรียกว่า บรรพแถลง ซ้อนลดหลั่นกัน อันแสดงความหมายของปราสาท
ภายในวัด นอกจากปฐมปรางค์ในศิลปะไทยแล้ว ยังมีเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์อีกหลายองค์ (สันติ เล็กสุขุม 2553,193-231)
เจดีย์รายและปรางค์ ที่อยู่ภายนอกเขตระเบียงคตชั้นนอก เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยายุคต้น
ส่วนเจดีย์ตั้งอยู่ระหว่างระเบียงคตชั้นในและ ชั้นนอกเช่น เจดีย์มีบัวปากฐาน เป็นรูปกลีบบัวรอบองค์ระฆัง หรือเจดีย์ที่มีรูปทรงเป็นฐานสิงห์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นเจดีย์ แบบอยุธยาตอนปลาย .. ที่เข้าใจว่าคงได้สร้างขึ้นพร้อมกับการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จ พระนารายณ์
ปรางค์หมายเลข 16 ค.
ภายในวัดแห่งนี้ มีเจดีย์รายจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบ แต่ละองค์มีชื่อเรียกพร้อมหมายเลขกำกับ .. นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า ปรางค์หมายเลข 16 ค.สร้างขึ้นในคราวเดียวกับปรางค์ประธาน
ที่ลวดบัวรัดเกล้าตรงส่วนบน และที่ลวดบัวเชิงตรงส่วนล่างของเรือนธาตุ รวมทั้งเสาซุ้มประตู มีลายปูนปั้นประดับ
ภาพเจดีย์และปราค์ทางด้านทิศใต้
เจดีย์หมายเลข 1 ข.(ไม่มีรูป)
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ใกล้กับกำแพงวัด มีเจดีย์ยอดทรงกลีบมะเฟือง เรียกชื่อว่า เจดีย์หมายเลข 1 ข. โดดเด่นด้วยปูนปั้นรูปเทวดายืนประนมกรหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย เรียงรายอยู่ตอนล่างของส่วนบน
ส่วนเศียรของรูปเทวดาถูกคนร้ายลักลอบกะเทาะเอาไป กรมศิลปากรปั้นพระพักตร์ขึ้นใหม่แทนของเดิม โดยอาศัยแบบจากภาพถ่ายเก่า
เจดีย์หมายเลข 6 ข.
เจดีย์รายอีกองค์หนึ่ง เรียกชื่อว่า เจดีย์หมายเลข 6 ข. ตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงแก้วทางด้านเหนือ มีส่วนยอดเป็นทรงกลีบมะเฟืองเช่นกัน ต่างกันตรงส่วนฐานที่มีจระนำประดับ ทำให้องค์นี้มีสัดส่วนสูงกว่า
ภายในจระนำตรงส่วนเรือนธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้เป็นพระยืน ปางแสดงธรรม (พระกรขวาตั้งแต่ข้อศอกชำรุดหักหาย)
ด้านทิศเหนือเป็นปางลีลา บ่งบอกแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย กรมศิลปากรปั้นพระพักตร์ขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ถูกโจรกะเทาะเอาไป (ไม่ปรากฏในภาพ)
เจดีย์หมายเลข 4 ข. ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดชั้นใน .. มองจากพื้นที่ที่มีการวางพระพุทธรูปที่หักพัง พระเศียรถูกตัด เห็นแล้วหดหู่มาก
เจดีย์ทรงระฆังหมายเลข 5 ข.
เจดีย์รายองค์นี้อยู่ทางด้านเหนือของวัด ก่อบนชุดฐานสูง ผนังของฐานส่วนล่างประดับปูนปั้นรูปพระสงฆ์สาวกพนมมือ เศียรของรูปพระสงฆ์ถูกคนร้ายกะเทาะเอาไปทั้งหมด
เจดีย์ทรงระฆังในผังแปดเหลี่ยม หมายเลข 14 ข.
เจดีย์ราย หมายเลข 14 ข. เป็นทรงระฆังในผังแปดเหลี่ยม .. ส่วนกลางของเจดีย์เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำ 3 ชั้น เหมือนลวดบัวถลาในศิลปะสุโขทัย ถัดลงมาเป็นลายดอกไม้ ลายวงกลมแบบจีนสลับด้วยลายดอกไม้สี่กลีบ
.. ใต้องค์ระฆังมีจระนำซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงต่อกันโดยรอบ
พระอุโบสถขนาดย่อม
ปรางค์หมายเลข 32 ค.
ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังมีวิหารลักษณะทรงฝรั่งอีก 2 อาคาร
จึงอาจจะกล่าวได้ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้มีการก่อสร้างซ่อมแซมเพิ่มเติมซ่อมกัน หลายครั้ง นับตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 16 เป็นต้นมา และได้รับการสร้างเสริมครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าใจว่าหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรีลดความสำคัญลง และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดใหญ่จึงไม่มีผู้ใดดูแลรักษาจึงต้องถูกทิ้งร้าง
โฆษณา