29 ธ.ค. 2023 เวลา 03:55 • ข่าว

ดร.สุรชาติมองโลกปี 2023 กับ 5 โจทย์ใหญ่ท้าทายในปี 2024

-------------------
ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา โลกเต็มไปด้วยความผันผวน สงครามและความขัดแย้งยังคงปะทุขึ้นต่อเนื่อง สร้างแรงกระเพื่อมให้กับชีวิตผู้คนทั่วโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ขณะที่ “โลกในปี 2024 วิกฤตโลกไม่จบ โลกผันผวนไม่หยุด ประเทศใหญ่เหนื่อย ประเทศเล็กเปราะบาง”
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นให้ความเห็นกับ THE STANDARD ด้วยประโยคข้างต้น ก่อนที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับบทสรุปโลกปี 2023 กับ 5 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและรอพวกเราทุกคนอยู่ในปี 2024
ดร.สุรชาติ ชี้ว่า โลกปี 2023 ไปจนถึงโลกปี 2024 เราจะเห็นโจทย์ใหญ่ 5 โจทย์ ดังนี้
1. สงครามและการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่
โจทย์นี้ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญที่สุด โดย ดร.สุรชาติ มองว่า โจทย์แรกนี้มี 6 โจทย์ย่อย
1.1 สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ปี 2023 การสู้รบกันระหว่างกองทัพรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขอบเขตความเสียหายและการสูญเสียยังคงเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ขณะนี้กองทัพยูเครนเริ่มขาดแคลนกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบ ขณะที่รัสเซียเองก็เริ่มต้องพึ่งพากระสุนจากเกาหลีเหนือ
ในปี 2024 เราจะเห็นสงครามนี้ครบรอบ 2 ปีเต็ม และก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงคราม คำถามคือโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังสนับสนุนยูเครนในการรบมากน้อยเพียงใด โอกาสเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือแนวโน้มที่สงครามอาจไม่ถึงจุดที่ยุติ 100% แต่ถึงจุดที่ต้องเจรจาและหาทางออกจริงๆ พอจะเป็นไปได้หรือไม่
1.2 สงครามอิสราเอล-ฮามาสในกาซา
วันนี้ต้องยอมรับว่าในทางการทหาร อิสราเอลประสบความสำเร็จไม่น้อย หลังจากถูกกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 โดยอิสราเอลเปิดสงครามเข้าไปในกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศค่อนข้างหนัก ผลที่ตามมาคือความสูญเสียของชีวิตประชาชนและอาคารบ้านเรือนที่พังเสียหายเป็นวงกว้าง โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ชี้ว่า กาซาเป็นเหมือนสุสานของเด็กๆ ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กอาจสูงถึงราว 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะสูงกว่า 20,000 คนก่อนสิ้นปี 2023
ดร.สุรชาติ ระบุว่า ในปี 2024 เราอาจเห็นอิสราเอลค้นพบอุโมงค์ฮามาสได้เพิ่มขึ้น จับสมาชิกฮามาสได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะสามารถชนะสงครามได้ทั้งหมด ปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซาคงยังไม่จบลง ปัญหาในเวสต์แบงก์ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับอื่นๆ
ในปี 2024 จะเป็นไปในทิศทางไหน ข้อเสนอเรื่อง Two States Solution หรือการสร้างรัฐสองรัฐ ระหว่างรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติจะเป็นหัวข้อสำคัญและถูกนำเอามาปัดฝุ่นใหม่ แม้จะมีข้อโต้แย้งจากบางตัวแสดงอยู่บ้างก็ตาม รวมถึงประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูกาซาก็จะได้รับความสนใจไม่น้อย
1.3 ผลสืบเนื่องจากสองสงครามใหญ่
ผลสืบเนื่องจากสงครามสองชุดนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ โดยผลสืบเนื่องจากสงครามยูเครน เราจะเห็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงวิกฤตอาหาร เนื่องจากยูเครนและรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืช โจทย์นี้ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญ
ส่วนผลสืบเนื่องจากสงครามในกาซาจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าคลื่นลูกใหม่ของการก่อการร้าย หลังวันที่ 7 ตุลาคมหรือไม่ ถ้าคลื่นลูกนี้เกิดขึ้นก็จะเข้ามาทดแทนคลื่นลูกก่อนอย่างกระแสคลื่นรัฐอิสลาม (IS) ที่ดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง ไม่แน่ว่าปี 2024 เราอาจเห็นแนวโน้มของเหตุก่อการร้ายที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากปัญหาสงครามชุดใหญ่แล้ว ยังมีสิ่งที่ ดร.สุรชาติ เรียกว่า ‘สงครามในรัฐชายขอบ’ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในซูดาน, อัฟกานิสถาน, ซูดานใต้, มาลี และเมียนมา โดยเฉพาะสงครามในเมียนมาเป็นประเด็นที่ต้องตามดู ถ้าสงครามยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลทหารของเมียนมาจะสามารถแบกรับสถานการณ์สงครามชุดนี้ได้ดีเพียงใด และถ้าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาได้เตรียมความพร้อมไว้บ้างแล้วหรือไม่
1.4 วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน
ดร.สุรชาติ ระบุว่า ประเด็นไต้หวันเป็นเครื่องหมายคำถามมาโดยตลอดตั้งแต่กลางปี 2022 หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการในรอบ 30 กว่าปี สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก โดยในปี 2024 หลายฝ่ายมีความกังวลว่าวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันจะกลายเป็นสงครามใหญ่ โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์กลัวที่สุดคือการได้เห็น 3 สงครามใหญ่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นปี 2024 ช่องแคบไต้หวันยังคงเป็นหัวข้อที่ต้องจับตาดู
1.5 การพัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือกลับมาเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากปิดประเทศเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด คำถามสำคัญคือวิกฤตอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี
ปี 2024 สถานการณ์จะยังคงทรงตัวต่อไปเช่นนี้ หรือจะคลี่คลายไปอย่างไร โดย ดร.สุรชาติ เชื่อว่า ปัจจุบันเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการสร้างขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แล้ว ขีปนาวุธเกาหลีเหนือล่าสุดมีตัวเลขของพิสัยยิงอยู่ที่ประมาณ 15,000 กิโลเมตร แปลว่าเป้าหมายในสหรัฐฯ ทั้งหมดอยู่ภายใต้ขีดความสามารถในการยิงของหัวรบนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
1.6 การขยายตัวของสงครามเย็นใหม่
ผลพวงจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ นำไปสู่การกำเนิดของสงครามเย็น ดร.สุรชาติ คาดการณ์ว่า สิ่งที่จะตามมาในปี 2024 เราจะเห็นสงครามเย็นในภูมิภาคต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่แข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นการขยายตัวของสงครามเย็นในปี 2024 อาจจะปรากฏตัวชัดขึ้น ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงในลาตินอเมริกา เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องจับตามอง
2. ความผันผวนของการเมืองภายในที่มาจาก ‘การเลือกตั้ง’
ดร.สุรชาติ ชี้ว่า ถ้ามองผ่านปี 2024 คงต้องใช้ว่าเป็น ‘The Year of Super Elections’ เพราะว่ามีการเลือกตั้งขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ถ้าเราลองเรียงกันเฉพาะหน้า เราจะเห็นการเลือกตั้งสำคัญดังนี้
มกราคม: ไต้หวัน – หลายฝ่ายเฝ้าจับตาดูว่าพรรคที่สนับสนุนจีนหรือเป็นพรรคชาตินิยมที่ยืนอยู่กับความเป็นไต้หวัน พรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งไต้หวันจะมีนัยสำคัญกับวิกฤตการณ์ข้ามช่องแคบ
กุมภาพันธ์: (อินโดนีเซีย / เบลารุส)
มีนาคม: รัสเซีย ยูเครน – การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียคงคาดเดาได้ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน คงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ในยูเครนแม้จะยังไม่มีความแน่ชัด แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี น่าจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดียูเครนต่อไป
เมษายน-พฤษภาคม: อินเดีย – การเลือกตั้งรอบนี้ นเรนทรา โมดี คงคว้าชัยชนะและนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอินเดียต่ออีกสมัย ไม่ต่างจากปูตินและเซเลนสกี เพราะพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ไม่มีแรงพอที่จะทัดทานกระแสการเมืองของโมดีได้ ชัยชนะของโมดีจะยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมพราหมณ์ฮินดูมีเพิ่มสูงขึ้น
ดร.สุรชาติ อธิบายว่า โมดีเป็นตัวอย่างของ ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Right-Wing Populism) ที่ผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดูกับลัทธิชาตินิยม และการต่อต้านมุสลิมภายในอินเดีย ผนวกด้วยความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านอวกาศ ทุกวันนี้คนแทบไม่รู้สึกว่า โดนัลด์ ทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง หรือแม้แต่โมดีเป็นประชานิยม เพราะการเมืองตะวันตก รวมถึงการเมืองในรัสเซีย จีน และอินเดีย ประชานิยมของพวกเขาขับเคลื่อนทางนโยบายและถูกคิดในกรอบนโยบายขนาดใหญ่ เราจึงไม่เห็นคนกลุ่มนี้แจกเงินให้กับประชาชน
ในขณะที่ประชานิยมไทยเป็น ‘ประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม’ เป็นการเมืองชุดเก่า ซึ่ง ดร.สุรชาติ เรียกว่าเป็น ‘ประชานิยมแบบคอนเซอร์เวทีฟ’ (Conservative Populism) ที่ใช้ในความหมายเพียงแค่ดึงเสียงเพื่อเลือกตั้งจากประเด็นเล็กๆ ดังนั้นประชานิยมในการเมืองไทยจึงเป็นประชานิยมแบบล้าหลังที่ไม่ได้ขยับไปไหน
มิถุนายน: สหภาพยุโรป – การเลือกตั้งในองค์การเหนือรัฐนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุโรปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากที่ผ่านมา อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในเวทีโลก โดยเฉพาะบทบาทในการสนับสนุนยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย
กันยายน: (ออสเตรีย)
ตุลาคม: (จอร์เจีย / ลิทัวเนีย)
พฤศจิกายน: สหรัฐอเมริกา – หลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เพื่อเลือกผู้นำทำเนียบขาวไม่ต่างจากการเลือกตั้งของโลก เพราะผลกระทบต่อการเมืองโลกมีค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016
โดย ดร.สุรชาติ มองว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ถ้าทรัมป์กลับมา การเมืองโลกก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้า โจ ไบเดน ยังคงรักษาเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ เอาไว้ได้ เราอาจเห็นความต่อเนื่องของการเมืองโลกชุดเดิมในปี 2024
ปลายปี 2024 – ต้นปี 2025: (สหราชอาณาจักร
3. ความแปรปรวนของอากาศ
ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ผลกระทบใหญ่จากความแปรปรวนของอากาศมี 4 ส่วน โดย 2 ส่วนแรก คือผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และต่อระบบนิเวศ วันนี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเราไม่สามารถคาดเดาอากาศได้อย่างตรงไปตรงมา เราเห็นอากาศที่มีความแปรปรวนอย่างฉับพลัน บางพื้นที่ก็มีอากาศร้อนรุนแรง ปี 2023 เราเห็นตัวอย่างของคลื่นความร้อน ผู้คนในหลายประเทศรู้สึกว่าโลกร้อนจัดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมถึงสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่
ส่วนที่ 3 ความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการผลิตอาหารของโลก (Food Production) ซึ่งอาจนำไปสู่ ‘วิกฤตอาหาร’ (Food Crisis) ในเวทีโลก ทั้งจากเงื่อนไขทางธรรมชาติและความแปรปรวนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ อาทิ สงคราม เพราะถ้าหากรัฐผู้ผลิตอาหารเข้าสู่สภาวะสงครามแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเด็นความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนที่ 4 คือผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากความแปรปรวนดังกล่าว ทั้งไฟป่า มลภาวะและฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยตรง ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คำถามคือปี 2024 โลกจะยังร้อนขึ้นอีกไหม ฝนจะยังตกชุกเหมือนที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่ และเราจะรับมือกับวิกฤตด้านสภาพอากาศเหล่านี้อย่างไร
4. บทบาทปัญญาประดิษฐ์ (AI)
เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในหลายมิติของชีวิตมนุษย์
ดร.สุรชาติ ระบุว่า ปัจจุบันเราเห็นพัฒนาการของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ข้อถกเถียงในการออกระเบียบหรือการออกมาตรการ (Regulatory) ที่จะควบคุม AI ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยบทบาทของ AI มักจะมีข้อกังวลหลักๆ ใน 2 มิติ คือมิติของการใช้ประโยชน์และมิติของการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการใช้ประโยชน์ที่ขยายไปสู่เรื่องของอาชญากรรม หรือเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีลักษณะข้ามชาติ รวมถึงการพัฒนาอาวุธที่ทันสมัย
โจทย์ AI จะเป็นโจทย์สำคัญอีกชุดหนึ่งที่จะซ้อนเข้าไปกับโจทย์ในข้อที่ 1 อย่างการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ โดยผูกโยงอยู่กับชัยชนะสำคัญที่ว่าใครจะเป็นประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้าหรือควบคุม AI ได้มากกว่ากัน
5. ปัญหาเศรษฐกิจโลก
ดร.สุรชาติ ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจโลกก็คงคล้ายคลึงกันกับทุกปี คำถามสำคัญคือปี 2024 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในอัตราส่วนเท่าใด ถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกควรจะโตอยู่ที่ราว 3-3.1% ซึ่งแน่นอนว่าถ้าโตมากกว่านี้ก็ถือเป็นเรื่องดี
การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ยังผูกโยงอยู่กับวิกฤตเศรษฐกิจในรัฐมหาอำนาจ อาทิ จีน โดยเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิดจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ปัญหาเศรษฐกิจจีนจะมีความผันผวนหรือไม่ ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยธนาคารปี 2024 ก็ยังคงเป็นโจทย์สำคัญทางเศรษฐกิจ
ส่วนโจทย์ใหญ่ที่ยังคงน่ากังวลคือกลุ่มกองกำลังฮูตีในเยเมนประกาศโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดง เพื่อเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลยุติการทำสงครามในฉนวนกาซาในทันที ผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นคือบริษัทเรือสินค้าบางส่วนเริ่มทยอยประกาศเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งทางทะเลแล้ว แปลว่าค่าขนส่งสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น จะมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain)
ถ้าในปี 2024 สถานการณ์โลกยังผันผวน ตะวันออกกลางยังปั่นป่วน ราคาพลังงานก็อาจจะขยับมากขึ้นตามไปด้วย และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน
ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลพวงจากปีเก่า ส่งผ่านไปยังปีใหม่ ยังคงทิ้งโจทย์ใหญ่ๆ ไว้เกือบทั้งนั้น โจทย์ใหญ่จากปี 2023 เรื่องดีมีเรื่องเดียวนั่นคือการระบาดของโรคโควิดเบาบางลง ขณะที่โจทย์ปี 2024 เมื่อมองผ่านเวทีโลกทั้ง 5 โจทย์ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่เกือบทั้งหมด สงคราม ผลพวงจากสงครามและการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจคงจะเข้มข้นขึ้น
ขอเพียงปี 2024 อย่ามีวิกฤตที่ใหญ่กว่านี้ อย่ามีวิกฤตอย่างช่องแคบไต้หวัน และหวังว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี Super Elections จะไม่ทำให้การเมืองโลกผันผวนขึ้นมากกว่าที่เราเห็นในปี 2023
ส่วนเรื่องอากาศปี 2024 เราจะใส่หน้ากากอนามัยให้กับปัญหาอากาศมากกว่าปัญหาโควิด แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าโรคระบาดยังไม่หายไปไหน และความแปรปรวนของสภาพอากาศยังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ขณะที่ปัญหา AI จะเป็นโจทย์ใหญ่ในเวทีโลกแน่ๆ และขอให้เศรษฐกิจโลกในปี 2024 เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจที่จะทำให้เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และปัญหาดอกเบี้ยรุนแรงยิ่งขึ้นกว่านี้
ท่ามกลางสภาวะความผันผวนของโลก ชีวิตยังต้องมีความหวังที่จะเดินไปข้างหน้า ชีวิตในทุกสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก สิ่งเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้มากที่สุดคือ เรายังมีความหวังกับอนาคต
ขอให้ปี 2024 เป็นอีกปีที่เรายังมี ‘ความหวัง’
   โลก 2024
อ สุรชาติ บำรุงสุข
โฆษณา