5 ม.ค. เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

ม.112 : ที่มา สาระ และความเป็นไป

ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 326 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
จากข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสิทธิในการปกป้องตัวเองจากการถูกลบหลู่ ดูหมิ่นด้วยประการใด ๆ ที่ไม่ชอบจากบุคคลอื่น ซึ่งทุกคนสามารถอ้างถึงข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นได้อย่างชอบธรรม ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่ากฎหมายแล้ว ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย
แต่ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปของที่เราเห็นว่าใหม่ย่อมต้องมีวันเสื่อมถอยลง กฎหมายก็เช่นกัน จึงต้องมีการนำมาพิจารณากันใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นความเหมาะสมและเสมอภาคโดยแท้ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีการตั้งคำถามและเรียกร้องถึงความอยุติธรรมอันเกิดจากการบังคับใช้ และดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” ที่สืบเนื่องมานานนับหลายปีด้วยกัน
  • ยุคราชาธิปไตย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ดังนั้นการจะกล่าวเชิงโจมตี ติติง การไม่ใช้ราชาศัพท์ หรือว่ากล่าวอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพระองค์เอง สมาชิกพระราชวงศ์ ข้าราชการในพระองค์ หรือแม้แต่สัญลักษณ์ที่สื่อถึงองค์พระมหากษัตริย์ก็ตาม ให้ถือว่านั่นเป็นการแสดงออกถึงความไม่จงรักภักดี เป็นการทำลายความมั่นคงของแผ่นดินประการหนึ่งไป ลักษณะกฎหมายจึงมีความรุนแรง เพื่อเป็นการคุ้มครองพระเกียรติพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดในฐานะที่เป็นเทวราชา ตามคติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และธรรมราชา ตามคติพระพุทธศาสนา
เมื่ออิทธิพลของชาติตะวันตกได้ไหล่บ่าเข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ก็ได้เกิดนวัตกรรมแผนใหม่ มากมาย เช่น การพิมพ์ ที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เกิดนักคิด นักวิจารณ์คนสำคัญ เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก จึงมีการปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ให้เป็นระบบและมีอารยะมากขึ้น
แต่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพระเกียรติยศยังคงมีอยู่ บทลงโทษส่วนใหญ่จะเป็นการจำคุก ไม่เกินตั้งแต่ 3-10 ปี การปรับเป็นจำนวนเงินอยู่ที่ไม่เกิน 1,000-5,000 บาท (ในสมัยนั้น)
สาระของฐานความผิด อาจมีปรับเปลี่ยนบ้าง เช่น เปลี่ยนจากการคุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์มาเป็นการคุ้มครองทั้งพระราชวงศ์ ก่อนจะมาลงตัวที่ “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ที่สุดแล้วจึงถูกกำหนดให้เป็นฐานความผิดในการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพราะอย่างไร ๆ พระราชอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนต้องรักและเทิดทูนไว้
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทย มีทั้งหมด 5 สิ่งหลัก ๆ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรคชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี (พัดและพระแส้) และฉลองพระบาทเชิงงอน (ภาพ : หนังสือ สถาปัตยกรรม พระบรมมหาราชวัง ๑)
  • ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 แล้ว “กฎหมายคุ้มครองพระเกียรติยศ” ก็ยังคงมีอยู่ แต่คุ้มครองในฐานะสัญลักษณ์และผู้แทนของชาติ ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย หรือที่เรียกว่า “พระประมุขแห่งรัฐ” (Head of State) ซึ่งไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะอำนาจการปกครองสูงสุดเป็นของปวงชน
การปฏิบัติพระองค์ ทั้งในพิธีการทั่วไป ตลอดจนที่เกี่ยวกับทางการเมือง จึงต้องมีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ เรียกว่า “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” เพื่อให้สมกับที่พระองค์ “ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อันมีรากฐานมาจากหลักการพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong)
การนี้ประชาชนจึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ (ภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
  • ยุคหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490
แต่เสรีภาพทางความคิดของประชาชนที่มีต่อในเรื่องนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้เกิดการยักย้ายถ่ายเทพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้กลับมาอยู่ในฐานะของความเป็นชาติเช่นในอดีตอีกครั้ง แล้วบังหน้าด้วยคำว่าประชาธิปไตยไว้ ประกอบกับอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่มีการโจมตีระบอบกษัตริย์โดยแนวคิดคอมมิวนิสต์
จึงมีการตราประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2499 กำหนดให้การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตราที่ 112 มีระวางโทษสูงสุดด้วยการจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งครอบคลุมไปถึงพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงที่ระบอบกษัตริย์กลับมามีบทบาทอย่างเต็มที่ จึงมีการนำฐานความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปเหมารวมกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การจับกุมและปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง มีการดำเนินคดีส่วนใหญ่ที่ศาลทหาร
ต่อมายุคหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค (14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) ได้มีการสร้างแนวคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของการคดโกง ทุจริต จึงทำให้การปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ รวมถึงพระราชอำนาจ ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ในขณะที่การแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเรื่องปกติทั่วไปในนานาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคม มองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเรื่องของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่พยายามล้มล้างระบอบกษัตริย์อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
แล้วกลายเป็น “ข้ออ้าง” อย่างหนึ่งที่นำมาสู่การสังหารหมู่โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียใหม่ โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศ ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี มาเป็นไม่เกิน 3–15 ปี แล้วก็ได้กลายมาเป็นกฎหมายที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน
โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เผยแพร่ในไทยระหว่าง พ.ศ. 2508–2519 (ภาพ : WAY MAGAZINE)
  • ยุคสมัยใหม่
แล้วนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เสมือนว่าเป็น “รัฐบาล” ที่มีหน้าที่ในการให้บริการและสวัสดิการทางสังคม การพัฒนาประเทศ
รวมถึงการเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา สร้างเสริมพระราชอำนาจให้มีความเข้มแข็ง ผลิตเป็นวาทกรรมให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะ “พ่อและแม่แห่งแผ่นดิน” กลายเป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับประชาชนจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น ดังที่เห็นชัดได้มากที่สุดในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 ถึงปลายทศวรษที่ 2550
ขณะที่แนวคิดการเมืองเป็นเรื่องการฉ้อฉลของนักการเมืองยังคงคุกรุ่น ซึ่งประชาชนทั่วไปก็มีส่วนในการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ออกไปอย่าง “ไม่รู้ตัว” นั้น ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถึงแม้จะเป็นการกระทำไปได้โดยสุจริต และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเสรีภาพ เพราะจะเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนผู้จงรักภักดี
เมื่อเวลาผ่านไป การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามสำหรับประเทศไทย ต่อให้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องมากหรือน้อย หรือไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างไรเลยก็ตาม ย่อมสามารถถูกดำเนินคดีในฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ทั้งนั้น หากว่าตัวท่านเป็นผู้มีความคิดที่สวนกระแสไปจากกลุ่มผู้จงรักภักดีทั้งหลาย
พ.ศ. 2549 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด เพราะไม่เคยปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติได้ยาวนานถึงเพียงนี้ นอกจากนั้น พระราชพิธีครั้งนี้ยังมีการชุมนุมพระประมุขและพระราชวงศ์จากประเทศต่าง ๆ ที่มากที่สุดในโลกอีกด้วย (ภาพ : สำนักพระราชวัง)
อ้างอิง :
#AdminField
โฆษณา