30 ธ.ค. 2023 เวลา 15:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
AbbVie (ABBV) บริษัทที่อาจกลายเป็น LVMH เวอร์ชั่นบริษัทยา !
AbbVie ผู้นำยารักษาโรคระบบภูมิคุ้มกัน ยารักษามะเร็ง และเจ้าของสาร Botulinum Toxin หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามโบท็อกซ์ คือบริษัทยาที่มีมูลค่าอันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 9.4 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2566
1
ด้วยมูลค่าบริษัทขนาดนี้ อาจทำให้ใครหลายคนคิดว่า บริษัทยาแห่งนี้ก่อตั้งมานาน เช่นเดียวกับ Johnson & Johnson หรือ Pfizer
แต่เปล่าครับ บริษัทนี้มีอายุแค่เพียง 11 ปีเท่านั้นเอง..
AbbVie เพิ่งก่อตั้งในปี 2012 โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้บริษัทเติบโตได้เร็วขนาดนี้ ก็คือการควบรวม และซื้อกิจการ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง ก็มีการซื้อกิจการเรื่อยมา ซึ่งทำให้ได้ทั้งผลิตภัณฑ์ องค์ความรู้ และยาหลายตัวก็กลายมาเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญให้กับบริษัท
ปี 2015 ซื้อ Pharmacyclics บริษัทยามะเร็ง
ปี 2019 ซื้อ Allergan บริษัทเจ้าของ Botulinum Toxin
ล่าสุด ปี 2023 ก็ซื้อ Immunogen บริษัทยามะเร็ง ต่อยอดยารักษามะเร็งรังไข่
และ Cerevel Therapeutics บริษัทยารักษาโรคทางระบบประสาท
คำถามต่อมาก็คือ แล้วบริษัท AbbVie มีรายได้มาจากยาอะไรบ้าง
จากงบการเงินของบริษัท ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 สัดส่วนรายได้ของบริษัท ประกอบไปด้วย
1.ยารักษาอาการระบบภูมิคุ้มกัน 48 %
โดยยาที่ขายดีที่สุดของบริษัท คือยารักษาโรครูมาตอยด์ Adalimumab ตัวเดียวครองสัดส่วนถึง 28 %
2.ยารักษาอาการทางระบบประสาท 14 %
3.ยารักษามะเร็ง 11 %
4.ยาที่เกี่ยวข้องกับความงาม 10 % สาร Botulinum Toxin อยู่ในส่วนนี้
5.ยารักษาดวงตา 5 %
6.อื่น ๆ 12 %
เรียกได้ว่า บริษัทที่ถูกซื้อกิจการไปในปี 2023 ก็จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนของพอร์ตยามะเร็ง และยารักษาอาการระบบประสาทได้ดี
ซึ่งนับว่าพอร์ตยาที่สร้างรายได้ของ AbbVie ค่อนข้างมีการกระจายตัวที่หลากหลายกว่า เมื่อเทียบกับพอร์ตยาของบริษัทอื่นๆ เช่น Eli Lilly บริษัทยาอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีรายได้มาจากยาเบาหวานกว่า 64 % หรือ Novo Nordisk บริษัทยาอันดับ 2 ของโลก ก็มีรายได้มาจากกลุ่มยาเบาหวาน มากถึง 90 %
อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ AbbVie มีกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow อยู่เท่าไหร่ ?
กระแสเงินสดอิสระ คือกระแสเงินสดที่คงเหลือ หลังจากที่บริษัทได้ใช้จ่ายไปกับทุกกิจกรรมในการทำธุรกิจ รวมถึงเงินที่ใช้ลงทุนไปในธุรกิจด้วย ดังนั้นถ้าบริษัทมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก ก็แปลว่าบริษัทมีสุขภาพทางการเงินที่ดี และถ้าเป็นบริษัทที่ดี ก็จะนำเงินสดนี้ ไปลงทุน ซื้อกิจการที่จะมาเสริมสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ AbbVie ทำมาตลอด
ซึ่ง AbbVie มีกระแสเงินสดอิสระอยู่ราว 24,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 850,000 ล้านบาท
จำนวนนี้มากแค่ไหน มากใกล้ๆกับกระแสเงินสดอิสระของ 3 บริษัทยาที่ใหญ่สุดในโลกรวมกัน คือ Eli lilly มี 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Novo Nordisk มี 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Johnson มี 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือมากพอๆกับมูลค่าของบริษัท AOT เจ้าของสนามบินใหญ่ๆในไทยทั้งบริษัท
เงินสดที่ AbbVie มี สามารถนำไปต่อยอดซื้อบริษัทยาขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดกลางได้หลายบริษัท
ซึ่งสิ่งสำคัญก็ไม่ใช่ซื้อแล้วได้แค่ผลิตภัณฑ์ แต่ได้ทั้งองค์ความรู้ นักวิจัย งานวิจัย
ถ้าซื้อแล้วมีผลิตภัณฑ์ที่ดี ก็จะสร้างรายได้ ต่อยอดเงินสดต่อไปเรื่อยๆ
อีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจก็คือ
AbbVie มีอัตราการจ่ายปันผล สูงราว ๆ 4% ต่อปี และอัตราจ่ายปันผลก็เติบโตต่อปีถึงปีละ 14%..
โฆษณา