1 ม.ค. เวลา 02:48 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ยาน “ปาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ” ของนาซา เตรียมโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เป็นเรื่องปกติที่จะมีการส่งยานสำรวจออกไปศึกษาจักรวาลและอวกาศ แต่ที่ผ่านมา เรามักเห็นการส่งยานสำรวจไปดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ เสียมาก ไม่มีการส่งยานไปใกล้ดาวฤกษ์ รวมถึงดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ด้วยเหตุผลที่
รู้ๆกันอยู่ นั่นคือ ... มันร้อนมาก!
แต่ล่าสุด องค์การนาซา (NASA) กำลังจะสร้างช่วงเวลาที่น่าทึ่ง ด้วยการส่งยานสำรวจเข้าไป “เฉียดดวงอาทิตย์” มากที่สุดในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ
โดยในวันที่ 24 ธ.ค. 2024 ยานปาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซาจะเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 195 กม./วินาที และเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ระยะ 6.1 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเคยเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์ขนาดนี้มาก่อน
ดร.นัวร์ ราอัวฟี นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการปาร์กเกอร์ กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้วเราเกือบจะลงจอดบนดาวฤกษ์แล้ว”
เขาเสริมว่า “นี่จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับมวลมนุษยชาติ ซึ่งเทียบเท่ากับกับการเหยียบดวงจันทร์เมื่อปี 1969 เลยทีเดียว”
สำหรับความเร็วที่สูงถึง 195 กม./วินาที ของยานปาร์กเกอร์ ซึ่งเทียบเท่ากับการบินจากนิวยอร์กไปลอนดอนโดยใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาทีนั้น จะเป็นการอาศัยแรงดึงดูดอันมหาศาลของดวงอาทิตย์ร่วมกับแรงเหวี่ยงตัวช่วยในการเร่งความเร็ว โดยปาร์กเกอร์จะเหวี่ยงตัวตั้งแต่บริเวณใกล้ ๆ ดาวศุกร์เข้าไปยังดวงอาทิตย์
ยานสำรวจปาร์กเกอร์โซลาร์โพรบเป็นหนึ่งในภารกิจที่กล้าหาญที่สุดเท่าที่เคยมีมาของนาซา ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศตั้งแต่ปี 2018 มีเป้าหมายในการโคจรผ่านดวงอาทิตย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเก็บข้อมูล
ในส่วนของการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มาก โดย ณ จุดที่ยานปาร์กเกอร์จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้น มีการประเมินว่า อุณหภูมิที่ด้านหน้ายานอาจจะสูงถึง 1,400 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
กลยุทธ์ของยานปาร์กเกอร์ที่จะทำให้รอดพ้นจากความร้อนระดับนรกเรียกพี่ดังกล่าวได้ คือการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อย่างรวดเร็วและออกไปอย่างรวดเร็ว โดยทำการตรวจวัดสภาพแวดล้อมดวงอาทิตย์ด้วยชุดเครื่องมือที่ติดตั้งไว้ด้านหลังแผ่นป้องกันความร้อนหนา
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การศึกษานี้จะทำให้ได้รับองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับกระบวนการที่สำคัญบางประการของดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะคำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของ “โคโรนา” (Corona) หรือบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ ซึ่งประกอบด้วยอนุภาคพลังงานสูง
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบคือ ทำไมชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ จึงมีอุณหภูมิสูงกว่าชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ซึ่งเป็นชั้นที่ดวงอาทิตย์เปล่งแสงสว่างออกมา แต่อุณหภูมิของดวงอาทิตย์ที่พื้นผิวโฟโตสเฟียร์อยู่ที่ประมาณ 6,000 องศาเซลเซียสเท่านั้น ขณะที่ภายในโคโรนาอาจมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 1 ล้านองศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกทั่วไปที่ว่า อุณหภูมิควรจะลดลงตามระยะห่างจากแกนกลางของดาวฤกษ์
นอกจากนี้ ภายในบริเวณโคโรนานั้น การไหลออกของอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน โปรตอน และไอออนหนัก จะถูกเร่งจนกลายเป็นลมความเร็วเหนือเสียงที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 400 กม./วินาที หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลมสุริยะ” (Solar Wind) ที่มีผลต่อการสื่อสารบนโลก และอาจถึงขั้นกระทบโครงข่ายไฟฟ้าด้วย
ซึ่งในเรื่องของลมสุริยะนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายกระบวนการเกิดได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน
ราอัวฟีกล่าวว่า “สิ่งนี้ทำให้เกิดมิติใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่เรากำลังคิดที่จะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ และมีแผนตั้งถิ่นฐานถาวรบนพื้นผิวดวงจันทร์”
ทั้งนี้ ภารกิจวันที่ 24 ธ.ค. 2024 จะเป็นจุดสูงสุดของภารกิจของปาร์กเกอร์ เพราะมันจะไม่สามารถเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้อีกเลยหลังจากเดือน ธ.ค. เพราะวงโคจรของมันไม่สามารถโคจรผ่านดาวศุกร์ (เพื่อเหวี่ยงตัวไปยังดวงอาทิตย์) ได้อีกต่อไป
>>> เรียบเรียงจาก BBC
โฆษณา