4 ม.ค. เวลา 01:02 • ท่องเที่ยว

วัดเทพธิดาราม วรวิหาร

“วัดเทพธิดารามวรวิหาร” วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย เดิมชื่อ วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง สันนิษฐานว่า เรียกตามบริเวณที่สร้าง ที่เป็นสวนไร่นา และคงเป็นที่ของพระยาไกร เจ้านายหรือขุนนาง
1
“วัดเทพธิดารามวรวิหาร” .. เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดํารงพระอิสริยยศเป็น “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ “พระเจ้าลูกเธอ พระองศ์เจ้าวิลาส” พระราชธิดาองค์ใหญ่ใน รัชกาลที่ 3 ผู้มีพระสิริโฉมงดงาม จนเลื่องลือไปไกล วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2379 เสร็จในปี พ.ศ. 2382
พระองค์เจ้าหญิงวิลาส นอกจากพระสิริโฉมอันงดงามเป็นที่ลือเลื่องแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในพระภารกิจที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมอบหมาย ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” นับเป็นการสถาปนาพระราชโอรสพระราชธิดาครั้งแรกในรัชกาล
จดหมายเหตุทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ บันทึกไว้ว่า “…ถึงปีจอ พ.ศ. 2381 ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอเป็นครั้งแรก 2 พระองค์คือ …ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสิริวงศ์ เป็น กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์…”
กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาและโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิด และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้รักษากุญแจพระคลังข้างในและว่าพนักงานต่างๆ คือ พระสุคนธ์และพระภูษา ทรงกำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายใน
.. ทรงโปรดหนังสือ และการกวี ทรงชุบเลี้ยงกวี แม้แต่พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) ยามตกทุกข์ได้ยากก็ได้รับการอุปการะจากพระองค์หญิงพระองค์นี้ โปรดให้แต่งกลอนถวายและประทานรางวัลให้เลี้ยงชีพพักหนึ่ง จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2388 สิริพระชนมายุ 33 ปี
วัดที่ริมคูเมืองพระนคร ด้านทิศตะวันออก .. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ (ต้นราชสกุล "ลดาวัลย์" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเอมน้อย ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ และสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อวัดว่า “วัดเทพธิดาราม” ตามพระนามกรมของพระราชธิดาพระองค์นี้
ในการสถาปนาพระอารามแห่งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย โดยเมื่อแรกเริ่มสร้างนั้นยังมิได้มีการตั้งชื่อวัด จึงเรียกชื่อวัดพระยาไกรสวนหลวง ตามบริเวณที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรือกสวนไร่นาของพระยาไกร
 
กระทั่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” หมายถึง “อัปสรสุดาเทพ” และยังได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2382
ด้านนอกพระอุโบสถนั้นจะเห็นความงดงาม แปลกตาของศิลปะไทย-จีน ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น ตุ๊กตาหินแบบจีน แต่หน้าตาไทยๆ ห่มสไบนั่งแขนอ่อนคอยต้อนรับผู้คนที่เดินเข้าไปกราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถ
สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นศิลปะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เนื่องจากในช่วงนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีน อิทธิพลของจีนจึงเข้ามามีบทบาท รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงเป็นอาคารแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา แบบวัดในช่วงสมัยอื่น
มีเครื่อง ประดับพระอารามที่เป็นตุ๊กตาจีนสลักหิน มีทั้งรูปคนและสัตว์ ตุ๊กตารูปคนบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน … บางตัวแต่งกายแบบไทย ลักษณะพิเศษที่วัดแห่งนี้คือมีรูปสลักผู้หญิงในลักษณะต่าง ๆ เป็นส่วนมาก
พระอุโบสถ : สัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิง
พระอุโบสถวัดเทพธิดารามวรวิหาร มีรายละเอียดต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์แห่งยุคสมัยนิยม โดยหน้าบันของตัวพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ของการสร้างวัดในรัชสมัยนั้น ๆ
หน้าบันของพระอุโบสถ .. จะเห็นเป็นกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์คู่ ซึ่งในทางคติความเชื่อของจีน หงส์ เป็นเจ้าแห่งสัตว์ปีกทั้งปวง และนำหงส์มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนฮองเฮา อันสื่อถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ ที่มาพร้อมความสวยงาม และคุณธรรมความดีงาม คู่กับมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนฮ่องเต้
.. ดังนั้นรูปหงส์ที่ประดับอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถ จึงมีนัยสื่อถึง "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)" พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั่นเอง
และเมื่อเข้ามายังภายในตัวพระอุโบสถ คุณจะได้ชื่นชมกับภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งผิดกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดอื่น ที่มักนิยมวาดเรื่องราวชาดก
รวมถึงปรากฏภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) ประดับอยู่ตรงประตูทางเข้าภายในตัวพระอุโบสถ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิงด้วยกันทั้งสิ้น
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระปางมารวิชัย จำหลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียก “หลวงพ่อขาว” หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 20 นิ้ว
รัชกาลที่ 3 ทรงให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง นำมาประดิษฐานไว้เหนือเวชยันต์บุษบกอันประณีต ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเทววิลาส”
พระพุทธเทววิลาส : พระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ
พระพุทธเทววิลาส หรือ หลวงพ่อขาว (ชื่อที่ชาวบ้านเรียกทั่วไป) พระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ ปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ประดิษฐานเวชยันต์บุษบก ถือเป็นศิลปวัตถุที่มีความงดงามและหาชมได้ยากยิ่ง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดอัญเชิญพระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) มาจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระราชธิดาในพระองค์
และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระกฐิน ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า "พระพุทธเทววิลาส" มีความหมายว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงามดั่งเทวดาสร้าง ขณะเดียวกันยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) อีกด้วย
ด้านหน้าของพระประธาน มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอิริยาบถยืน ปางห้ามสมุทร 2 องค์ ... กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบอย่างในรัชกาลที่ 3
วิหารภิกษุณี : ชมรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาสมัยพุทธกาล
ไม่ว่าใครก็ตามที่มีโอกาสมาเที่ยวชมวัดเทพธิดารามวรวิหาร จุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ การชมความสวยงามของรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกา จำนวนทั้งสิ้น 52 องค์ หล่อด้วยดีบุกปิดทอง ซึ่งแต่ละองค์ยังมีท่าทางที่แตกต่างกันออกไป
.. นั่ง 49 องค์ ยืน 3 องค์ อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ฉันหมาก สูบยา ยืนไหว้ นั่งพนมมือ ประดิษฐานบนแท่นเบื้องหน้าองค์พระประธานภายในพระวิหาร
ปฏิมากรรมกลุ่มนี้ตั้งอยู่หน้าพระประธานที่ประดิษฐานอยู่เหนือบัลลังก์บุษบก และถึงแม้รูปปั้นเหล่านั้นจะโกนผม แต่ทั้งหมดล้วนกันไร ซึ่งแสดงว่าเธอทั้งหลายเป็นสตรีชาววัง
ท่ามกลางรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาทั้ง 52 องค์ จะมีพระอริยสาวิกาองค์หนึ่งโดดเด่นเป็นสง่า ได้แก่ รูปหล่อ "พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี" ภิกษุณีรูปแรกที่มีส่วนในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่สตรี
.. หากแต่ในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะได้รับการอนุญาตจากพระพุทธเจ้าให้บวชเป็นภิกษุณี ด้วยต้องยึดหลักและปฏิบัติตามครุธรรม 8 ประการ และถือศีล 311 ข้อ ดังนั้นการจะเป็นภิกษุณีได้นั้น จึงต้องอาศัยศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เพื่อที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวิกา
นอกจากนี้ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ โดยมีการนำภาพหงส์มาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงบานประตูและหน้าต่าง ก็ล้วนเป็นลวดลายที่สะท้อนถึงความเป็นสิริมงคลตามคติความเชื่อของจีนทั้งนั้น เช่น ภาพกระถางดอกบัว, ภาพอ่างปลาทอง และภาพกระถางดอกโบตั๋น เป็นต้น
ตำนานภิกษุณี
ในสมัยพุทธกาล แรกเริ่มเดิมทีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีได้ ต่อมา “พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี” ผู้เป็นพระน้านางและพระมาตุจฉา หรือพระมารดาเลี้ยงของพระองค์เอง ได้มีศรัทธาอยากออกบวชจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล
จนกระทั่งพระอานนท์ได้ทูลขอให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องปฏิบัติครุธรรมแปดประการ (แปลว่าข้อปฏิบัติที่หนักและทำได้ยาก) จึงได้กำเนิดภิกษุณีองค์แรก คือ พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี นั่นเอง สันนิษฐานว่า ภิกษุณีองค์ที่มีลักษณะท่านั่งคล้ายพระพุทธองค์ปางมารวิชัย คือ พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี
Photo : Internet
หอไตร : รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก
หอไตรวัดเทพธิดารามวรวิหาร ปรากฏความสวยงามด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลตกแต่งจากจีนตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตูและหน้าต่าง ภายในเป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก เปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดใหญ่ในทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเที่ยวชม
Photo : Internet
ในปี พ.ศ. 2554 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ประกาศว่าหอไตรวัดเทพธิดารามวรวิหารได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น โดยแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกรมศิลปากรนั้นเน้นการปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์เป็นฝีมือช่างแบบดั้งเดิม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการดูแลอย่างต่อเนื่อง
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ... ท่านเคยมาจำพรรษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2383 - 2385 รวมเป็นเวลาทั้งหมด 3 ปี ณ กุฏิในหมู่กุฏิคณะ 7 ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏินี้เอาไว้เป็นอนุสรณ์ถึงสุนทรภู่ และเปิดให้บุคคลทั่วไป นิสิต และนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้จากกวีเอกท่านนี้
เรื่องราวของสุนทรภู่และวัดเทพธิดาราม สามารถเรียนรู้ได้จากพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดแห่งนี้
.. ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ ขณะที่ยังบวชและจำพรรษาในวัดแห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ.2382-2385
โฆษณา