4 ม.ค. เวลา 04:50 • ท่องเที่ยว

โบราณวัตถุ จากเมืองโบราณศรีเทพ

“เมืองโบราณศรีเทพ” .. เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่เคยมีความรุ่มรวยทางอารยธรรม ที่ยาวนานต่อเนื่องกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องจนถึงยุคทวารวดี เขมร จนสุโขทัย เลยทีเดียว และเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยกันมาอย่างต่อเนื่องก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย
.. ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุที่ไม่แน่ชัด ซึ่งไล่เลี่ยกับการเสื่อมของอาณาจักรเขมร
จากหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรมที่ปรากฏ .. แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการติดต่อและรับเอาอารยธรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร ทวาราวดี และจากที่อื่นๆ จนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น และมีเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองศรีเทพ
หลักฐานทางศิลปกรรมอันงดงามที่บ่งชี้ถึงความเก่าแก่ และสะท้อนว่าเมืองโบราณศรีเทพมีความสำคัญอย่างมาก แต่ความพิเศษคือที่นี่มี “เทวรูป” ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถูกเรียกว่าศิลปะ “สกุลช่างศรีเทพ” ปรากฏทั้งในพระสุริยะ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์
โดยเฉพาะ “พระวิษณุ-พระกฤษณะ” ซึ่งค้นพบทั้งหมด 4 องค์ ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องเทวรูปเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“พระสูรยเทพ” (Sūrya cult/Sūrya deity)
การบูชาพระอาทิตย์หรือ “พระสูรยเทพ” เป็นคติความเชื่อเก่าแก่ที่สุดลัทธิหนึ่งของฝ่ายฮินดูมาตั้งแต่ยุคพระเวทที่มีอายุนานกว่า 2,500 ปี โดยรับอิทธิพลคติความเชื่อมาจากการนับถือพระอาทิตย์ในรูปของเทพเจ้าชื่อต่างๆ ในช่วงราชวงศ์อาร์เคเมนิด (Achaemenid) ในอารยธรรมเมโสโปรเตเมีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 1-3
พระสุริยเทพ ในปุราณะฝ่ายอินเดียอธิบายว่า .. ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชพรรณธัญญาหาร ผู้ขจัดความมืดมิด ภูตผีและโรคภัยร้าย มีพระวรกายสีทอง/แดงเพลิง มีรัศมีสีแดงที่เจิดจรัส มีพระมัสสุงาม ประดับราชาแห่งอัญมณี/ทับทิม ที่เป็นบ่อเกิดแห่งพลังสุริยะอันยิ่งใหญ่
ลัทธิบูชาพระสูรยะเทพ ถูกนำเข้ามาจากเปอร์เซียสู่อินเดียราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 และต่อมาประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 11-12 ได้แพร่เข้ามาสู่ดินแดนปากแม่น้ำโขง ผ่านดินแดนชุมชนอินเดียใหม่ที่อีศานปุระ ผ่านถาลาบริวัตรเข้าปากน้ำ/แม่น้ำมูล เดินทางสำรวจต่อไกลออกมาจนสุดปลายทางที่เมืองโบราณศรีเทพ จนได้ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนที่ลึกเข้ามาในภูมิภาคมากที่สุด (ในช่วงเวลานั้น) ปฏิมากรผู้ศรัทธาในพระสูริยะเทพจึงได้เริ่มแกะสลักรูปศิลปะขึ้นเพื่อการบูชาสักการะตามคติความเชื่อของฝ่ายตน
รูปประติมากรรมพระสูริยะ/สูรฺยเทพ ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ .. สวมหมวกทรงกระบอก“กิรีฏมุกุฏ” (Kirīṭamukuṭa) แบบพระวิษณุ มีพระมัสสุยาว พระเครายาวตลอดแก้มและคาง สวมกุณฑลกระหนกใบไม้ทรงก้ามปูใหญ่ สวมสร้อยพระศอประดับแผ่นตาบโค้งลายพรรณพฤกษา
.. ตรงกลางเป็นดอกไม้มีกรอบอัญมณีทับทิมสี่เหลี่ยม นุ่งผ้าคลุมบางยาวประมาณพระชานุ/หัวเข่าแบบศิลปะราชวงศ์ศกะ พระกรหักทั้งสองข้าง (พระหัตถ์ทั้งสองที่หักไปจะถือดอกบัวบาน) ยืนตรงแบบสมภังค์ อีกทั้งยังปรากฏลายเกลียวเชือกศักดิ์สิทธิ์ “อวยังคะ” ในรูปโค้งตกลงแบบบังเหียนคุมม้า ที่หักหายไปเป็นเชือกแบบลอยตัวต่อไปรัดข้อพระกร ตามแบบที่พบในยุคราชวงศ์คุปตะ
การตกแต่งดังกล่าวถือเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสุริยะเทพองค์นี้ เนื่องจากไม่ปรากฏในพระสุริยะเทพประจำศรีเทพองค์อื่น
พระกฤษณะ พุทธศตวรรที่ 12-13 พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ .. เป็นหนึ่งในอวตารของพระวิษณุ แสดงตนในรูปของชายหนุ่มที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เลี้ยงโค โดยยกภูเขาโควรรธณะขึ้นเพื่อกำบังพายุฝนที่เกิดจากการบันดาลของพระอินทร์อดีต
พระสุริยะเทพ พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ .. เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู อยู่ในฐานะเทพชั้นรองตามไวษณพนิกาย (นิกายในศาสนาฮินดูที่นับถือพระวิษณุเป็นพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่าเทพใดๆ) และเทพสูงสุดตามเสาระนิกาย ปรากฏลักษณะทางประติมานวิทยาที่สำคัญ คือ สวมศิราภรณ์ทรงกระบอก ประดับประภามณฑลด้านหลังพระเศียร ถือดอกบัวทั้งสองพระหัตถ์
พระวิษณุ 4 กร ..
เศียรพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ และ เศียรพระพุทธรูป พุทธศตวรรษที่ 13-14 เดิมจำหลักที่ผนังถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายจิม ทอมสัน นำมาให้เมื่อ พ.ศ. 2505
ชิ้นส่วนพระหัตถ์ พุทธศตวรรษที่ 13-14 เดิมจำหลักที่ผนังถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายจิม ทอมสัน นำมาให้เมื่อ พ.ศ. 2505
สมบัติล้ำค่าของศรีเทพในต่างแดน
นอกจากโบราณวัตถุจากศรีเทพ ที่มีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยแล้ว ยังมีโบราณวัตถุและมรดกจากศรีเทพมากมายหลายชิ้นที่ถูกนำไปในที่ต่าง ๆ ทั้งไทยและเป็นสมบัติที่ถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศรีเทพ
.. เช่น ประติมากรรมพระนารายณ์สวมหมวกทรงแปดเหลี่ยม ที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย (The Honolulu Museum of Art),
.. พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน (Norton Simon Museum), พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (The Metropolitan Museum of Art) ในสหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในอังกฤษ เป็นต้น
“วิจิตรศิลป์แลศรัทธาบนแผ่นดุนทอง” จากเมืองโบราณศรีเทพ
ศิลปะ “การดุนแผ่นทอง/เงิน” .. เกิดขึ้นครั้งแรกพร้อม ๆ กับการที่มนุษย์นำทองคำจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีการค้นพบในหลายแหล่งอารยธรรมของโลก และถือได้ว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่มนุษย์จะเลือกใช้โลหะมีค่าอย่างทองคำ หรือโลหะเงิน ที่มีความแวววาวในตัวเอง มาตีความร้อนเป็นแผ่นบาง แล้วรังสรรค์เป็นงานศิลปะด้วยการ “ตอกดุน” ลงไปบนแผ่นด้วยความละเอียดประณีต จนนูนขึ้นเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งใช้เพื่อเป็นเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ที่งดงาม เครื่องใช้ของราชวงศ์ผู้ปกครอง จารึกและงานศิลปะในคติความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์
ศิลปะบนแผ่นดุนทองในคติความ เชื่อเพื่อใช้เป็นสิ่งของมีค่าอุทิศถวายแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งของฝ่ายพุทธและฮินดูในอินเดียนั้น คงได้มีการสร้างขึ้นมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ที่แทบไม่หลงเหลือมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทองคำเป็นโลหะมีค่า สามารถนำมาหลอมใช้ใหม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด
งานศิลปะจากทองคำของฝ่ายพุทธแบบต่าง ๆ รวมทั้งเหรียญกษาปณ์ทองคำในยุคโบราณจึงถูกปล้นสะดมไปจากราชวงศ์-อาณาจักรที่พ่ายแพ้ ทั้งยังถูกขุดรื้อเอาออกจากพระสถูป นำไปแปรเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์อื่น
เมืองโบราณศรีเทพ และอาณาบริเวณโดยรอบ .. ได้เคยมีการขุดหาและพบแผ่นดุนทอง/เงิน ในคติความเชื่อทางศาสนา “เป็นจำนวนมากมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2490-2520” แล้วได้ถูกนำไปขายต่อแก่ชาวต่างชาติและคนไทย
.. ซึ่งปัจจุบัน หลายชิ้นได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งใน
สหรัฐอเมริกา ทั้ง Houston Museum ,Norton Simon Museum ,Cleveland Museum of Art และ Metropolitan Museum of Art และอย่างที่ Victoria and Albert Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีจัดแสดงงานศิลปะแผ่นดุนทอง ทั้งในคติความเชื่อฮินดูและพุทธศาสนามหายาน หลายแผ่นมีคำอธิบายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ได้มาจากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์”
ลวดลายบนแผ่นดุนทอง/เงิน .. สะท้อนร่องรอยคติชนความเชื่อในแต่ละยุคสมัยของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพ ในช่วงวัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์/ทวารวดี ได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างงานดุนแผ่นทอง/เงินบางชิ้นที่พอจะพบได้ในพิพิธภัณฑ์ต่างแดน
แผ่นดุนทองรูปพระวิษณุ 4 กร ขนาด 30.2*16.2 เซนติเมตร ยืนเอียงตริภังค์ (Tribhaṅga) ถือจักรสังข์คทาและก้อนปฐพี สวมหมวกทรงกระบอกเหลี่ยมมีบัวบานบนยอด มีศิรจักรล้อมรอบ ขนาบด้วยเส้นลายเมฆ รัดพระองค์ด้วยสังวาลปล้องต่อ คาดผ้ากฏิสูตรที่ต้นพระเพลา ปล่อยหลวมด้านหนึ่งจนผ้าเฉียง ม้วนทบเป็นหูแล้วทิ้ง ชายผ้าที่ข้างลำตัว มีบริวารเป็นคนแคระผมหยิกถือดอกบัว ศิลปะประมาณช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 13 /Norton Simon Museum รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระวิษณุ 4 กร ขนาด 7.6 *4.5 เซนติเมตร ยืนเอียงตริภังค์ (Tribhaṅga) ถือจักรสังข์คทาและก้อนปฐพี สวมหมวกทรงกระบอก 8 เหลี่ยมผายมีแผ่นตาบประดับ มีศิรจักรรัศมี (Sirachakra) ล้อมรอบ นุ่งภูษาสัมพตสั้น คาดลายริ้วอัญมณีกลมเฉียง รัดพระองค์ด้วยผ้า ทิ้งชายซ้อนทบที่พระโสณีขวา ศิลปะประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Cleveland Museum of Art สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระจันทรา ขนาด 9.5*4.8 เซนติเมตร ยืนเอียงตริภังค์ (Tribhaṅga) เล็กน้อย ถือจักรสังข์คทาและก้อนปฐพี สวมหมวกทรงกระบอกเหลี่ยมผายยอดกลีบดอกไม้คว่ำ มีแผ่นตาบประดับ มีศิรจักรรัศรูปกลมใหญ่ที่มีรูปกระต่ายอยู่ภายใน ในความหมายของพระจันทรา แสดงวิตรรกะมุทรา นุ่งภูษาสัมพตสั้น ชักผ้าทิ้งชายสั้น ศิลปะประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Norton Simon Museum รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระจันทรา ขนาด 10*4.5 เซนติเมตร ยืนเอียงตริภังค์ (Tribhaṅga) เล็กน้อย ถือจักรสังข์คทาและก้อนปฐพี สวมหมวกทรงกระบอกเหลี่ยมผายยอดกลีบดอกไม้คว่ำ มีศิรจักรรัศรูปกลมใหญ่ที่มีรูปกระต่ายอยู่ภายใน ในความหมายของพระจันทรา แสดงวิตรรกะมุทรา นุ่งภูษาสัมพตสั้น ชักผ้าทิ้งชายสั้น ศิลปะประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนเงินรูปพระศากยมุนีแสดงธรรม ขนาด 5*14 เซนติเมตร ประทับ (นั่ง) แบบอานธระประเทศ (ไขว้ข้อพระบาท มีศิรจักรรอบพระเศียร พระหัตถ์แสดงวิตรรกะมุทราแบบยกพระกรตั้งและแบบราบ ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Victoria and Albert Museum ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แผ่นดุนทองรูปพระศายมุนีประทับยืนบนดอกบัวปัทมะเหนือดอกบัวใต้ต้นโพธิ์ ประกอบรูปพระสถูปและพระอาทิตย์ ขนาด 15.2 * 6.7 เซนติเมตร ยืนตรงสมภังค์ (Samabhaṅga) พระหัตถ์แสดงวิตรรกะมุทราและกำชายจีวรรั้งขึ้นเล็กน้อย ศิลปะและคติช่วงประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน (ระบุว่าพบจากประเทศไทย อาจได้มาจากเมืองศรีเทพ ?)/Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitābha) ยืนแสดงวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ ขนาบข้างด้วยพระพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ มุ่นมวยผมแบบ “ชฏามุกุฏ” ถือร่มฉัตร ประทับยืนบนดอกบัวที่ต่อก้านออกมาจากฐานบัวของพระอมิตาภะ ขนาด 11*8.5 เซนติเมตร ไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน (ระบุว่าพบจากประเทศไทย อาจได้มาจากเมืองศรีเทพ ?) ศิลปะและคติในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 13 /National Taiwan Museum กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน
แผ่นดุนทองขนาด 5.7* 9.2 เซนติเมตร รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ/ศากยมุนี แสดงวิตรรกะมุทรา 2 พระหัตถ์ ? ขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์ 4 กร (ประทับ) นั่งในท่าวีราสนะ (Vīrāsana) ไขว้ข้อพระบาทแบบอานธระประเทศ เหนือดอกบัว เรียง 3 ตามแบบตันตระ (Trinity) แทรกด้วยรูปธรรมจักรและพระสถูป อาจพบจากถ้ำพระ เขาถมอรัตน์ ศิลปะและคติในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 14 /Norton Simon Museum รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ (Bodhisattva Maitreya) 2 แผ่น ขนาด 7*12.1 และ 7.3*10.8 เซนติเมตร (ประทับ) นั่งในท่าวีราสนะเหนือดอกบัว มวยผมทรงกระบอกมีรูปสถูป มีศิรจักรรัศมีล้อมรอบพระเศียร พระหัตถ์ถือหม้อน้ำและก้าน-ดอกบัว อาจพบจากถ้ำพระ เขาถมอรัตน์ ศิลปะและคติในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Norton Simon Museum รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
แผ่นดุนทองรูปพระโพธิสัตว์ไมเตรยะไม่ทราบขนาดชัดเจน (ประทับ) นั่งในท่าวีราสนะ มวยผมทรงกระบอกเป็นริ้วมีรูปสถูป มีศิรจักรรัศมีล้อมรอบพระเศียร ขนาบด้วยรูปสถูปและธรรมจักร พระหัตถ์ถือหม้อน้ำและก้าน-ดอกบัว ระบุว่านำมาจากถ้ำพระ เขาถมอรัตน์ ศิลปะและคติในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /Jim Thompson House collection กรุงเทพมหานคร
แผ่นดุนทองรูปพระโพธิสัตว์ขนาด 5.4*3.6 เซนติเมตร (ประทับ) นั่งในท่าวีราสนะบนดอกบัว มวยผมทรงกระบอกเป็นริ้ว มีศิรจักรรัศมีล้อมรอบพระเศียร ขนาบด้วยรูปสถูปและธรรมจักร พระหัตถ์ถือหม้อน้ำและก้าน-ดอกบัว ระบุว่านำมาจากถ้ำพระ เขาถมอรัตน์ ศิลปะและคติในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 /The Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา (บริจาคโดยนายจิม ทอมป์สัน)
แผ่นดุนทองรูปพระโพธิสัตว์ยืน ขนาด 7.9 *3.7 เซนติเมตร มุ่นมวยผมกลม มีศิรจักรรัศมีล้อมรอบพระเศียร พระหัตถ์ถือดอกบัว และแสดงวิตรรกะมุทรา ศิลปะและคติในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 14 /The Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา (บริจาคโดย Samuel Eilenberg)
แผ่นดุนทองรูปพระโพธิสัตว์ ขนาด 7.4 * 4.2 เซนติเมตร มวยผมทรงกระบอกเป็นริ้ว มีศิรจักรรัศมีซ้อนล้อมรอบพระเศียร พระหัตถ์ถือดอกบัว ศิลปะและคติในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 /The Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา (บริจาคโดย Dr. and Mrs. Roger Stoll)
“วิจิตรศิลป์แลศรัทธาบนแผ่นดุนทอง”จากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แสดงร่องรอยคติความเชื่อ ควานนึกคิดของผู้คนหลายยุคสมัยตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 (หรืออาจเลยมาถึงพุทธศตวรรษที่ 15)
จากรูปดุนพระวิษณุอันสง่างาม รูปพระจันทรา จากคติฮินดูในนิกายสมารตะ/ไวษณพนิกาย รูปพระพุทธเจ้าศากยมุนีในคติมหายานจากอิทธิพลราชวงศ์ปาละ+อานธระประเทศ รูปสมณโคตม สถูปและเจดีย์จากคติคณะมหาวิหารฝ่ายอานธระประเทศ รูปพระโพธิสัตว์ในคติมหายานจากอิทธิพลราชวงศ์ปาละ รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะในนิกายสุขาวดีจากจีน จนถึงรูปพระโพธิสัตว์ในคติฝ่ายตันตระจากอิทธิพลนิกายคณะอภัยคีรีวิหารจากลังกา
.. ล้วนส่งอิทธิพลเข้ามาผสมผสานกันในแต่ละช่วงเวลา จนทำให้เกิดเป็นนิกาย/ลัทธิ/คติความเชื่อใหม่ของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีงานศิลปะและคติผสมกลมกลืนอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตนเองในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ทั้งยังขยายอิทธิพลทางความคิดศรัทธาแบบ “ศิลปะศรีเทพ” (Śrī thep Style) ออกไปสร้างรูปศิลปะใน “ทวารวดีอีศาน” (ทั้งฝ่ายหินยาน- เถรวาท- สถวีรวาท-ศราวกยานและฝ่ายมหายาน) ไกลลงไปถึงอีสานใต้“ศิลปะศรีจานาศะ”(Śrī Cānāśa) และเขตโตนเลสาบตอนบน
Ref : EJeab Academy
โฆษณา