5 ม.ค. เวลา 07:38 • ท่องเที่ยว

Amazing Global Geopark แดนอีสาน

ภาคอีสาน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นดินแดนที่ร้อนและแห้งแล้ง .. หากเพียงแต่มองลึกลงไปจะพบว่า ดินแดนอีสานเป็นภูมิภาคที่รวมเอาสิ่งดีๆทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไว้ใน้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา
จีโอพาร์ค (Geopark) หรืออุทยานธรณี เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ภูมิประเทศและแหล่งธรณีวิทยามีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่นมีแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญสัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยา และมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งในด้านการอนุรักษ์ การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน .. โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากล่างสู่บน (bottom-up) เชื่อมโยงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
“โคราชจีโอพาร์ค” (KHORAT Geopark) ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) จากการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 24 พฤษภาคม ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
.. ส่งผลทำพให้จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เป็นเมืองที่ 4 ของโลกต่อจากประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก (Korat The UNESCO Triple Heritage City) ในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย 1) มรดกโลก (World Heritage) ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และ 3) โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark)
โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark) ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำภอต่อเนื่องกันในบริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง คือ อำเภอเมือง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
อุทยานธรณีโคราชมีจุดเด่นคือ มีภูมิประเทศแบบ “เควสตา” หรือ “เขารูปอีโต้” และ “ฟอสซิล 3 ยุค” ได้แก่ ยุคครีเทเชียส ยุคนีโอจีน และยุคควอเทอร์นารี ซึ่งมีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลกที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วโลก คือ เป็นดินแดนแห่งเควสตาและ ฟอสซิล (Cuesta & Fossil Land) ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี
7 สิ่งน่าทึ่งของอุทยานธรณีโลกโคราช
1.”เขารูปอีโต้” : เป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาระดับนานาชาติและเป็น 1 ใน 2 สิ่งอันโดดเด่นสำคัญของอุทยานธรณีโลกโคราช
เขารูปอีโต้ หรือ “เควสตา” หรือ “เควสตาโคราช” (Khorat Cuesta) มีลักษณะเป็นสันเขาหินทรายหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพาน ทอดตัวเป็น 2 แนวคู่ขนานกันจำนวนกว่า 20 เขา ตลอดแนวขอบที่ราบสูงโคราชและแนวภูพาน บนความสูงระหว่าง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมความยาวราวกว่า 1,700 กิโลเมตรนับเป็นเควสตาที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
สำหรับจุดชมเขารูปอีโต้อันเด่นชัดก็คือที่ “วัดป่าภูผาสูง” (อ.สูงเนิน) ที่สามารถมองเห็นเขารูปอีโต้ในระยะใกล้โดยมีเจดีย์ของวัดเป็นฉากหน้าดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์
และที่จุดชมวิว “ผายายเที่ยง” ซึ่งสามารถมองเห็นเขารูปอีโต้ในระยะไกลในมุมกว้างผ่านลำน้ำลำตะคอง ที่กัดกร่อนเทือกเขาหินทรายในแนวดิ่ง จนเกิดเป็น “ช่องเขาน้ำกัด” (water grab) ตัดแนวเทือกเขาออกจากกัน ทำให้ลำตะคองได้ชื่อว่าเป็น “ธารน้ำบรรพกาล” (antecedent stream)
2.”ฟอสซิล 3 ยุค” : อุทยานธรณีโลกโคราชถูกยกเป็น “มหานครแห่งบรรพชีวิน” เนื่องจากมีการค้นพบฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์จำนวนมาก รวมถึงช้างดึกดำบรรพ์-สัตว์ร่วมยุค และไม้กลายเป็นหิน
นอกจากนี้อุทยานธรณีโลกโคราชยังมีความโดดเด่นสำคัญคือการเป็นดินแดน “ฟอสซิล 3 ยุค” ซึ่งได้แก่
-“ยุคครีเทเชียส” พบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคครีเทเชียสตอนต้น มีอายุราว 110 ล้านปีก่อน ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา อ.ขามทะเลสอ และ อ.สูงเนิน
-“ยุคนีโอจีน” พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์-พืชร่วมยุค ในสมัยไมโอซีนตอนกลางถึงสมัยไพลโอซีน มีอายุราว 16 – 2.6 ล้านปีก่อน ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ
-“ยุคควอเทอร์นารี” พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์-พืชร่วมยุค (มีอายุราว 2.6 – 0.01 ล้านปีก่อน) บในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองนครราชสีมา
3.“แหล่งไดโนเสาร์” : ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา และอำเภอใกล้เคียง พบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนนับพันชิ้น ฟันไดโนเสาร์มากกว่า 200 ชิ้น รวมถึงพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ, สยามโมดอน นิ่มงามมิ และ สิรินธรน่า โคราชเอนซิส
นอกจากนี้ยังมีการพบ ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อจำพวก “คาร์คาโรดอนโตซอร์” ที่คาดว่ามีความยาวมากกว่า 10 เมตร, เต่าพันธุ์ใหม่ของโลกชนิด คิซิลคูเมมิส โคราชเอนซิส และ จระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลก โคราโตซูคัส จินตสกุลไล อีกด้วย
สำหรับจุดชมแหล่งค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สำคัญก็คือ “หลุมฟอสซิลไดโนเสาร์” แหล่งบ้านสะพานหินและบ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งมีหลุมจำลองแสดงหินที่มีฟอสซิลจริงของไดโนเสาร์ อายุราว 110 ล้านปีก่อน ในหินกรวดมนปนปูนสีน้ำตาลแดง
โดยพบสัตว์พันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล/ชนิด คือ ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า, จระเข้โคราโตซูคัส และเต่าจมูกหมูโคราชเอนซิส รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาทิ เทอโรซอร์, ปลาฉลามน้ำจืดไฮโบดอนต์ , ปลาเกล็ดแข็ง เลปิโดเทส และ หอยไทรโกนอยเดส เป็นต้น
4.”แหล่งฟอสซิลช้างลุ่มน้ำมูล” : ใน อ.เฉลิมพระเกียรติและ อ.เมืองนครราชสีมา มีการพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ (มีอายุอยู่ในช่วง 16 - 0.01 ล้านปี) หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในโลก ถึง 10 สกุล จาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก
สำหรับจุดท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับช้างดึกดำบรรพ์นั้นก็คือที่ “พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์” อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่จัดแสดงชิ้นส่วนกระดูกต่าง ๆ ของช้างดึกดำบรรพ์จากแหล่งบ่อทรายต่าง ๆ รวมถึงสัตว์ร่วมยุคต่าง ๆ
นอกจากนี้ก็ยังมี “บ่อทรายพระพุทธ” อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่เป็นแหล่งค้นพบช้างดึกดำบรรพ์ อาทิ ช้างสเตโกโลโฟดอน ช้างสเตโกดอน ช้างไซโนมาสโตดอน รวมถึงพบสัตว์ร่วมยุค อย่างเช่น แรด ฮิปโปโปเตมัส เต่า จระเข้ อีกทั้งยังพบไม้กลายเป็นหินอีกด้วย
5.”แหล่งฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน” : พบกระจายทั้งบน ผิวดิน และใต้ดินในทุกอำเภอของอุทยานธรณีโลกโคราช
โดยมีความโดดเด่นคือ พบในปริมาณมาก และพบเป็นพันธุ์ใหม่ของโลกหลายชนิด บางชนิดมีเนื้อสวยงามดังอัญมณี
สำหรับจุดชมไม้กลายเป็นหินสำคัญก็คือที่ “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” อ.เมืองนครราชสีมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จัดแสดงฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่ดีที่สุดในเมืองไทย โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่แห่งแรกของเอเชียและเป็น 1 ใน 8 แห่งของโลก
6.”แหล่งประวัติศาสตร์หินตัดสีคิ้ว” : เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มีลักษณะเป็นเนินหินทรายเนื้อหยาบพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร บนเขาเหิบ บริเวณนี้ พบหลุม รูปหม้อหรือ กุมภลักษณ์หลายขนาด เป็นต้น
แหล่งหินตัดแห่งนี้ บางจุดมีร่องรอยก้อนหินถูกตัดและเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ส่วนบางจุดก็มีการสกัดเป็นร่องขนานแต่ยังไม่ได้สกัดตัดออกไป
7.”พระนอนหินทราย” หรือ “พระพุทธไสยาสน์” วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน .. พระนอนองค์นี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีก่อน ถือเป็นพระนอนหินทรายที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย องค์พระมีความยาว13.00 เมตร สูง 2.50 เมตร เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่โดดเด่นมากแห่งหนึ่งของไทย
เนื้อความบางส่วนจาก :
โฆษณา