5 ม.ค. เวลา 12:02 • ท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โคราช

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โคราช (Petrified Wood Museum)
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน Geopark โคราช ... เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ และเป็นที่เที่ยวนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งใน จีโอพาร์ค โคราช ที่ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น UNESCO Global Geopark หรือ อุทยานธรณีโลก อีกด้วย วันนี้จึงชวนมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวทางธรณีวิทยาด้วยกันได้เลยค่ะ!
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โคราช หรือ Korat Fossil Museum สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ... เป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องธรณีวิทยามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการทางธรณีวิทยา โดยแบ่งโซน แบ่งหมวดหมู่ในการนำเสนอ ทำให้น่าสนใจ และใช้สื่อต่างๆ แสง สี เสียง ในการนำเสนอ ให้เราได้เข้าใจสิ่งที่เดิมเราคิดว่าเป็นเรื่องยาก แบบหินๆทั้งนั้น .. ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ และสนุก
ส่วนที่น่าสนใจมาก คือ การเล่าถีงวิวัฒนาการของสัตว์ต่างๆ และ ไดโนเสาร์ ให้เราได้ดูอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นทั้งที่เที่ยวของคนรักพิพิธภัณฑ์ และ ที่เที่ยวครอบครัว สำหรับเด็กๆ ที่พลาดไม่ได้เลยค่ะ
ห้องฉายวีดิโอแอนิเมชั่น : กำเนิดโลก วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตและประวัติพิพิธภัณฑ์ เป็นห้องฉายขนาด 30 ที่นั่ง พื้นไหวสะเทือนได้ สัมพันธ์กับเนื้อหาบนจอภาพที่มีอยู่ 3 จอ
ห้องฉายวีดิโอแอนิเมชั่น : กำเนิดไม้กลายเป็นหินโกรกเดือนห้า เป็นห้องฉายที่จำลองบรรยากาศป่าดงดิบและลำน้ำที่ไหลมาจากแดนไกล ภาพม่านน้ำตกซึ่งเป็นจอภาพด้วย ฉายให้เห็นถึงกำเนิดไม้กลายเป็นหินในบริเวณบ้านโกรกเดือนห้า
 
โซนไม้กลายเป็นหิน
ไม้กลายเป็นหินพบได้ในเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน .. จึงมีการรวบรวมบางส่วนมาจัดแสดง ณ ภายในห้องจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ และจัดวางในพื้นที่รอบๆในงานภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ โดยแยกเป็นโซนพื้นที่ของไม้กลายเป็นหินจังหวัดต่างๆ
.. ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จะเน้นในส่วนของไม้กลายเป็นหินที่พบในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการจัดแสดงทั้งในรูปแบบของการจัดบอร์ดนิทรรศการ และมีตัวอย่างของไม้กลายเป็นหินให้ชม
ส่วนแรกเป็นห้องเกียรติคุณไม้กลายเป็นหิน .. รำลึกถึงบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง มีตัวอย่างไม้ที่กลายเป็นหินให้ชม
ตัวอย่างไม้ที่กลายเป็นหิน .. น่าทึ่งมาก
จัดแสดงฟอสซิลของไม้ที่กลายเป็นหินที่ดีที่สึดในเม่องไทย และมีขนาดใหญ่แห่งแรกของเอเซีย และเป็น 1 ใน 8 ของพิพิธภัณฑ์ไม้ที่กลายเป็นกินที่ดีที่สุดของโลก
.. ห้องนิทรรศการไม้กลายเป็นหินอัญมณี แสดงไม้กลายเป็นหินอัญมณีขนาดใหญ่ หลากหลายอายุ
.. ไม้กลายเป็นหินตระกูลปาล์ม ซึ่งเป็นความโดดเด่น 3 อย่างของไม้กลายเป็นหินในจังหวัดนครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์
พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ .. เป็นโซนที่แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรายังตื่นเต้นไปด้วย
การก่อตั้งขึ้น เนื่องจากการขุดค้นพบ ซากช้างดึกดำบรรพ์ จำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา และมีหลากหลายสายพันธุ์มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย
การขุดค้นพบจะอยู่ในระดับความลึกช่วง 5-40 เมตร จากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและสาขา ครอบคลุมพื้นที่ราว 4,000 ไร่ ของตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โนนสูง จักราช พิมาย .. เป็นหนึ่งในการค้นพบของโลกที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด มีซากช้างโบราณจำนวนมากถึง 10 สกุลจาก 55 สกุลทั่วโลก
วิวัฒนาการของช้างเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 40 ล้านปีที่แล้ว ในทวีปแอฟริกา โดยเริ่มต้นจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเท่าหมู ที่ชื่อ โมริเธอเรียม (moeritherium) สัตว์ชนิดนี้หนักประมาณ 100 กิโลกรัม และยังไม่มีงวงหรืองาแต่อย่างใด จากหลักฐานของซากดึกดำบรรพ์แสดงให้เห็นว่า โมริเธอเรียมใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ตามหนองน้ำและกินอาหารจำพวกพืชใบอ่อน
เมื่อสภาพอากาศของโลกเย็นลง ป่าดิบชื้นและพื้นที่หนองบึงที่เคยมีอยู่มากมายในทวีปแอฟริกาเริ่มลดน้อย พวกโมริเธอเรียมต้องออกเดินทางไกลขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำและอาหาร ทำให้ขาของพวกมันเริ่มยาวขึ้น การมีขาที่ยาวขึ้นแม้จะมีข้อดีในการทำให้เดินทางได้ไกลและเร็วขึ้น ทว่าก็ทำให้การกินอาหารตามพื้นทำได้ยาก พวกมันจึงเริ่มพัฒนาริมฝีปากบนและจมูกให้ยาวขึ้นจนมีลักษณะเป็นงวงสั้นๆ
30 ล้านปีก่อน ช้างยุคแรกได้มีวิวัฒนาการมาจากโมริเธอเรียม นั่นคือ ฟิโอเมีย (phiomia) ซึ่งนอกจากจะมีงวงสั้นๆ แล้ว พวกมันยังมีงาขนาดเล็กสี่กิ่งเพื่อช่วยในการช้อนพืชน้ำขึ้นมาเป็นอาหารอีกด้วย
จนกระทั่งเมื่อ 10 ล้านปีที่แล้ว พวกช้างก็ได้วิวัฒนาการจนมีลักษณะของฟันและงาในรูปแบบต่างๆที่เหมาะกับอาหารของพวกมัน
อย่างไรก็ตาม ช้างเหล่านี้ ก็ยังดูไม่เหมือนกับช้างในยุคปัจจุบัน พวกมันมีหัวกระโหลกค่อนข้างยาว งาสั้นหนาและส่วนใหญ่จะมีสี่กิ่ง อย่างเช่น เตราโลโฟดอนที่สูงเกือบสามเมตรและมีงาสั้นหนาสองคู่งอกจากขากรรไกรบนและล่าง แพลททีเบโลดอนซึ่งมีงาสองคู่เช่นกัน โดยคู่บนเป็นงาสั้นๆ มีปลายโค้งลง ส่วนงาคู่ล่างนั้นแบนใหญ่คล้ายพลั่ว หรืออย่างไดโนเธอเรียมที่มีขนาดเท่าๆ กับช้างในยุคปัจจุบัน แต่มีงาอยู่ที่ขากรรไกรล่างสองกิ่งและปลายงาชี้ลงต่ำ
เมื่อ 5 ล้านปีที่แล้ว ได้มีช้างอีกชนิดหนึ่งที่วิวัฒนาการขึ้นมา นั่นคือ พวกสเตโกดอน พวกมันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับช้างที่เราคุ้นเคยกัน ยกเว้นลักษณะของกระโหลกที่เป็นโดมคอนข้างสูงและฟันที่มีลักษณะแตกต่างไปจากช้างยุคปัจจุบัน
หลังจากโลกเข้าสู่ยุคพลีสโตซีน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 2 ล้านปีก่อน พวกช้างได้แพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางจนเกิดชนิดพันธุ์ต่างๆขึ้นมากมาย โดยนอกจากจะมีช้างแบบเดียวกับในยุคปัจจุบันแล้ว ยังมีช้างชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ช้างอะนันคัสที่มีงาเป็นเส้นตรงยาวถึงสี่เมตร
ช้างแมมมอธขนยาวงาโค้งที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ ช้างมาสโตดอนที่ดูคล้ายกับแมมมอธขนยาวแต่มีลำตัวที่ยาวกว่า และช้างโคลัมเบียนแมมมอธซึ่งเป็นช้างที่ใหญ่ที่สุด โดยสูงกว่าสี่เมตรและหนักกว่าสิบตัน นอกจากนี้ยังมีช้างแคระหลายชนิดอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ ในยุโรปและเอเชียด้วย
ช้างชนิดต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่วไป ทั้งในทวีปอาฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และบางส่วนของอเมริกาใต้ โดยถือเป็นหนึ่งในสัตว์กินพืชที่ประสบความสำเร็จในการขยายเผ่าพันธุ์มากที่สุดในยุคนั้น อย่างไรก็ตาม ช้างเกือบทุกชนิดก็ได้สูญพันธุ์ไปหลังการสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งเมื่อ 10,000 ปีก่อน คงเหลือช้างเพียงสามชนิดในปัจจุบันเท่านั้น คือ ช้างทุ่งแอฟริกา ช้างป่าแอฟริกา และ ช้างเอเชีย
ความเก่าแก่ ที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยไมโอซีนตอนกลาง ถึงสมัยไพลสโตซีนตอนต้น หรือ 16-0.8 ล้านปีก่อนเลยทีเดียวนั้น ทำให้น่าศึกษา เรียนรู้เป็นอย่างมาก
กรามช้างดึกดำบรรพ์
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ นครราชสีมา
ในจังหวัดนครราชสีมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตตำบลสุรนารี และตำบลโคกกรวด เคยเป็นที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์
… มีอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ allosaurid, iguanodontid, และsauropod รวมถึงพืชและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ pterosaur, hybodont shark (Thaiodus ruchae), ปลา lepidotes จระเข้ และเต่า
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เป็นโซนสุดท้ายของการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ..
มีการค้นพบชิ้นส่วนกระดูก และฟันของไดโนเสาร์ กระจายอยู่ทั่วไป และพบต่อเนื่องบนพื้นที่กว้างขวางกว่า 28,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลโคกกรวด ที่อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ และ ตำบลสุรนารี ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ค่ะ
ซากฟอสซิลเหล่านี้ถูกขุดพบโดยโครงการขุดซากฟอสซิลไดโนเสาร์ไทย - ญี่ปุ่น (ปี 2550 ถึง 2552) (พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ออนไลน์. 2020)
จำแนกเบื้องต้นได้ถึง 4 พวก คืออัลโลซอร์ พวกกินพืชขนาดใหญ่ที่คาดว่าอาจยาวถึง 10 เมตร, โซโรพอด พวกกินพืชขนาดใหญ่คาดว่ามีความยาวไม่ต่ำกว่า 15 เมตร, อิกัวโนดอนต์ พวกกินพืชขนาดกลางมีฟันคล้ายกิ้งก่าอิกัวน่า,แฮดโดรซอร์หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด ไดโนเสาร์เหล่านี้มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 100 ล้านปีก่อน
ไดโนเสาร์ จำลองเท่าขนาดจริงๆ .. จัดแสดงแบบให้มีการเคลื่อนไว พร้อมส่งเสียงร้องคำรามที่น่าเกรงขาม เป็นจุดจัดแสดงแสงสีเสียงที่น่าสนใจมากค่ะ เรียกความตื่นเต้นให้กับคนดูไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเด็กๆ
การมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ยังเป็นแหล่งความรู้สำหรับครอบครัวทุกคน เหมาะสมในการพาพาเด็กๆ มาสนุก และเรียนรู้หลายสิ่ง
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 9:00-16:00 หยุดทุกวันจันทร์ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ในบ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี ถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา
โฆษณา