10 ม.ค. เวลา 06:00 • ข่าว

ม.112: ที่มา สาระ ปัญหา และความเป็นไป (ตอนจบ)

การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามสำหรับประเทศไทย ต่อให้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องมากหรือน้อย หรือไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างไรเลยก็ตาม ย่อมสามารถถูกดำเนินคดีในฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ทั้งนั้น หากว่าตัวท่านเป็นผู้มีความคิดที่สวนกระแสไปจากกลุ่มผู้จงรักภักดีทั้งหลาย
ประโยคดังกล่าวคงไม่ไกลเกินจริงเลย เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของต่างประเทศแล้ว พบว่าในเรื่องดังกล่าวกลับเป็นเรื่องที่ปกติมากถึงมากที่สุด แม้จะมี “กฎหมายคุ้มครองพระเกียรติยศ” หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นเดียวกับในประเทศไทยก็ตาม
  • เพราะกฎหมายถูกยกเลิกไปหลายปีแล้ว การวิจารณ์ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องปกติ
ยกตัวอย่างกรณีของเดนิส สกินเนอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงาน (Labour Party) ซึ่งชื่นชอบในการพูดจาล้อเลียนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทุกครั้งในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (State Opening of Parliament) นับตั้งแต่ ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) เป็นต้นมา
จึงมีวลีเด็ด ๆ จากชายคนนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น ใน ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ที่เดนนิสกล่าวว่า “บอกให้หล่อนไปจ่ายภาษีด้วย” (Tell her to pay her tax) หรือจะเป็นใน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับคามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ อภิเษกสมรสกันใหม่ ๆ เดนนิสก็เคยกล่าวว่า “หล่อนพาคามิเลียมาด้วยหรือเปล่า?” (Has she brought Camilla with her?)
รวมถึงยังเคยกันประตูสภาสามัญ ไม่ให้ผู้เบิกคทาดำ หรือแบล็กร็อด (Black Rod) เข้าไปป่าวประกาศเชิญสมาชิกสภาสามัญชนไปเฝ้าฯ รับกระแสพระราชดำรัสที่สภาขุนนาง (House of Lords) ภายหลังที่ใช้คทาของตนเคาะไปที่ประตูจนครบ 3 ครั้งตามธรรมเนียมที่มีมาแต่ ค.ศ. 1642 (พ.ศ. 2185) แล้ว พร้อมกับสมาชิกพรรคแรงงานจำนวนหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ด้วยวีรกรรมทั้งหลายแหล่นั้น ทำให้เดนิส สกินเนอร์ ได้รับสมญานามว่า “อสุรกายแห่งโบลส์โอเวอร์”
และแทบจะกลายเป็นประเพณีสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของสหราชอาณาจักรไปเสียแล้ว
แม้จะมีบางคนที่ไม่ชื่นชอบกับการกระทำของเขานัก แต่เดนนิสก็ได้ทำเช่นนี้มากว่า 30 ปี แล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับเขา เช่น การถูกกล่าวหาและดำเนินคดีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือการถูกประชาชนผู้จงรักภักดีรุมประชาทัณฑ์ เพื่อปกป้องและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) แล้ว
เดนิส สกินเนอร์ “อสุรกายแห่งโบลส์โอเวอร์” (ภาพ : The Big Issue)
นอกจากนั้น ในช่วงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็มีผู้คนบางส่วนพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ที่มีต่อราชวงศ์วินด์เซอร์ เช่น กรณีของไซมอน ฮิลล์ ที่เขาได้มีโอกาสฟังประกาศการเสด็จเถลิงถวัลยราชสิริราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565 ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน แล้วได้ตะโกนออกไปว่า “ใครเลือกท่านเข้ามา”
ไซมอน ฮิลล์ (ภาพ : Greenbelt Festival)
หรือจะเป็นในกรณีที่มีชายรายหนึ่งได้ตะโกนใส่เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค ขณะอัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังโฮลีรูดไปยังมหาวิหารเซนต์ไจลส์ กรุงเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ด้วยประโยคที่ว่า “ตาเฒ่าจิตป่วย”
การอัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังโฮลีรูดไปยังมหาวิหารเซนต์ไจลส์ กรุงเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 (ภาพ : Reuters)
หรือขณะที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลล่า เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชน ณ กรุงคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 นั้น ได้มีประชาชนชายรายหนึ่งได้ตามถามถึงสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ด้วยประโยคที่ว่า “ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้าน แล้วยังต้องมาจ่ายค่าจัดงานให้ท่านอีก”
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชน ณ กรุงคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565 (ภาพ : News.com.au)
  • เมื่อเสียงอาจเบาไป จึงต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เข้ามาช่วย
แต่บางครั้งการส่งเสียงออกไปอาจจะยังไม่มีใครได้ยินมากพอ จึงต้องมีการใช้อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น ไข่ อย่างที่เกิดขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองยอร์ค มณฑลนอร์ทยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชินยานุสาวรีย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
ร่องรอยของไข่ที่พยายามปาใส่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองยอร์ค มณฑลนอร์ทยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ภาพ : New York Post)
หรือจะเป็นในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่ศาลาว่าการกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้มีชายวัย 53 ปีรายหนึ่งพยายามไปไข่ใส่พระองค์
เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะลงพื้นที่จับกุมชายผู้หนึ่งถูกจัมกุมผู้ก่อเหตุป่าไข่บริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงโคเปนเฮเกน ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ภาพ : SE og HØR)
โดยส่วนใหญ่สิ่งที่จะได้รับจากการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นก็ดี หรือการปาไข่ก็ดีนั้น มีเพียงแค่การถูกกันออกจากพื้นที่ หรือการถูกตั้งข้อหาก่อกวนความไม่สงบในที่สาธารณะ แต่ไม่ถึงกับมีการสั่งจำคุก เบาสุดแค่การถูกสั่งปรับเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการเสียหายต่อร่างกายและจิตใจเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย
ถ้าเป็นในประเทศไทย คงจะมากกว่าไข่แผงหนึ่งด้วยซ้ำไป หากจะมีการปาเกิดขึ้นจริง ๆ
  • การเลียนแบบ อาจไม่แย่เท่ากับ “การสวมรอย”
นอกจากการแสดงความคิดเห็นแล้ว การเลียนแบบไม่ว่าจะรูปแบบใด จะเป็นการแต่งกาย ท่าทาง หรืออากัปกิริยาต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่พอช่วยให้คนอื่นหันมาสนใจในสิ่งที่ตัวเองคิด หรือรู้สึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ โดยการเลียนแบบ เป็นพฤติกรรมที่บุคคลคนหนึ่งต้องการจะแสดงบทบาท กิริยาท่าทางต่าง ๆ เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่ว่าอาจมีตัวตนอยู่จริง หรือเป็นเพียงแค่จินตนาการ อาจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยให้การเลียนแบบเกิดขึ้นได้ เช่น ความรู้สึก ทัศนคติ ความศรัทธา หรือสภาพแวดล้อมรอบตัว
การเลียนแบบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วเป็นหนึ่งในพฤติการณ์ที่สามารถกระทำได้อย่างเสรีและไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด หากไม่ใช่ “การสวมรอย” เป็นคน ๆ นั้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในบางครั้งว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีสวมรอย หรือมมติอสมมติตนเป็นบุคคลต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ลูกท่านหลานเธอ” เจ้านายในพระราชวงศ์ ไปแอบอ้าง เพื่อการต่าง ๆ โดยทุจริตและมิชอบ เช่น หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สิน แต่ยังดีที่ไม่ถึงกับสวมรอยเป็นไปถึงระดับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง มิเช่นนั้นต้องมีอันสั่นคลอนเป็นแน่
การนี้จึงต้องมาพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนและจริงจังว่า ระหว่างการเลียนแบบ กับการสวมรอย แบบไหนกันแน่ที่จะเข้าค่ายการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมากกว่ากัน
ลำพังว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว การเลียนแบบเพื่อต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เฉพาะแต่ในความฝันเท่านั้น
ในขณะที่ต่างประเทศ ต้องยืนยันคำเดิมเพิ่มแต่เพียงว่า เป็นเรื่องที่แสนจะปกติสุด ๆ แล้วไม่ผิดกฎหมายอีกด้วย เช่น บทบาทในฐานะนักแสดงของอูลฟ์ พิลโกด์ ตลอด 40 กว่าปีที่ได้ล้อเลียนเป็นสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 จนในวันสุดท้ายของชีวิตนักแสดงนั้น สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมอำลาชีวิตนักแสดงละครของอูลฟ์ พร้อมกับพระราชทานของขวัญเป็นที่เขี่ยบุหรี่สลักพระปรมาภิไธยย่อ และมีพระราชดำรัสชื่นชมในสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564 อีกด้วย
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมอำลาชีวิตนักแสดงละครของอูลฟ์ พิลโกด์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (ภาพ : ประชาไท)
หรือจะเป็นในกรณีของหนูน้อยในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า เจเลน ซูเธอร์แลนด์ ซึ่งได้แต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องในเทศกาลฮาโลวีน แล้วถ่ายรูปคู่กับสุนัขคอร์กี้ 2 ตัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทรงโปรด โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าได้มีพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งมาชื่นชมหนูน้อยดังกล่าวด้วย
เจเลน ซูเธอร์แลนด์ ขณะแต่งกายเลียนแบบเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ภาพ : ประชาไท)
  • ความเป็นไปจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้
แต่ต่อให้ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกิดขึ้น หากว่าท่านกลับทำในสิ่งที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนผู้จงรักภักดีแม้แต่นิดเดียว ขอย้ำว่าต่อให้จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกัน ท่านเองก็อาจมีสิทธิ์ที่จะถูกดำเนินคดีในฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เหมือนกัน ราวกับว่าทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยงได้ 150 คะแนนเต็มก็ไม่ปาน
อย่างการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กฎข้อนี้ภายหลังสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ถูกยกเลิกไป พร้อมกับพระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 ทั้งหมดแล้ว เท่ากับว่าการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีภายในโรงภาพยนตร์ หรือ โรงมหรสพ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป (แต่ในต่างประเทศ เขาได้ยกเลิกกันไปหมดแล้ว ตั้งนานแล้วด้วย)
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่า “การลบไม่ได้ช่วยให้ลืม” เพราะภาพจำยังชัดเจนเหมือนเดิมทุกอย่าง เนื่องจากประชาชนผู้จงรักภักดีอาจจะเห็นว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี คือการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าที่พวกเขาจะจงรักภักดี และถวายความปลอดภัยต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจนชีวิตหาไม่
ฉะนั้นแล้วด้วยสามัญสำนึกที่ต้องการจะอยู่อย่างจงรักตายอย่างภักดี หนึ่งชีวิตนี้ขอยอมพลีไม่เสียดาย ใจที่จงรักจะยืนหยัดอย่างท้าทาย ใครจ้องจะทำลายเราไม่ยอม ก็เลยต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนที่ไม่เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ยืนตามตนเอง ทั้งการด่าทอ ขว้างปาสิ่งของ เอาเท้ายันที่นั่ง
หรือบางรายถึงขั้นนำมาตรา 112 มาขู่กรรโชก กลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปเสียอย่างนั้น ซึ่งประชาชนผู้จงรักภักดีเหล่านั้นก็ “คิดแต่ไม่ถึง” ว่า กฎหมายนี้ต้องให้ผู้ถูกพาดพิงเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตัวเอง
(ภาพ : เนชั่นทีวี)
แล้วทำไมต้องมาเดือดร้อนแทนกันด้วย คิดสิคิดสิ คาปูชิโน่…
  • อัตราผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น ขณะที่มีพระราชกระแสรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112
แต่ไม่ว่าจะพฤติการณ์ใดก็แล้วแต่ที่ประชาชนผู้จงรักภักดีเห็นว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้สักนิดเดียวก็ไม่ได้ จะเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม คำว่า มาตรา 112 หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะอุบัติขึ้นมาฉับพลันทันใด ยิ่งในปัจจุบันมีการนำกฎหมายประเภทนี้มาใช้ในการฟ้องร้องอย่างสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อย แล้วยิ่งเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองด้วยแล้ว ย่อมเป็น “เหยื่อ” รายต้น ๆ ที่จะถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายประเภทนี้
เช่นในกรณีที่นายทรงชัย เนียมหอม หัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษนางอมรัตน์ โชคปมิตกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่าละเมิดตามมาตรา 6 มาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
หลังจากที่ได้โพสต์เผยแพร่การอภิปรายที่เป็นการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ก่อนที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำการปิดไมโครโฟนไม่ให้พูด ลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว
นายทรงชัย เนียมหอม หัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์ ขณะเดินทางไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนางอมรัตน์ โชคปมิตกุล ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ภาพ : เพจ ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน)
ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชน แต่อัตราของผู้ถูกดำเนินคดี การถูกกล่าวหาในฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ยังคงเกิดขึ้นและมีความถี่ที่ค่อนข้างจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา หรือว่านั่นจะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองเสียเอง
แสดงให้เห็นว่า อาจมาจากการที่ตัวกฎหมายมีปัญหา อย่างคำว่า ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย มีความหมายที่ค่อนข้างกว้างขวาง จึงสามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบ แล้วยังไม่เป็นที่ตกกะเทาะสักทีว่า สรุปแล้วพฤติการณ์รูปแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
รวมถึงการวางให้มาตรา 112 เป็นฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ย่อมส่งผลต่อการตีความและบังคับใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหา เพราะจะทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำการอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้บีบให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียเปรียบทางกฎหมาย
นอกจากนั้น ในตัวบทกฎหมายที่กล่าวว่า เป็นการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ไม่ได้มีการแยกแยะไว้อย่างเฉพาะตัว แต่เป็นการคุ้มครองแบบเหมารวมในบุคคลหลายคน หลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า คุ้มครองใคร คุ้มครองตอนไหน
ดังจะเห็นได้จากกรณีที่นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ หรือส.ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ถูกพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจชนะสงครามสั่งฟ้องให้มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการอภิปรายเรื่อง ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557 มองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตไปตั้งนานแล้ว
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ส.ศิวลักษณ์ ขณะเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการทหารในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 สืบเนื่องจากจากการเป็นวิทยากรในงานเสวนา “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ณ ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมมนูญ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 (ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ)
ขณะเดียวกัน มาตรา 112 เป็นการคุ้มครองเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสี่เท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิได้เป็นการคุ้มครองตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวม คือสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่ใช่การโจมตีเฉพาะบุคคล ประกอบกับถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริตย่อมสามารถทำได้ตามกฎหมาย
แต่ด้วยวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยที่ยังคงมีการยึดโยงให้พระมหากษัตริย์สถิตในฐานะที่ตั้งแห่งความศรัทธาทางการเมือง “ทรงเป็นสมมติเทพ” ทำให้การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเรื่องปกติ กลับกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ภายในสังคม มองเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไป
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ได้แสดงให้เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ล้วนมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งตัวบุคคลและตัวบทกฎหมายด้วยกันทั้งนั้น เป็นประเด็นให้ได้มีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ นำมาซึ่งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขไปจนถึงยกเลิกกันมากมายอย่างปฏิเสธไปไม่ได้
ขณะนี้ ทุกอย่างในสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว...
ความเป็นไปหลังจากนี้…คือการที่เราทั้งหลายควรจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคต่อทุกฝ่าย แม้จะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน และจะต้องไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อยอีก แล้วยังจะเป็นการดํารงไว้ซึ่งฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย
(ภาพ : ไทยรัฐออนไลน์)
และที่สำคัญ ต่อให้ใครก็ตามมีฐานะสูงส่ง ทรัพย์ศฤงคารที่มากมาย แต่ตราบใดที่เกิดมาแล้วมีอวัยวะครบถ้วน 32 ประการ ทำทุกอย่างได้เช่นคนปกติ คนเราทุกคนย่อมเป็นคนเท่ากันไม่เปลี่ยนแปลง ทำถูกต้องชื่นชมยินดี ทำผิดต้องว่ากล่าวตักเตือนถึงได้จะชื่อว่าเป็น “กัลยาณมิตร” หรือมากกว่าไปนั้นก็คือ “ผู้จงรักภักดี” ที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า “เหรียญสองด้าน” จะเกิดขึ้น มีขึ้นมาได้อย่างไรกัน
แล้วทุกท่าน…คิดเห็นเช่นไรกับประเด็นนี้กันบ้าง…
‘ย้อนฟัง’ พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 (โดยเฉพาะกลุ่มที่ปวารณาตนว่าเป็นผู้จงรักภักดี อย่าง “โงหัวไม่ขึ้น” ทั้งหลาย)
อ้างอิง :
  • คดี ส. ศิวรักษ์หมิ่นพระนเรศวรบอกอะไร โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ (https://prachatai.com/journal/2017/10/73656)
  • นายกฯ เผย "ในหลวง" ทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้ ม.112 โดย ไทยพีบีเอส (https://www.thaipbs.or.th/news/content/293636)
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/34802)
  • สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 : ตำรวจจับอีกราย ชายพยายามปาไข่ใส่กษัตริย์อังกฤษในอีกเหตุ โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/articles/cv27xknwpxro)
#AdminField
โฆษณา