29 ม.ค. เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

รวมคำไทยใช้เรียกต่างประเทศ 1

ภาษาไทย มีคำที่เอาไว้ใช้สื่อถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายด้วยกัน รวมถึงคำที่ใช้เรียกชาวต่างประเทศก็มีมากมายเช่นกัน แฝงไปด้วยความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งแอดมินได้รวบรวมมาให้ทุกท่านแล้ว มาดูกันว่ามีคำไหนที่ทุกท่านเคยและไม่เคยได้ยินกันบ้าง
  • เมียน (เบอร์) มา/พม่า/หม่อง
ไม่ว่าจะในอดีตหรือ ณ ปัจจุบันนี้ คำว่า “พม่า” ก็ยังเป็นชื่อเรียกที่คนไทยยังนิยมเรียกขานคนเมียนมาอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อประเทศแล้วก็ตาม จากจารึกโบราณอายุกว่า 900 ปี ซึ่งถูกค้นพบได้ที่เมืองพุกาม ระบุว่า คนเมียนมา เรียกตนเองว่า “เมียนมา” หรือ “มยันมา” มานานแล้ว
ซึ่งคำว่า เมียนมา (Myanmar) มาจากผสมกันระหว่าง “เมียน” หรือ “มยัน” แปลว่า รวดเร็ว หรือ “มยีง์” ที่แปลว่า ม้า กับคำว่า “มา” ซึ่งแปลว่า แกร่งหรือชำนาญ จึงได้ความหมายโดยรวมว่า ความคล่องแคล่วปราดเปรียว หรือม้าที่องอาจ ซึ่งสอดคล้องกับการมีชื่อเสียงในเรื่องการทำสงครามบนหลังม้าของคนเมียนมา นอกจากนั้นแล้ว ยังหมายถึง ชนกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนโลก ด้วย
โดยปกติ เมียนมาในภาษาอังกฤษ จะเขียนออกมาได้เป็น “Myanmar” แต่กลับไม่มี “ร์” ที่หลังคำว่า “มา” นั่นเป็นเพราะว่า คำเขียนในภาษาพม่าไม่มี ร.เรือ การันต์
ส่วนที่คนไทยเรียกคนเมียนมาว่า “พม่า” นั้น อาจเป็นเพราะว่า รับชื่อผ่านภาษาเขียนของฝ่ายมอญ ที่เขียนว่า “พม่า” หรือไม่ก็เรียกตามเสียงชาวพม่าใต้ ที่ออกเสียงว่า “บะมา” แล้วก็กลายมาเป็นพม่า ซึ่งคำว่า พม่า นั้น ได้ปรากฏตามเอกสาร รวมถึงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายอย่างด้วยกัน จึงทำให้คนไทยมีความมักคุ้นจนกลายเป็นความชินชาไป
รวมถึง “เบอร์มา” (Burma) จากคนอังกฤษ ซึ่งได้เข้ามาในเมียนมายุคแรก ๆ จดบันทึกชื่อดินแดนนี้ โดยฟังจากสำเนียงคนเมียนมาภาคใต้ หรือชาวยะไข่ หรือคนมอญจนผิดเพี้ยนไป ซึ่งไม่ว่าจะเมียนมา หรือพม่าก็ตาม ก็ได้มีการใช้ชื่อทั้งสองสลับไปมาเป็นช่วง ๆ จนมาลงตัวอยู่ที่ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา”
นอกจากนั้นยังมีคำว่า “หม่อง” คือ คำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อคน เพื่อบอกถึงช่วงวัย หรือสถานะทางสังคมของแต่ละบุคคลในประเทศเมียนมา โดยจะใช้นำหน้าชื่อของผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เหมือนกับคำว่า “เด็กชาย” ในประเทศไทย แต่บางครั้งชาวเมียนมาเองก็ได้นำคำว่า หม่อง มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ เช่น อู วิน หม่อง ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสหภาพพม่า
คำว่า หม่อง จึงมีความหมายที่ค่อนข้างไม่ตายตัว แต่ก็เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกแทนชื่อของประเทศ สัญชาติ เชื้อชาติ หรือจะเป็นวัตถุ สินค้าต่าง ๆ ที่มีการผลิตขึ้น หรือ ส่งออกมาจากเมียนมา หรือพม่า เช่น ยาหม่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องราวและทฤษฎีความเป็นไปได้ของต้นกำเนิดยาหม่อง
  • ลาว/เสี่ยว
ลาว นอกจากหมายถึงชื่อประเทศ สัญชาติ เชื้อชาติ หรือวัตถุ สินค้าต่าง ๆ ที่มีการผลิต แล้วส่งออกมาจากประเทศลาวแล้ว ยังหมายถึงคำที่มาจากคำว่า “เหล่า” ก่อนจะกลายเป็น “เลา” และ “ลาว” ซึ่งมีความหมายว่า ป่าละเมาะ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ป่า หรือกลางป่าละเมาะ
คนไทยมักใช้คำว่า ลาว ในการสบถกับผู้ที่มีความคิด หรือการกระทำที่ล่าหลัง ไม่ทันสมัย เพราะคำว่า ลาว เป็นสิ่งที่คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณคิดและเข้าใจไปกันเองว่า คนไทยภาคเหนือ (รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลาว) เป็นพวกที่ไม่มีอารยธรรม เนื่องจากชอบอาศัยอยู่ตามป่าตามเขา
ขณะเดียวกัน คนไทยมองว่าคนลาวเป็นคนไม่ดี เพราะเป็นหนึ่งในศัตรูสำคัญสมัยอยุธยา ซ้ำในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยยังชอบดูถูกชาวลาวว่ามีความต่ำต้อยกว่าตนเอง เพียงแค่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ลาวยังอยู่ในระบบการผลิตเพื่อยังชีพอยู่ มิใช่การผลิตเพื่อขายหรือส่งออกเช่นสยาม
นอกจากคำว่า ลาว แล้ว ก็ยังมีคำว่า “เสี่ยว” ที่บางครั้งคนไทยใช้เรียกคู่กัน โดยคำว่า เสี่ยว ที่คนไทยสื่อถึงคนบ้านนอกคอกนานั้น แท้ที่จริงแล้วหมายถึง เพื่อนสนิท ในภาษาอีสาน แต่ก็ไม่อาจทราบได้เหมือนกันว่า เพราะเหตุใดความหมายที่แท้จริง จึงถูกบิดเบือนให้กลายเป็นความหมายที่รุนแรงและนำมาใช้ในทางที่ผิดกันมากได้ถึงเพียงนี้ไปได้
  • เขมร/ขอม
เขมร เป็นคำที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เรียกคนกัมพูชา ซึ่ง “เขมร” ในภาษาเขมร คือ คำที่คนกัมพูชาใช้เรียกแทนตนเองมาตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร (Pre-Angkorian Period) ราวพุทธศตวรรษที่ 12 มีที่มามาจากคำว่า “กฺญุม เกฺมร” หมายถึง ข้ารับใช้ (ที่เป็น) ชาวเขมร แล้วโดยเฉพาะคำว่า เกฺมร ตั้งแต่สมัยพระนคร (Angkorian Period) เป็นต้นมาได้พัฒนามากลายเป็น “แขฺมร” หรือ “ขแมร์” ดังที่ปรากฏในภาษาเขมรปัจจุบัน
จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนกัมพูชาพยายามบอกเลี่ยงให้คนไทยเลิกเรียกพวกตนเองว่า เขมร แต่ให้ไปเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ขแมร์ กัมพูชา หรือแคมโบเดีย แทน
นอกจากคำว่า เขมร ก็ยังมีคำว่า “ขอม” ซึ่งคำว่า ขอม มักปรากฏอยู่ตามตำนาน หรือไม่ก็เอกสารทางประวัติศาสตร์ไทยต่าง ๆ เช่น ตำนานพระร่วง ที่กล่าวถึงขอมดำดิน แต่กลับไม่ปรากฏว่า คนกัมพูชาได้มีการเรียกแทนตัวเองว่า ขอม แต่อย่างใด เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้มีการอ้างอิง เช่น จารึกสมัยก่อนพระนคร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11–14 หรือจะเป็นจารึกสมัยพระนคร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 15–19 ไม่พบว่าคำว่า ขอม ในจารึกเหล่านั้น
แต่ก็ได้มีการสันนิษฐานว่า น่าจะมีคำหนึ่งซึ่งใกล้เคียงและอาจจะเป็นที่มาของคำว่า ขอม คือ คำว่า “กโรม” แปลได้ 2 ความหมายหลัก ได้แก่
ความหมายที่ 1 คือ ต่ำ หรือผู้ต่ำกว่า
ความหมายที่ 2 คือ ประเทศ หรือดินแดน
แต่อย่างไรเสีย กลับไม่ปรากฏหลักฐานอีกว่า มีการใช้คำว่า กโรม ในการเรียกแทนตัวเอง มีผู้เคยให้ข้อเสนอถึงคำว่า ขอม ว่าอาจจะเป็นชื่อทางวัฒนธรรมที่คนไทยคิดขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1500 เพื่อใช้เรียกกับคนที่อาศัยตรงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่นับถือพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานและศาสนาพราหมณ์–ฮินดู มีการใช้ภาษาเขมรเป็นชีวิตประจำวัน
เนื่องจากศูนย์กลางของขอมครั้งแรกอยู่ที่อาณาจักรละโว้ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร (กรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา) จนมาลงตัวอยู่ที่อาณาจักรกัมพูชา ทำให้ไม่ว่าใครก็ตาม สามารถถูกเรียกว่า ขอม ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ เขมร ลาว หรือแม้แต่ไทยเอง
  • เหงียน
เหงียน เป็นคำซึ่งมีที่มามาจากการเป็นชื่อสกุล หรือนามสกุลซึ่งคนเวียดนามใช้กันเกือบทั้งหมด แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกันเลยก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อประมาณพันปีก่อน ราว ค.ศ. 1200 (พ.ศ. 1743) โดยสมเด็จพระจักรพรรดิเจิ่น ตู โด หรือเจิ่น ถู โดะ แห่งราชวงศ์เจิ่น ได้บังคับให้สมาชิกราชวงศ์ลี่ที่เหลือเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเป็นเหงียน ภายหลังที่ถูกโค่นล้มอำนาจ
หลังจากนั้น ราว ค.ศ. 1400 (พ.ศ. 1943) ราชวงศ์เจิ่นก็ถูกล้มล้าง พร้อมกับการเริ่มต้นราชวงศ์โห่ แต่ราชวงศ์โห่ก็ต้องล่มสลายภายในเวลาไม่กี่ปีและด้วยความกลัว จึงทำให้สมาชิกราชวงศ์ที่หลงเหลืออยู่พากันเปลี่ยนนามสกุลไปใช้เป็นเหงียนกันหมด
แล้วเมื่อประมาณ ค.ศ. 1592 (พ.ศ. 2135) หลังจากราชวงศ์หมักล่มสลาย สมาชิกราชวงศ์ที่ยังเหลืออยู่ก็พากันเปลี่ยนนามสกุลมาเป็นเหงียน จนเมื่อราชวงศ์เหงียนได้ขึ้นปกครองเวียดนามในราว ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2342) คนเวียดนามส่วนใหญ่ก็พากันเปลี่ยนมาใช้นามสกุลนั้นนี้กันขึ้นอย่างแพร่หลาย
จากที่ได้มีผู้ศึกษานำเสนอข้อมูลไว้ว่า คำว่า เหงียน อาจจะมาจากคำว่า “หร่วน” (Ruan) ในภาษาจีนแมนดาริน หรือเยือน (Yuen) ในภาษาจีนกวางตุ้ง ส่วนหนึ่งมาจากการรับวัฒนธรรมการใช้นามสกุลมาจากจีน เมื่อจีนได้ขยายอิทธิพลเข้ามายังเวียดนามมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมการใช้นามสกุลถูกเผยแพร่ไปยังบรรดาชนชั้นสูงของเวียดนาม
ส่วนที่ต้องใช้นามสกุลว่า เหงียน กันมากขึ้น ภายหลังที่ราชวงศ์เหงียนขึ้นครองอำนาจแล้วนั้น เพราะต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อผู้นำครอบครัว คือ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม จึงน่าอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยนำคำว่า เหงียน มาใช้เรียกหรือสื่อถึงความเป็นเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ
อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์เหงียนได้ปกครองเวียดนาม ตั้งแต่ ค.ศ. 1802–1945 (พ.ศ. 2342–2488) หลังจากนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย แห่งราชวงศ์เหงียนก็ได้ (ถูกบังคับ) สละราชสมบัติและมอบอำนาจให้แก่โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ)
  • จีน/เจ๊ก (กบฏ)
เหตุใดกัน...ที่คนไทยถึงเรียกคนจีนว่า “จีน” ขณะที่นานาชาติส่วนใหญ่เรียกจีนว่า “ไชน่า” (China) ในเรื่องนี้มาจากข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมาจากชื่อของราชวงศ์ฉิน หรือรัฐฉิน (Chin) ที่ออกเสียงว่า “ฉิน” ในขระเดียวกันถ้าเป็นการออกเสียงแบบโบราณจะได้เป็น “จิน” แต่นักวิชาการจีนยุคใหม่เสนอว่า “จีนะ” ที่อาจมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “เบื้องบูรพา” ซึ่งคนไทยก็ได้รับเอามาใช้เรียกกันต่อมาหลาย ๆ ทอด แล้วเกิดการวิวัฒนาการทางภาษาจนเหลือเพียงคำว่า จีน
นอกจากนั้น ยังมีคำว่า “เจ๊ก” ซึ่งเป็นคำที่คนไทยไว้เรียกคนที่มีสัญชาติจีน เชื้อชาติจีน ไม่ว่าจะแซ่ไหนเหล่าใดก็ตามมามากว่า 100 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากอุปนิสัยของคนจีนที่คนไทยเห็นว่า ไม่มีมารยาท พูดจากระโชกโฮกฮาก นึกอยากจะขากก็ขาก นึกอยากจะถ่มก็ถ่ม น่าสะอิดสะเอียน ไม่นุ่มนวล ประกอบกับคนจีนบางกลุ่มชอบรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “อั้งยี่” ซ้ำยังเสพติดการสูบฝิ่นอีกต่างหาก
และอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อ หรืออาว่า “อาเจ็ก” หรือ “เจ๊กเจ็ก” เมื่อคนไทยได้ยินคนจีนเรียกน้องของพ่อว่า อาเจ็ก ก็ได้หันมาเรียกตาม แต่ถ้าวันใดที่คนไทยเห็นว่าคนจีนผู้นั้นประพฤติตนไม่ดี ทำตัวเป็นพวกอั้งยี่ระรานคนอื่นไปทั่ว ตัวหัวหมาด่าแม่คนอื่น จากคำว่า อาเจ็ก ก็จะกลายเป็นคำว่า “ไอ้เจ๊ก” ด้วยความหัวร้อน ไม่พอใจไปแทนทันที
หากจะหาว่า ใครเป็นต้นคิดในการเรียกชาวจีนว่า เจ๊ก หรือไอ้เจ๊ก นั้นก็คงจะสืบค้นได้ยาก เพราะไม่มีผู้ใดได้บันทึกไว้ แต่ได้มีข้อมูลเคยเสนอไว้ว่า คงจะมาจากคนในกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นแหล่งที่มีคนจีนมาอาศัยและกลุ่มอั้งยี่ก่อตัวรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก
ลำพังคำว่า เจ๊ก ที่ไม่ว่าจะกล่าวออกไปด้วยอารมณ์ไหน ฟังแล้วคงแสลงใจไม่น้อยก็ตาม แต่ก็มีอีกคำหนึ่งที่อัพเลเวลความรุนแรงทางระบบประสาทหูขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งน่าจะหนักกว่าคำว่า เจ๊ก ก็คือคำว่า “เจ๊กกบฏ”
ย้อนกลับไปหลังจากที่ประเทศจีนสามารถล้มล้างราชวงศ์แมนจู หรือราชวงศ์ชิง แล้วก่อตั้งสาธารณรัฐจีนได้สำเร็จ หากแต่ความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมจีน การแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ เช่น การที่จอมพลหยวน ซื่อไข่ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเมื่อ ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ได้ทำการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ตั้งตนเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นในช่วง ค.ศ. 1915–1916 (พ.ศ. 2458–2459) มีการขูดรีดภาษีอย่างหนัก ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีนเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น
เหมา เจ๋อ ตุง ในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมด้วยสมัครพรรคพวก ได้ทำการบุกเข้าโจมตีกับพรรคก๊กมินตั๋ง จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือประเทศจีน กระทั่งจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่น
เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก็ได้ดำเนินต่อไป จนในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะ แล้วก่อตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนบนจีนแผ่นดินใหญ่ตราบจนปัจจุบัน
ส่วนพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้สงครามจึงได้ลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวัน แล้วก่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นใหม่ การนี้ พรรคก๊กมินตั๋งก็ไม่ได้หนีไปเกาะไต้หวันด้วยมือเปล่า หากแต่ได้มีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่าง ๆ หอบออกมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ในขณะนั้นจึงอยู่ในสภาวะยากจนข้นแค้น ก่อนที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการพัฒนาสังคมจีนในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นที่มาของคำว่า เจ๊กกบฏ
  • ญี่ปุ่น/ยุ่น
คนไทยส่วนใหญ่่เรียกคนญี่ปุ่นว่า “ญี่ปุ่น” ซึ่งปรากฏพบเจอครั้งแรกในพระไอยการตำแหน่งนายพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่ก่อนหน้านั้น สยามรู้จักกับญี่ปุ่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีบันทึกเล่าว่า มีสำเภาของชาวสยามลำหนึ่งซึ่งกำลังเดินทางไปที่เกาหลีราว พ.ศ. 1863 แต่ได้หลงเข้าไปยังญี่ปุ่น จึงต้องถูกทางญี่ปุ่นกักตัวไว้ถึง 1 ปี
หลังจากนั้นก็ได้ถูกปล่อยออกไปยังเกาหลี สันนิษฐานว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวสยามที่ได้เดินทางไปถึงเกาหลีและญี่ปุ่น ในเอกสารของเกาหลีระบุว่า มาจากประเทศเซียนหลอหู คือ สุโขทัย (เซียน) กับละโว้ (หลอหู) รวมกัน แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการบางรายก็ค้านว่าไม่ใช่สุโขทัยแต่เป็นสุพรรณบุรี
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันได้ว่า สยามน่าจะเคยรู้จักกับญี่ปุ่นและเกาหลีมาบ้างแล้ว แต่ทว่าประเด็นอยู่ตรงที่ชาวเรือสำเภาของสยามส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนและมักเป็นจีนฮกเกี้ยน ประกอบกับพ่อค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เพราะมีท่าเรือที่สำคัญอยู่ที่เมืองฉวนโจว มณฑลฮกเกี้ยน
แล้วในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 ก็มีการระบุถึงตำแหน่งข้าราชการบนสำเภาการค้าเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนทั้งสิ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า คนไทยเรียกคนญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นตามภาษาจีนฮกเกี้ยน คือ “ยิตปุ๋น” หรือ “ยิดปุ่น”
นอกจากภาษาจีนฮกเกี้ยนแล้ว ยังมีภาษาจีนแต้จิ๋ว คือมาจากคำว่า “หยิบปิ้ง” หรือจะเป็นภาษาจีนกวางตุ้นที่มาจากคำว่า “ยาตปุน” รวมถึงคำว่า “ยื่อเปิ่น” แต่ด้วยความที่คนไทยฟังการออกเสียงไม่ค่อยชัด จึงค่อย ๆ เพี้ยนจากคำต่าง ๆ ที่ได้ยินมา กลายเป็นคำว่า ญี่ปุ่น ไปเสียมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากคำว่า ญี่ปุ่น ก็ยังมีคำว่า “ยุ่น” หรือ “ไอ้ยุ่น” ซึ่งเกิดขึ้นจากความหวาดกลัวของคนไทย ที่ต้องการจะสื่อสารอย่างไรไม่ให้ทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้ตัวว่ากำลังกล่าวถึงตนอยู่ จึงได้ใช้วิธีการผวนคำง่าย ๆ จากคำว่า ญี่ปุ่น มาเป็น “ยุ่นปี่” เรียกสั้น ๆ ว่า “ยุ่น”
ขณะเดียวกันคำว่า ยุ่น ยังหมายถึง เตี้ย เพราะว่าคนญี่ปุ่นในสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเตี้ย ไม่สูงเหมือนเช่นในปัจจุบัน
อ้างอิง :
  • คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้ โดย มนัส โอภากุล (https://www.silpa-mag.com/history/article_18158)
  • คำว่า “ลาว” มาจากไหน? “คนเมือง” ภาคเหนือ-ล้านนา ถูกเรียกว่าลาวก่อนคนอีสาน-สปป.ลาว? โดย เอื้อ มณีรัตน์ (https://www.silpa-mag.com/history/article_41815)
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ขอม คือ ใคร Who are the Khom? โดย ประชาไท (https://prachatai.com/journal/2009/07/25138)
  • ชาวพม่าใช้คำนำหน้าชื่อกันอย่างไร? โดย sanook (https://guru.sanook.com/27417/)
  • ทัศนคติชนชั้นนำสยามต่อลาวล้านนา จากดูหมิ่น-เหยียด ก่อนยอมรับเป็นพวกเดียวกัน โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_76398)
  • ทำไมคนไทยถึงเรียกชื่อชาติอื่น จีน ญี่ปุ่น พม่า กัมพูชา ฝรั่งเศส แตกต่างจากภาษาอังกฤษ โดย บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด (https://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=534548625&Ntype=120)
#AdminField
โฆษณา