9 ม.ค. เวลา 07:29 • ท่องเที่ยว

MOCA : The Universe อุโมงค์ข้ามกาลเวลา และห้องไตรภูมิ

สะพานข้ามจักรวาล .. เป็นอุโมงค์ที่มืดมิดแต่ประดับไปด้วยแสงดาวระยิบระยับ
- มนุษย์ต้องล่องลอยอยู่ในหมู่ดวงดาวที่มีความมืดปกคลุมอยู่เป็นส่วนใหญ่
- เมื่อถึงจุดหนึ่งของการเดินทาง เราจะออกมาสู่แสงสว่าง สัมผัสรับรู้กับสรวงสวรรค์ มนุษย์ และใต้พิภพ ... เสมือนกับการเวียนว่าย ตายเกิด ของมนุษย์ ในคติความเชื่อทางพุทธศาสนา
เมื่อเดินทะลุสะพานข้ามจักรวาล ออกมาเจอประตูแห่งแสงสว่าง
ไปสู่ห้องไตรภูมิ .. จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ยักษ์ ความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพห้อยลงมาตามแนวยาว นี่คือภาพ “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา
.. บอกกล่าวเรื่องราวของโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกนรก ให้เรานั่งนึกคิดพิจารณาความหมายในภาพเขียนซึ่งซ่อนเรื่องราวแล้วแต่บุคคลจะตีความ
ภาพชุดนี้ ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่พลาดไปชมไม่ได้ สร้างสรรค์โดย สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และประทีป คชบัว
เราเลยได้โอกาสหย่อนก้นนั่งบนม้านั่งไม้ดีไซน์เก๋ ออกแบบโดยนักออกแบบรุ่นบรมครู ไสยาสน์ เสมาเงิน แต่ละแบบมีตัวเดียวในโลก ถือเป็นรายละเอียดความเท่ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่กระจายอยู่ทั่วแกลเลอรี่
ห้องไตรภูมิ .. เป็นนิทรรศการถาวาร ออกแบบโดย คุณบุญชัย จาตุรงคกุล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) เป็นเครื่องมือในการออกแบบ เพื่อสะท้อนพุทธปรัชญา
การเข้าชมห้องไตรภูมิ เดินข้ามสะพานข้ามจักรวาล (Passage Across the Universe) ที่ผู้เข้าชมต้องผสานจินตนาการของตัวเองร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ ห้องไตรภูมิ ให้มากขึ้น
ปากทางของสะพานข้ามจักรวาลเป็นไข่ฟองสีดำ เพื่อให้ผู้เข้าชมกำหนดจิต “ปิด” ความคิดจากสิ่งเร้ารอบกาย ..
จากนั้นเดินข้ามสะพานไปยังไข่ใบที่สองที่มีสีขาว แล้วจึง “เปิด” จิตออกมาพบกับภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสูงถึง 7 เมตร อันเป็นภาพตัวแทนของสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ซึ่งสร้างสรรค์โดย สมภาพ บุตรราช, ปัญญา วิจินทนสาร, และประทีป คชสาร
คติไตรภูมิ .. เป็นวรรณกรรมทางศาสนา ที่แสดงข้อคิดอันเป็นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ว่าด้วยโลกศาสตร์ หรือจักรวาลศาสตร์ คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ .. เป็นคำสอนที่ให้มีการประพฤติปฏิบัติแต่กรรมดีละเว้นกรรมชั่ว ใครทำดีได้ไปสวรรค์ ทำชั่วได้ไปนรก เป็นหลักปรัชญาที่นำมาใช้ในการสั่งสอนให้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างปิติสุข
สวรรค์เป็นดินแดนทิพย์ที่มีผู้คนพึงปรารถนา เป็นพื้นที่ที่มีแต่ความรื่นรมย์ ปิติสุข มีแต่ความดีงาม มีเทวดา นางฟ้า สิ่งซึ่งเป็นมงคล
โลกมนุษย์ รุ้จักสุข รู้จักทุกข์ มีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง
นรก รู้จักทุกข์อย่างเดียว
**ห้องไตรภูมิ
ชีวิตในโลกหน้า
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป .. คือสัจจธรรมของธรรมชาติที่ค้นพบโดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนหนีกฎนี้ไม่พ้น ทุกสิ่งที่เกิดมาล้วนมีจุดจบด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต่างชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ ทุกคนต่างล้วนต้องอยู่ในวัฏจักร เกิด แก่ เจ็บตาย คำถามที่ตามมาและถูกถามอย่างแพร่หลาย คือ “ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร”
ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ทรงตรัสว่า .. คนเราเกิดมาไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดมานับภพชาติไม่ถ้วนและยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ถือกำเนิดในวัฏสงสารอีกยาวไกล จนกว่าจะถึงฝั่งพระนิพพาน ซึ่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น จะวนอยู่ในภูมิทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ด้วยอำนาจของบุญและบาปที่ตนได้กระทำแล้ว
กามภูมิ : เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ทุคติภูมิ : 1. นรกภูมิ 2. เปรตภูมิ 3. อสูรกายภูมิ 4. เดรัจฉานภูมิ
สุคติภูมิ : 1. มานุสสภูมิ 2. จาตุมหาราชิกา 3. ดาวดึงส์ 4. ดุสิต 5. ยามา 6. นิมมานรดี 7. ปรมิตวสวัตตี
รูปภูมิ : เป็นที่สถิตของพระพรหม (ตามคติของพรหมณ์)
อรูปภูมิ : เป็นที่สถิตของพระพรหมระดับสูง ซึ่งไม่มีรูปกาย
หลังจากเสียชีวิต .. ปรโลกเป็นสถานที่อยุ่ของชีวิตหลังความตาย เป็นสถานที่หมุนเวียนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบกุศลกรรมและอกุศลกรรมได้วนเวียนไปมา เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามแต่อกุศลและกุศลที่ได้สั่งสมไว้ครั้งเป็นมนุษย์ และปรโลกยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์เช่นเดียวกับโลกมนุษย์อีกด้วย เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงไปได้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายในที่สุด
โลกมนุษย์
ภูมิที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นหนึ่งในฝั่งของสุขคติภูมิในจักรวาล (ตามพระไตรปิฎก เทียบเท่ากับกาแลคซี่ที่ชาวตะวันตกใช้ในการเรียกดาวขนาดใหญ่ของดาวฤกษ์) .. ส่วนคำว่าจักรวาลของชาวตะวันตก ตรงกับคำว่า โลกธาตุ ทางพุทธศาสนา แต่ละโลกธาตุจะมีจักรวาลนับไม่ถ้วน ชนิดที่ต้องเรียกว่า “อนันตจักรวาล”
.. ในแต่ละจักรวาลก็จะมีโลกที่ตั้งอยุ่ในทิศต่างๆของเขา สิเนรุ ถึง 4 โลก (ในศัพท์ทางพระพุทธศาสนาของเราเรียกโลก ทั้งหมดเป็นทวีปไม่ใช่เป็น 4 ดวงดาว) ในจำนวนทวีปทั้ง 4 นี้ ชมพูทวีปเป็นทวีปเดียวเท่านั้นที่มนุษย์จะสร้างบุญ สร้างบารมีให้สูงขึ้นได้สูงสุดถึงเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ และก็สร้างวิบากกรรมได้เต็มสูงสุดถึงขั้นตกไปสู่นรกอเวจี ถูกลงโทษทรมานอย่างแทบจะไม่ได้ผุดได้เกิดมีเดียว
นอกจากมนุษย์แล้ว โลกยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เดรัจฉานต่างๆ และเทวดาบางจำพวก เช่น เหล่ารุกขเทวดา ภุมมเทวดา และเหล่าอากาศเทวดา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มุ่งหวังบรรลุอรหันตผลเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสรู้เฉพาะในชมพูทวีปของพุทธจักรวาล
ศิลปิน : ปัญญา วิจินธนสาร (สีน้ำมันบนผ้าใบ 700X300 ซม. 2554)
สุคติภูมิ (สวรรค์)
ภพภูมิที่อยู่ที่เสวยสุขของเทวดา นางฟ้า เทพบุตร เป็นที่อยู่ของกายละเอียดอันเป็นทิพย์ที่มีรัศมีสว่างไสวตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับบุญที่ได้สะสมไว้ เหล่าเทวดาไม่สามารถที่จะสร้างสมบุญเพิ่มได้ สวรรค์จึงเป็นภพที่เราไปเสวยสุขจากการประกอบกุศลกรรมไว้ในระหว่างที่เราเกิดเป็นมนุษย์ ยิ่งสร้างบุญด้วยความตั้งใจ ความประณีต และเข้าใจในทาน ศีล ภาวนา ปรารถนาที่จะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน ก็จะสำเร็จตามต้องการ
สวรรค์เป็นส่วนหนี่งของสุคติภพ ประกอบด้วย ..
1. มนุสสภูมิ 1 ชั้น 2. เทวภูมิ 6 ชั้น 3. รูปพรหม 16 ชั้น 4. อรูปพรหม 4 ชั้น
เทวภูมิ หรือสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น มีชื่อเรียกดังต่อไปนี้
สวรรค์ชั้นที่ 1 : จาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโลกมนุษย์ของเรามาก เทวดาที่มาบังเกิดบนชั้นนี้ทำบุญแบบเบาบาง และบางครั้งก็ไม่บริสุทธ์ ไม่สมบูรณ์ บางส่วนของสวรรค์ชั้นนี้ซ้อนอยู่กับโลกมนุษย์ที่เป็นที่อยู่ของเมวดาประเภทรุขเทวดาที่อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ภุมมเทวดาที่อยู่ตามภูเขา แม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตูวัด ส่วนอากาศเทวดาก็มีวิมานอยู่กลางอากาศ
สวรรค์ชั้นที่ 2 : ดาวดึงส์ เทวดาบนชั้นนี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์จะชอบทำบุญ เพราะว่าเป็นสิ่งดีงามที่ควรต้องทำ ดาวดึงส์มีเทพผู้ปกครองถึง 33 องค์ โดยมีท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์เป็นประมุข สวรรค์ชั้นนี้จะมีพระธาตุพระมหาจุฬามณีที่เหล่าเทวดาจะมาประชุมฟังธรรมในทุกวันพระ และฟังโอวาทจากท่านท้าวสักกะ
สวรรค์ชั้นที่ 3 : ยามา เทวดาที่ชั้นนี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญเพราะอยากจะสืบทอดและรักษาประเพณีแห่งความดีงามนั้นไว้ หรือพระภิกษุที่รักษาพระพุทธศาสนาเมื่อละโลกส่วนใหญ่จะมาอยู่บนชั้นนี้ อายุทิพย์ก็นานกว่าสวรรค์ 2 ชั้นล่าง
สวรรค์ชั้นที่ 4 : ดุสิตา หรือ ดุสิต มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสวรรค์ชั้นที่พระบรมโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีท่าน ท้าวสันตดุสิต ซึ่งบรรลุพระโสดาบันเป็นผู้ปกครองภาพ
สวรรค์ชั้นที่ 5 : นิมมานรดี เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เห็นคนทำบุญแล้วได้รับยกย่อง ก็อยากทำบุญแบบนั้นบ้าง ใจจดจ่อในการสร้างบุญใหญ่ และอยากให้กัลยาณมิตรได้ชื่นชมยินดีกับตนด้วย
สวรรค์ชั้นที่ 6 : ปรนิมมิตวสวัตดี ชั้นสูงสุดของสวรรค์ อายุขัยจะยาวนานขึ้นกว่าอีก 5 ชั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญ เลื่อมใสในทาน ทำแล้วมีความสุขในบุญที่ทำ และทำบุญอย่างสม่ำเสมอด้วยศรัทธาเช่นน้นตลอดอายุขัย
ศิลปิน : สมภพ บุตรราช (สีน้ำมันนผ้าใบ 700X300 ซม. 2554)
ทุคติภูมิ (นรก)
หนึ่งในอบายภูมิ 4 อันประกอบด้วย นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ และดิรัจฉานภูมิ .. ความรู้จากพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นความจริงอยู่ข้อหนึ่งเสมอว่า มนุษย์เป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่เหมือนเป็นชัวิตพื้นฐานของจักรวาล สัตว์ภูมิอื่นๆล้วนไปจากมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าเทวดา สัตว์ดิรัจฉาน เปรค หรือสุตว์นรก
กรรมดีกรรมชั่ว เกิดจากกิเลสประเภทต่างๆบีบใจมนุษย์ เมื่อไหร่ถูกบีบก็จะทำกรรม เมื่อกระทำกรรมไปแล้วก็จะเกิดวิบากตามมา
.. วิบากจะเป็นเหมือนพลังงานที่มีอำนาจนำมนุษย์เมื่อตาย ให้ไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ นรก หรือ นิรยภูมิ จัดอยู่ในอบายภูมิลำดับที่ 1 เป็นดินแดนที่ปราศจากความสุขสบาย ผู้ทำบาปกรรมชั่วไว้เป็นอาจิณ เมื่อตายแล้วจะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส และยาวนานอย่างไม่มีเวลาว่างเว้นจากทัณฑ์ทรมาน
นรกตั้งอยู่ใต้เขาตรีกูฏ มีนรกขุมใหญ่เรียกว่า “มหานรก” มีทั้งหมด 8 ขุม เป็นนิรยภูมิที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีโทษหนักที่สุด มีขุมบริวารของมหานรก เรียกว่า “อุสสหนรก” 128 ขุม ตั้งอยู่รอบมหานรกขุมต่างๆทั้ง 4 ทิศ มีขนาดเล็กกว่ามหานรก การทัณฑ์ทรมานก็เบาบางกว่า ไฟนรกก็ร้อนแรงน้อยกว่ามหานรก
.. มีนรกขุมย่อย เรียกว่า “ยมโลก” 320 ขุม เป็นสถานที่วินิจฉัยบุญบาปของสัตว์นรก ลงทัณฑ์สัตว์นรกที่มาจากมหานรก ผ่าน อุสสมนรก มายัง ยมโลก และเป็นที่ตัดสินบุญบาปของผู้ที่ตายจากเมืองมนุษย์
.. นอกจากนั้นยังมีนรกขุมพิเศษอีก 1 ขุม เรียกว่า “โลกันตนรก” เป็นนรกที่อยู่นอกจักรวาล ไว้สำหรับคนที่ทำอกุศลกรรมหนาแน่น
มหานรกมีความร้อนแรงมาก ไฟในมหานรกนั้นร้อนแรงกว่าไฟในอุสสทนรก และยมโลก เป็นล้านเท่า ร้อนจนกระทั่งเป็นไฟที่มีเปลวไฟเป็นสีดำ มนุษย์ที่ทำกรรมชั่วเป็นประจำ ตายแล้วกระแสบาปจะดุดกายละเอียด หรือที่เรียกกันทั่วๆไปว่า วิญญาณ ไปเกิดในมหานรกทันที การใช้กรรมในมหานรกนั้นกินเวลายาวนานมาก ตั้งแต่ 1.620 พันล้านปีมนุษย์ จนถึง 1 อันตรกัปเลยทีเดียว .. เมื่อใช้กรรมในมหานรกเสร็จแล้ว ต้องไปรับกรรมต่อที่อุสสทนรกอีก ซุ้งเป็นขุมที่สัตว์นรกจะมีความทุกข์น้อยกว่าในมหานรก ในที่สุดจึงไปใช้เศษกรรมในยมโลกต่อไป
ศิลปิน : ประทีป คชบัว (สีน้ำมันนผ้าใบ 700X300 ซม. 2554)
**อ้างอิง : แผ่นพับเรื่อง ไตรภูมิ MOCA
ห้องไตรภูมิ : งานศิลปะอื่น
‘ตู้พระไตรปิฎกร่วมสมัยหมายเลข 10’
เทคนิคลายรดน้ำ ที่ถือเป็นเทคนิคโบราณของนายช่างไทย การสร้างลายรดน้ำที่กระทำมาตั้งแต่สมัยอดีตก่อนเริ่มจรดเส้นสายสีทองลงไปเราต้องร่างเส้นกำหนดลวดลายโดยเรียกเส้นนั้นว่าเส้นหรดาล และเขียนลายทับลงไป
ผลงาน ‘ตู้พระไตรปิฎกร่วมสมัยหมายเลข 10’ เป็นการสร้างบทสรุปในหลักธรรมความเชื่อทางศาสนาที่ศิลปินยึดถือ เป็นการสรุปร่วมกันผ่านตู้สามด้านของตู้พระไตรปิฎกทั้งใบ นั่นก็คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ด้านหน้าสุดเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร พระหัตถ์ของพระพุทธเจ้ากำลังเผยแพร่คำสอนมาให้แก่เรา เรื่องร่าวแต่ละด้านลื่นไหลต่อเนื่องกัน เหลี่ยมมุมของตู้ถูกลบเลือนไปด้วยความนุ่มนวลของเส้นสาย ความพลิ้วของลวดลาย สร้างเอกลักษณ์ให้กับตู้พระไตรปิฎกร่วมสมัย
ตู้พระธรรม เผาราคะ
ตู้พระธรรม เผาราคะ .. เป็นลายรดน้ำ
ราคัคคิ คือไฟราคะ ได้แก่ ความรู้สึกที่เกิดจากความกำหนัด รักใคร่ ยินดี ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดอารมณ์ที่ตนได้ประสบว่า รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย โผฐทัพพะน่าจับต้อง มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครองของตน
การเกิดนั้นอาจจะเกิดจาก รูป รส กลิ่น โผฐทัพพะ ที่ผ่านมาในขณะนั้นๆ บุคคลไปกำหนดในลักษณดังกล่าว หรืออาจจะเกิดจากการเหนี่ยวนึกขึ้นภายใน นึกถึงรูปที่สวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สิ่งที่น่าจับต้องในอดีตที่ตนเก็บไว้ในใจ
… ซึ่งกลายเป็นเหตุ เป็นเชื้ออยู่ภายใน แล้วก็คิดถึง หมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องเหล่านั้น จนก่อให้เกิดความเร่าร้อนอยู่ในใจ มีความต้องการที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง จนจิตใจกรนะสับกระส่ายเร่าร้อน ทำให้ไขว่คว้าแสวงหา
โฆษณา