9 ม.ค. เวลา 13:44 • หนังสือ

7 วิธีช่วยให้อ่านหนังสือมากขึ้นในปี 2024 (และปีต่อๆ ไป)

หนึ่งในเป้าหมายของผมคืออ่านหนังสือให้จบ 52 เล่มในหนึ่งปี (ปีนี้ก็เช่นกัน) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออาทิตย์ละหนึ่งเล่มนั้นแหละ แม้ว่าปีที่ผ่านมาผมจะพลาดเป้าทำได้เพียงแค่ 30 กว่าเล่ม แต่ก็ถือว่าพอใจแล้วกับตารางงานที่ยุ่งมากๆ ในชีวิต
4
เหตุผลที่อยากทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จก็เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังนิสัยการอ่านนั้นเป็นเรื่องที่ดีกับตัวเอง เป็นการเปิดโลกและเพิ่มความรู้สำหรับหลายๆเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตและคนรอบข้างได้
1
แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึก (ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับคนอื่นๆ) ก็คือว่าการสร้างนิสัยการอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่นับการอ่านบทความเป็นชิ้นๆบทอินเตอร์เน็ตที่ใช้เวลาแค่ 5-10 นาที การอ่านหนังสือเป็นเล่มนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง บางเล่มก็หลายวันเลยทีเดียว
1
การอ่านหนังสือเป็นเล่มแบบนี้ทำให้เราได้จดจ่อกับหัวข้อที่อ่าน ได้ขบคิดวิเคราะห์ไปพร้อมๆกับผู้เขียนในแต่ละหน้า จึงทำให้การอ่านหนังสือนั้นต้องอาศัยความอดทนและสมาธิที่มีน้อยลงเรื่อยๆในชีวิตปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผมเลยลองย้อนกลับไปดูว่ามีวิธีไหนบ้างที่ช่วยทำให้อ่านหนังสือได้เยอะขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา
1
1. บางทีอ่านไปแล้วมันเบื่อ ก็วางลงแล้วเริ่มเล่มใหม่ ก็ไม่ได้ผิดอะไร
นี่อาจจะย้อนแย้งสักหน่อย เพราะเราต้องการอ่านหนังสือให้จบเยอะขึ้น ไม่ใช่การอ่านค้างให้เยอะขึ้น แต่ผมอยากยกเหตุผลหลักอันหนึ่งที่คนอ่านหนังสือไม่จบมาโต้แย้งก็คือ “มันน่าเบื่อ” บางทีเราหยิบขึ้นมาอ่านเพราะคิดว่าจะสนุก แต่เนื้อหามันแห้งยิ่งกว่าขนมปังแช่ตู้เย็นข้ามอาทิตย์ อ่านแล้วฝืดเหลือเกิน อ่านไปสองสามหน้าก็จะหลับให้ได้ สุดท้ายแล้วถ้าเราฝืนอ่านไปเรื่อยๆ มันก็จบแหละ เพียงแต่ว่า แทนที่มันจะใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียว แต่กลับกลายเป็นลากยาวเกือบเดือน
1
เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มไปแล้วสัก 1/3 และรู้สึกว่ามันไม่ไหว ก็วางก่อน เริ่มอ่านอะไรที่เราชอบสักเล่มหนึ่งหรือสองเล่มใช้เวลากับมันสักอาทิตย์หนึ่งหรือสองอาทิตย์ แล้วกลับมาเล่มแรกอีกสักอาทิตย์เพื่อต่อจนจบก็ไม่ผิดอะไร เราใช้เวลาเท่ากัน เพียงแต่ว่าประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านจะดีกว่าทนทรมานเอาให้จบเล่มแรกก่อนจะไปเล่มต่อไปเยอะมากทีเดียว
2
2. เล็งหนังสือที่อยากอ่านไว้ในใจเสมอ
ปัญหาข้อแรกที่เราอ่านไม่จบคือเกิดเบื่อกลางทาง ปัญหาต่อมาคือไม่มีหนังสือที่เราสนใจอยากจะอ่านเลยสักเล่ม ซึ่งข้อที่สองนั้นถือเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ไม่ยากเท่าไหร่ ตอนนี้เราเห็น Podcast ที่แนะนำหนังสืออย่าง Readery หรือมีเพจต่างๆมากมายที่เอาหนังสือมารีวิว ลองกดไลค์ทิ้งเอาไว้เผื่อมีหนังสือที่เขาแนะนำมาก็เซฟเก็บเอาไว้เป็น wishlist
1
อีกทางหนึ่งคือติดตามเหล่านักเขียน/นักธุรกิจ/ผู้เชี่ยวชาญที่เราชื่นชอบ บุคคลเหล่านี้มักมีหนังสือที่ตัวเองอ่านแล้วเอามาแชร์เล่าให้ฟังอยู่เสมอ เมื่อเห็นก็เซฟเก็บเอาไว้ พอได้แวะไปร้านหนังสือก็ลองเปิดอ่านดู ตอนนี้แหละกลัวว่าชั้นหนังสือจะไม่พอใส่ซะด้วยซ้ำ
3. ฟังก็ได้นะ
โลกไปไกลแล้วครับ, แน่นอนว่าหนังสือเป็นเล่มนั้นยังคงมีเสน่ห์ แต่ว่าการฟังหนังสือเป็นเล่มนั้นก็ทางเลือกที่ไม่เลวร้ายเท่าไหร่นัก แม้ว่าหนังสือภาษาไทยนั้นยังมีให้เลือกไม่มากเหมือนกับของทางต่างประเทศ แต่ก็พอมีให้ฟังบ้าง เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มือไม่ว่าง อาจจะทำงานประจำที่ไม่เคร่งเครียด พักกลางวัน หรือแม้แต่ออกกำลังกายก็ตอบโจทย์เหล่านี้ได้เช่นกัน (หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าฟังหนังสือไม่นับก็อย่าไปซีเรียสกับคอมเมนท์เหล่านั้นมากครับ เอาที่เราสบายใจดีกว่า)
1
4. พยายามตัดสิ่งรบกวน
เอาหล่ะตอนนี้ถึงเวลาอ่านหนังสือกันแล้ว แน่นอนว่ามันยากกว่าที่จะหยิบสมาร์ทโฟนออกมาเพื่อเปิด IG หรือ Facebook แต่มันก็ค่อยๆเป็นค่อยๆไป หลังจากผ่านไปสิบนาทีแน่นอนว่านิสัยเสีย FOMO (Fear of Missing Out) จะเริ่มเข้ามาทักทาย “เกิดอะไรขึ้นบน Facebook ไหมนะ?” “ใครส่งไลน์มารึเปล่า?” “เปิดดูหน่อยได้ไหม?”
เมื่อหยิบขึ้นมาเปิดปุ๊บ จบเลย...ผ่านไปสามสิบนาที คุณยังนั่งอ่านข่าวซุบซิบดาราอยู่เลยว่าคนไหนกำลังเดทกับคนไหน มันเป็นเรื่องที่ง่ายมากในการรับสิ่งรบกวนเหล่านั้นเข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือกันเวลาเอาไว้เลยว่า “ชั่วโมงละหนึ่งวันฉันจะอ่านหนังสือ”
เอาแค่นี้แหละ หลังจากนั้นก็จัดกิจกรรมต่างๆระหว่างวันให้เข้ากับเป้าหมายอันนี้ อาจจะเป็นช่วงพักเบรคตอนเที่ยง ช่วงหลังอาหารเช้า ช่วงบ่าย ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ตอนที่กั้นเวลานี้ให้ปิด notification และถ้าเป็นไปได้ก็เสียบสมาร์ทโฟนไว้ไกลๆ นอกห้องได้จะยิ่งดีมาก
(ถ้าทำรวดเดียวหนึ่งชั่วโมงไม่ได้ ก็แบ่งเป็น 30/30 หรือ 20/20/20 แบบนี้ก็ได้นะครับ แต่ต้องจดจ่อจริงๆ)
5. สร้างนิสัยการอ่านก่อนนอนสัก 30 นาที
ข้อด้านบนเราเป็นเวลาระหว่างวัน แต่อันนี้คือก่อนนอนจริงๆ
สมมุติว่าตารางเวลาของเราคือนอนสี่ทุ่ม, ประมาณสามทุ่มเราก็เริ่มวางสมาร์ทโฟน เสียบสายชาร์จไว้นอกห้อง (หรือไกลๆจากหัวเตียงหน่อย) แล้วหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ตั้งไว้สัก 20-30 นาที มันจะช่วยทำให้เราหลับสบายขึ้น เพราะตาเราได้พักผ่อนจากการเพ่งหน้าจอ เมื่อทำทุกวันจะกลายเป็นนิสัยและช่วยทำให้หนังสือที่ค้างๆอยู่จบเร็วขึ้นอีกด้วย
2
6. Kindle/E-Reader ก็ช่วยได้นะ
1
เครื่องมืออิเล็กทรอนิกไม่ใช่จะไม่ดีไปซะหมด สำหรับคนที่อ่านหนังสือบน Kindle หรือ E-Reader ก็สามารถเลือกซื้อหนังสือผ่าน Amazon ก็ได้​ (ถ้าหนังสือไทยก็ Meb/Pinto/นายอินทร์ ฯลฯ) ซึ่งข้อดีของ Kindle ก็จะไม่มี Notifications มากวน แต่ถ้าอ่านผ่านแท็บเล็ตก็อาจจะปิด ​Notifications ไปด้วยนะครับถ้าจะให้มีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นระหว่างที่อ่านๆอยู่ มีอะไรเด้งเข้ามาตลอดสมาธิแตกกระจายพอดี
7. หาประเด็นที่สนใจและเจาะลึกลงไป
หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเนื้อหากว้างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น non-fiction ในหลายๆประเด็น จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ธุรกิจ ประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ การตลาด บริหาร ฯลฯ แต่บางครั้งก็มี fiction นิยายปนเข้ามาเล็กๆน้อยๆด้วยเช่นเดียวกัน การมีหนังสือหลากหลายแนวนั้นทำให้เราเห็นอะไรใหม่ๆ บางครั้งก็เปิดโลกและทำให้เกิดไอเดียที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย แต่ว่ามันก็มีหลายๆประเด็นที่ผมชื่นชอบและพยายามลงลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
3
การมีเป้าหมายหรือประเด็นที่เราสนใจนั้นจะช่วยทำให้เราจดจ่อได้ง่าย มันไม่ใช่การแค่อ่านเพื่อให้จบเป็นเล่มๆ แต่เป็นการเรียนรู้ให้ลึกที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ไปในตัว เป็นโปรเจคที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วเลยทีเดียว
1
Extra : พกหนังสือติดตัวเสมอครับ หยิบไปด้วย ว่าง 10-15 นาที หยิบมาอ่านได้หลายหน้าอยู่นะครับ ทำให้เป็นนิสัยรับรองว่าช่วยได้เยอะเลยครับ
ถึงตรงนี้หลายๆคนคงเริ่มอยากวางสมาร์ทโฟนลงแล้วไปหยิบหนังสือที่ฝุ่นเกาะบนชั้นมานั่งอ่านแล้วใช่ไหมครับ? (หวังว่า) สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือสร้างระบบและสภาพแวดล้อมให้อำนวยความสะดวกให้เป้าหมายนี้ลุล่วงไปได้อย่างไม่ลำบากมาก อย่างแรกเลยคือลิมิตเวลาบนสมาร์ทโฟน สองตั้งเวลาในการอ่านในแต่ละวัน สามคือคุยกับภรรยาลูกหรือใครก็ตามที่นอนข้างๆว่าอยากเริ่มอ่านหนังสือวันละ 20-30 นาทีต่อวันก่อนนอน มาอ่านด้วยกันเถอะ
การอ่านให้มากขึ้นนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป มันเป็นการเปลี่ยนนิสัยจนกลายเป็นระบบออโต้ไปในที่สุด ขอให้ปีนี้ (และปีต่อไป) อ่านหนังสือได้เยอะขึ้นครับผม
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#เป้าหมายปีใหม่ #พัฒนาตัวเอง #อ่านหนังสือ #สร้างนิสัย
2
โฆษณา