10 ม.ค. 2024 เวลา 04:48 • ข่าว

7 ค่ายจีนขึ้นไลน์ผลิต EV ปีนี้ 7 หมื่นล้าน อุตฯชิ้นส่วนไทยไม่ได้อานิสงส์

เปิดไทม์ไลน์ปี 2567 EV จีนชักแถวขึ้นไลน์ประกอบรถในไทย 7 โรงงาน มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ดีเดย์ส่งมอบลูกค้าไตรมาสแรกปีนี้ ยักษ์ชิ้นส่วนตีปีกทุ่มขยายกำลังผลิตรับ ขณะที่ชิ้นส่วนรายย่อย 600 ราย บ่นอุบไม่ได้รับอานิสงส์ ชี้จีนมาเป็นแพ็กเกจแถมยังมี FTA หนุน แนะชิ้นส่วนไทยปรับตัวผลิต 5 ชิ้นส่วนหลัก
แค่อึดใจเดียวหลังรัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นในประเทศไทย ถึงวันนี้ได้เวลาที่ค่ายรถโดยเฉพาะแบรนด์จีนพร้อมเดินเครื่องผลิตในประเทศ โดยคาดการณ์กันว่าปีนี้ น่าจะมีโรงงานผลิตที่มีความพร้อมไม่น้อยกว่า 7 ราย
เปิดไทม์ไลน์แบรนด์จีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการรถ EV จีนประกาศความพร้อมว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ลูกค้าชาวไทยจะได้สัมผัสรถ EV ลอตแรกที่ทำคลอดจากโรงงานในประเทศไทย ทั้งแบรนด์ ORA รุ่น Good Cat แบรนด์ NETA รุ่น NETA V-II และแบรนด์ WULING AIR กับแบรนด์ VOLT ส่วนแบรนด์ MG ลูกค้าชาวไทยก็จะได้เป็นเจ้าของ MG4 ที่ผลิตจากโรงงาน SAIC MOTOR-CP ในจังหวัดระยอง
ส่วนไตรมาสที่ 2 จะตามมาด้วย BYD Dolphin ราว ๆ เดือนเมษายน ที่เหลือ เช่น GAC AION และ ฉางอาน น่าจะพร้อม 100% ราวปลายปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกแบรนด์ต้องการผลิตให้ทันภายในปี 2567 นี้ ตามเงื่อนไขในมาตรการ EV3.0 ระบุผลิตชดเชยนำเข้าในอัตราส่วน 1:1 ดังนั้นปีนี้ตลาด EV จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งเพราะการขยายตัวจะเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
7 โรงงาน 7 หมื่นล้าน
สำหรับมูลค่าการลงทุน คาดว่าทั้ง 7 โรงงานน่าจะเป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงมาก หรือราว ๆ 7 หมื่นล้านบาท เริ่มจากเกรท วอลล์ฯ 2.2 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปีราว ๆ 1 แสนคัน (รวมส่งออก) ตามมาด้วย MG ใช้เม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 1 แสนคัน (รวมส่งออก) ขณะที่แบรนด์ NETA จ้างบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ในเครือ PNA ประกอบ เม็ดเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 2 หมื่นคัน
ส่วนแบรนด์ BYD ใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตรวมส่งออก 1.5 แสนคัน, GAC เฟสแรก ใช้เม็ดเงินลงทุน 6 พันล้านบาท กำลังการผลิต 2 หมื่นคัน, ฉางอาน เม็ดเงินลงทุน 8.8 พันล้านบาท กำลังการผลิตเฟสแรก 1 แสนคัน, วูหลิง 200 ล้านบาท กำลังการผลิต 6 พันคันต่อปี
ชิ้นส่วนใหญ่ตีปีกรายย่อยเฉา
แหล่งข่าวกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ การเปิดไลน์ผลิตรถ EV แบรนด์จีนทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย ต้องเร่งเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต OEM ป้อนให้กับโรงงานประกอบ โดยก่อนหน้านั้น นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เผยว่าได้ขยายการลงทุนเพิ่ม ทั้งการพัฒนาบุคลากร การลงทุนแม่พิมพ์สำหรับรองรับโมเดลใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถ EV ซึ่งจะต้องใช้แรงงานเพิ่มเป็นจำนวนมาก
อ่านต่อ-อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/motoring/news-1475695
โฆษณา