16 ม.ค. 2024 เวลา 05:30

ผลสำรวจเผย เด็กไทยอยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ แล้วเพิ่มวิชาการเงินในหลักสูตร

การศึกษาไทยควรปรับ เมื่อเด็กไทยต้องการเปลี่ยน จากผลสำรวจเปิดเผยว่า เด็กไทยอยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ แล้วเพิ่มการเงินการลงทุนในหลักสูตรแทน
ในวันเด็กแห่งชาติหรือวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทาง Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ มีการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ เกี่ยวกับความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของระบบการศึกษา ที่ครอบคลุมในหลายหัวข้อ แต่หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประเด็นสำคัญคือ “วิชาที่เด็กไทยอยากเรียนและอยากยกเลิก”
โดยในผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยมากกว่าครึ่งอยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์มากที่สุด จำนวน 1,216 คน คิดเป็น 61.26% รองลงมาคือ วิชาพุทธศาสนา จำนวน 225 คน คิดเป็น 11.34% และอันดับสามคือ วิชาหน้าที่พลเมือง จำนวน 128 คน คิดเป็น 6.45%
1
ส่วนประเด็นของวิชาที่เด็กไทยอยากเรียนมากที่สุด ตกเป็นของวิชาการเงิน การลงทุน โดยมีเด็กไทยที่ให้คำตอบนี้เป็นจำนวน 788 คน คิดเป็น 39.7% รองลงมาคือ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย จำนวน 416 คน คิดเป็น 20.96% และอันดับสามคือ วิชาอีสปอร์ต จำนวน 396 คน คิดเป็น 19.95%
5
ที่ผ่านมา สังคมไทยได้อะไรจากวิชาลูกเสือ?
ถ้าหากเราย้อนเวลากลับไปในช่วงที่เราเป็นเด็ก มุมมองของเราที่มีต่อวิชาอย่างลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาดหรือบำเพ็ญประโยชน์นั้นกลับเป็นมุมมองของวิชาที่ไม่เน้นวิชาการ มีเพียงการฝึกทักษะชีวิตอย่างเช่น วิธีการเอาตัวรอดในป่า ระเบียบวินัย สันทนาการและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหมายในการฝึกเด็กเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่กองทหาร ทั้งการทำครัว สอดแนม รวมถึงเป็นหน่วยข่าวลับ
1
โดยในประเทศไทยนั้นเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของโลกที่เพิ่มประเภทลูกเสือชาวบ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ด้วยจุดประสงค์หลักคือการส่งข่าวและรวบรวมข้อมูลให้กับทางราชการเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น
2
แต่ปัจจุบัน เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์และมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากมายแก่กองทหาร ลูกเสือก็ไม่ใช่ทางเลือกในการอำนวยความสะดวกแก่กองทหารอีกต่อไป การเข้าเรียนวิชาลูกเสือก็ถูกลดบทบาทความสำคัญในความรู้สึกของผู้เรียนลง ในขณะที่หลักสูตรการศึกษาไทยยังคงมีวิชาลูกเสือเนตรนารีเป็นวิชาบังคับในหลายโรงเรียน เด็กไทยกลับรู้สึกว่าการเรียนการสอนในวิชานี้ไม่เป็นประโยชน์ มีความล้าหลังไม่ตามยุคตามสมัย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้วิชาลูกเสือเนตรนารีกลายเป็นวิชาที่เด็กไทยอยากให้ยกเลิกมากที่สุด
1
การเงิน-การลงทุน ทักษะชีวิตในยุค 2024 ที่ควรเร่งให้การศึกษา
ทางด้านของวิชาที่เด็กไทยอยากเรียนมากที่สุดนั้นตกเป็นของ “วิชาการเงินการลงทุน” โดยพบว่าในปัจจุบันทักษะเรื่องการเงินเป็นอีกทักษะที่สำคัญและถูกตระหนักถึงอย่างเป็นวงกว้าง แต่กลับยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นวิชาบังคับในระบบการศึกษาไทย
3
จากผลสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีระดับทักษะทางการเงินทัดเทียมกับค่าเฉลี่ยของ OECD แต่ยังมีหลายประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม จากวัคซีนเข็มแรกอย่างการให้การศึกษาด้านการเงินการลงทุน
5
เพราะในที่สุด การมีความรู้เรื่องการเงินที่ดี จะเป็นเหมือนฐานรากสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มั่นคงขึ้น และช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลก็สามารถมอบความเท่าเทียมของการศึกษาเรื่องการเงินและลดความเหลื่อมล้ำผ่านการบรรจุวิชานี้ลงไปในหลักสูตรภาคบังคับนั่นเอง
1
เมื่อเด็กไทยทำให้เรามองเห็นช่องโหว่ของหลักสูตรการศึกษา และมองเห็นโอกาสในการพัฒนาประชากรในอนาคต นี่จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กไทยอย่างไรได้บ้าง เพื่อลดหรือปรับปรุงบางวิชาให้มีเนื้อหาที่สามารถปรับใช้ในโลกยุคนี้มากขึ้นและเพิ่มการเรียนการสอนในทักษะชีวิตที่ “จำเป็น” ต่อการใช้ชีวิตของเด็กในยุคนี้จริงๆ
1
อ้างอิง
ผลสำรวจความเห็นนักเรียนต่อระบบการศึกษา [ข้อมูลดิบ] : Rocket Media Lab - https://bit.ly/3RQPgUs 
ประวัติลูกเสือไทยและลูกเสือโลก สรุปย่อเข้าใจง่าย มีที่มาอย่างไร : ไทยรัฐออนไลน์ - https://bit.ly/3TVvVnW 
ลูกเสือชาวบ้านกับการเมืองไทย : สถาบันพระปกเกล้า - https://bit.ly/3vyyLVM
#trend
#education
#financeliteracy 
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา