19 ม.ค. เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

สูตรคำนวณหนี้สิน แบกไว้แค่ไหน ถึงเรียกว่า “เอาอยู่”

เมื่อพูดถึง “หนี้สิน” แค่ได้ยินคำนี้หลายคนคงรู้สึกกลัวขึ้นมาทันที บางคนก็ไม่กล้าก่อหนี้ ไม่อยากมีภาระหนี้สิน ซึ่งจริงๆ แล้ว การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ถ้าเรามีเหตุผลที่ดีในการก่อหนี้ รู้จักและเข้าใจหนี้ดีหนี้เสีย การมีหนี้สินก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และยังสามารถเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ด้วยนะ
โดยตามทฤษฎีการเงินแล้ว ส่วนใหญ่จะมีเกณฑ์แนะนำว่าเราควรมีหนี้สินไม่เกินเท่าไหร่ถึงจะไม่หนักเกินไป ซึ่งก็จะมีหลายอัตราส่วนที่สามารถนำมาเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง ใครที่มีหนี้สินอยู่ในมือ ลองมาเช็คกันว่าตอนนี้ภาระหนี้สินที่เรามีอยู่เยอะเกินไปหรืออยู่ในช่วงที่ปลอดภัยดี
#หนี้สินต่อสินทรัพย์
เป็นการบอกว่าเรามีหนี้สินในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งไม่ควรมีเกิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์รวมทั้งหมด ถ้าเรามีหนี้มากเกินไป ก็ควรจะลดหนี้ที่มีลง และยิ่งอายุมากขึ้นก็ควรที่จะมีค่าน้อยลง
สูตรคำนวณ = (หนี้สินรวม ÷ สินทรัพย์รวม) x 100
#ภาระหนี้สินต่อเดือน
ตามทฤษฎีบอกว่าเราไม่ควรมีสัดส่วนหนี้สินเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน หรือไม่ควรเกิน 35 - 45% ของรายได้รวมต่อเดือน เพื่อให้เรายังมีเงินไว้เก็บออมและนำไปใช้จ่ายในแต่ละเดือนเพียงพอ
สูตรคำนวณ = (ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน ÷ รายได้รวมต่อเดือน) x 100
#ภาระหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนองต่อเดือน
เป็นการดูภาระหนี้สินต่อเดือนที่หักออกด้วยหนี้อสังหาฯ เช่น ยอดผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด เป็นต้น ซึ่งภาระหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนอง เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่ควรเกิน 15 - 20% ของรายได้รวมต่อเดือน
สูตรคำนวณ = ((ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน - หนี้อสังหาฯ ต่อเดือน) ÷ รายได้รวมต่อเดือน)) x 100
สำหรับคนที่ลองคำนวณตามอัตราส่วนด้านบนนี้แล้วผลลัพธ์ค่อนข้างปริ่มๆ ใกล้เคียงกันเกณฑ์ที่ห้ามเกิน เราอาจจะต้องเริ่มระมัดระวังในการก่อหนี้อื่นๆ เพิ่มในอนาคต หากอยากจะก่อหนี้เพิ่มอาจจะลองพิจารณาอีกทีว่าหนี้ก้อนใหม่นั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ส่วนคนที่คำนวณแล้วมีสัดส่วนหนี้สินเกินเกณฑ์ ถือว่าอยู่ในขั้นอันตรายแล้ว เราต้องรีบแก้ไขโดยด่วน หยุดการก่อหนี้ใหม่ และพยายามปลดหนี้เก่าให้หมดเร็วที่สุด รวมถึงอาจจะต้องหารายได้จากช่องทางอื่นเพิ่มเติม
.
สุดท้ายนี้ เราควรจะตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองเป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ ปีละครั้ง เพื่อให้การเงินของเราอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และถ้าพบเจอกับปัญหาสถานะทางการเงิน ณ เวลานั้น จะได้สามารถหาทางแก้ไขได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป
#FinSpace
โฆษณา