16 ม.ค. เวลา 12:02 • ความคิดเห็น
เมื่อเจ้าของกระทู้ใช้ธรรมะ เป็นแกนหลักในการนำร่องทางเดินชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งแล้ว ก็คงต้องตระหนักถึงกฎไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ ค่ะ เกิดขึ้นตั้งอยู่ ทนแรงบีบคั้นไม่ได้ แล้วก็ดับไปไม่เหลือเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย มีปัจจัยมากมายในชีวิตของคนเราที่ทั้งผลักและดึง ให้เราต้องเดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง หกล้มบ้าง ดีใจ เสียใจ เจ็บปวดรวดร้าว พระท่านก็มักพร่ำสอนแต่ว่า "ให้รู้เท่าทัน" แต่เราก็รู้อยู่ว่าพวกเรา ไม่มีทางรู้เท่าทันได้ทั้งหมด
ไม่ว่าคนเก่งหรือคนฉลาด ทุกคนควรจะต้องได้รับบทเรียนทั้งดีและร้าย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจ คนเก่งหรือคนฉลาดวัดกันตรงที่ เมื่อล้มแล้วลุกขึ้นได้ไวขนาดไหน เมื่อลุกขึ้นแล้ว ยังเดินต่อหรือไม่ เมื่อเดินต่อแล้ว เขายังมุ่งมั่นกับเป้าหมายหรือเปล่า เมื่อเป้าหมายห่างไกลออกไป เขาจะมีความสามารถในการคิดปรับเปลี่ยนเส้นทางอย่างไร
อันที่จริง หากเราคิดด้วยจิตที่ว่าง ระบบทุนนิยมไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอย่างที่คิดค่ะ แท้จริงแล้วระบบทุนนิยม เปิดโอกาสให้คุณเป็นเจ้าของ "ทรัพยากร" ต่างๆ อย่างยุติธรรมที่สุด แต่เพราะความมีอยู่จำกัดของมันต่างหาก ที่ทำให้การจะได้มาต้องใช้ระบบการแข่งขัน และมันก็ทำให้ผู้คน "ใช้ทุกวิถีทาง" ในการได้มันมาครอบครอง และคำว่า "ทุกคน" และ "ทรัพยากร" นี่เอง ที่เราอาจนำมาสอนเด็กสาวได้ว่า
"ทุกคน" ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า หรือผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เพียงใด ก็คือมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหารัก-โลภ-โกรธ-หลง ด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งพ่อและแม่ด้วย ดังนั้น เขาต้องเข้าใจ และมองเรื่องนี้ให้เป็นความธรรมดา โดยมีสติตั้งรับกับ "ทุกคน" และคำว่า "ทรัพยากร" นั้น เขาสามารถเลือกได้ว่า สิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อชีวิต หรืออาจสร้างปัญหาให้กับชีวิตในอนาคตของเขาได้ บ้านหรู รถหรูจำเป็นหรือ ไอโฟนไอแพด จำเป็นจริงๆหรือ นี่คือสิ่งที่เราจะให้เขาได้ค่ะ
แต่ที่สุดแล้ว ชีวิตเป็นของเขานะคะ
โฆษณา