20 ม.ค. 2024 เวลา 13:18 • หนังสือ

วานนี้ที่สุขุมวิท

คนเรามีความหลังความทรงจำด้วยกันทุกคน ยิ่งอายุมากขึ้นความหลังความทรงจำยิ่งเพิ่มพูนขึ้นตามวัย และส่วนมากความทรงจำมักจะเป็นอะไรที่นึกแล้วมีความสุขที่ได้นึกถึงเสมอ และอดเปรียบเทียบว่ามันสวยงามกว่าปัจจุบันตลอด ถึงกับมีวลีที่บอกว่า 'คนแก่ชอบพูดถึงเรื่องเก่าๆ'…เหมือนอย่างเพจนี้ไม่มีผิด
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ คงเป็นคนหนึ่งที่มีความหลังความทรงจำดีๆ มากมาย จึงได้เกิดหนังสือชื่อ 'วานนี้ที่สุขุมวิท' ขึ้น เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งยังเป็นเด็กและพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านในซอยบ้านกล้วยใต้
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ จบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฏหมาย รับราชการดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งทางราชการและการเมืองอย่างมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์ธงทอง คือผู้ที่มีความรู้ดีเยี่ยมในเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพระราชพิธี ประเพณีโบราณต่างๆ และเรื่องราวในรั้วในวัง
ในระหว่างที่เป็นอาจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ได้มีโอกาสเข้าถวายงานปฏิบัติราชการถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เช่นการเสด็จพระราชดำเนินตรวจการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525
คนเขียนได้รู้จักกับงานเขียนของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นครั้งแรก เมื่อท่านเขียนคอลัมน์ 'ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง' ลงในนิตยสารลลนาในช่วงราวๆ ปี พ.ศ. 2528 แนะนำให้คนอ่านได้รู้จักกับของดีในอดีตต่างๆ เช่นเครื่องต้น เครื่องทอง เครื่องแก้วและราชูปโภคต่างๆ ซึ่งต่อมาได้มีการพิมพ์รวมเล่มอยู่หลายครั้ง และอีกครั้งเมื่อหนังสือ'กำแพงแก้ว' ออกมาในปี พ.ศ. 2550 เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้านายสตรีและราชสำนักฝ่ายในที่ทำให้คนอ่านได้รับรู้ว่าในสมัยก่อนเจ้านายท่านได้รับการอบรมเลี้ยงดูกันมาอย่างไร
สำหรับ 'วานนี้ที่สุขุมวิท' เป็นเรื่องเล่าเบาๆ เกี่ยวกับถนนสุขุมวิทในอดีตเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ที่ถ้าใครเกิดและโตทัน มีความคุ้นเคยกับถนนสุขุมวิทและซอยต่างๆ บนถนนเส้นนี้อยู่บ้าง คงอ่านไปอุทานไป 'ใช่ๆๆ' แบบที่คนเขียนรู้สึกตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้
เช่นตอนที่เขียนถึงไซเลอร์ เบเกอรี ที่ปากซอยสุขุมวิท 51 ที่แสนโก้ในยุคนั้น ตัวตึกเป็นสีขาวและเหมือนตั้งอยู่บนเนินเล็กๆ เลยเข้าไปจากถนนใหญ่ และมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่หน้าตึกหรือยอดตึกที่เด่นสะดุดตามาก
คนเขียนเคยนั่งรถวิ่งไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพและปากน้ำสมุทรปราการอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งในช่วงวัยเด็ก สิ่งที่จำได้จากถนนเส้นนี้นอกจากไซเลอร์ เบเกอรีแล้ว คือสหกรณ์เอกมัย ตรงข้ามสถานีบ.ข.ส. เอกมัย ที่ในสมัยนั้นดูใหญ่โตและโก้สุดๆ แทบจะต้องแวะทุกครั้งที่ผ่าน
และสุดท้ายที่จำได้คือแถวสำโรงในสมัยนั้น สองข้างทางยังมีแต่ที่ว่างเปล่าและทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตา สิ่งเดียวที่จะสังเกตได้ คือเมื่อรถวิ่งถึงโรงเรียนนายเรือที่มีรั้วยาวเป็นกิโลเมื่อไหร่ แสดงเรากำลังใกล้เข้าเขตตัวเมืองปากน้ำสมุทรปราการแล้ว
หนังสือเล่มนี้ อ่านสนุกเพราะรื้อฟื้นความหลังที่บางเรื่องเราลืมไปแล้วให้ได้กลับมากิ้วก้าวตาวาวเมื่อนึกถึงขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ได้อ่านสนุกด้วยสำนวนหรือเรื่องราวที่โลดโผนพิสดาร ศาสตราจารย์ธงทองเขียนด้วยสำนวนแบบเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จบเรื่องนี้ก้อขึ้นเรื่องใหม่
หนังสือเล่มนี้สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีสำหรับใครก็ตามที่อยากเป็นนักเขียน ว่าการเป็นนักเขียนนั้นไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีวัตถุดิบที่แปลกใหม่มานำเสนอถึงจะประสบความสำเร็จ จริงๆ แล้วสิ่งที่เราคุ้นเคย รู้จักมันดีที่สุดนี่แหล่ะคือวัตถุดิบชั้นดีในการเขียนหนังสือให้ได้ดี
'วานนี้ที่สุขุมวิท' รวมเล่มพิมพ์เป็นครั้งแรกจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 เมื่อเดือนตุลาคมในปี พ.ศ. 2561 โดยสำนักพิมพ์มติชน ในราคา 240 บาท
แลกกับความสุขที่ได้รับเมื่อหวนกับไปนึกถึงอดีตของกรุงเทพเมื่อห้าหกสิบปีที่แล้ว ก็ถือว่าคุ้มค่าเลยทีเดียว
……………………
โฆษณา