26 ม.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วางแผน ’เงินออมเผื่อฉุกเฉิน’ เพื่อชีวิตไม่ฉุกละหุก

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราเกิดปัญหาเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ ทำให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาการเงิน จนเงินในกระเป๋าเริ่มติดขัดและไม่คล่องตัวเหมือนอย่างเคยจากหลายสาเหตุ ทั้งผลจากโรคระบาด การค้าขายที่ไม่ดีเหมือนเดิม หรือปัญหาตกงานที่พบเจอเพิ่มขึ้น …ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเรื่องเงินขาดมือ สิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้คือ การวางแผนเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินที่ทำให้อุ่นใจได้ในวันที่ภัยการเงินมาแบบไม่คาดคิด!
1
เงินออมเผื่อฉุกเฉินคืออะไร ? 👛
เงินออมเผื่อฉุกเฉินเป็นเงินออมประเภทแรกที่ทุกคนควรมี ควรเริ่มต้นเก็บก่อนเงินออมสำหรับลงทุนประเภทอื่น ๆ เพราะเป็นเงินที่จะนำมาใช้ในเหตุการณ์สุดวิสัยหรือเวลาต้องใช้เงินแบบที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้ามาก่อน เช่น ตกงาน หรือเจ็บป่วยหนัก นอกจากนั้นยังรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เราไม่เคยคิดว่าจะต้องใช้ เช่น ในสถานการณ์โควิด ที่เราต้องซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือประกันสุขภาพ
ทั้งหมดอาจจะกล่าวได้ว่าความหมายของเงินออมเผื่อฉุกเฉินคือ เงินเย็นก้อนแรกสำหรับใช้จ่ายในวันที่ปัญหาพุ่งชนเข้ามา และเราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเงินสำรองจ่ายก่อนนี้ โดยไม่กระทบต่อรายได้ที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการชำระหนี้ทั่วไป
หลักการคำนวณการเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉิน
โดยทั่วไปเงินออมเผื่อฉุกเฉินนั้นควรมีประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายและภาระหนี้ต่อเดือน แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน ทุกคนควรเก็บไว้ขั้นต่ำ 6 เท่า …ซึ่งการคำนวณนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ เริ่มต้นจากการตอบคำถาม 2 ข้อ
1. ในหนึ่งเดือนมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือค่าใช้จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และมีหนี้สินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเท่าใด
2. ถ้าเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ต้องตกงานหรือไม่สามารถทำงานได้ เราคิดว่าจะใช้เวลาหางานใหม่ได้ในระยะเวลาเท่าใด
เมื่อเราสามารถหาคำตอบของตัวเลขทั้ง 2 ข้อได้แล้ว ให้นำมาคำนวณตามสมการ คือ นำยอดข้อ 1 มาคูณกับจำนวนเดือนในข้อ 2 ก็จะได้ยอดเงินที่เราควรจะต้องมีไว้ในการออมฉุกเฉิน (ค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อเดือน x ระยะเวลาหางานเมื่อตกงาน)
ตัวอย่างการคำนวณที่สามารถทำตามเองได้ เช่น
👨‍🦰 นาย A เป็นพนักงานออฟฟิศ มีค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือนเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร และส่งเงินให้ที่บ้าน เป็นจำนวน 15,000 บาท และหากตกงานนาย A สามารถหางานได้ในระยะเวลา 3 เดือน ดังนั้นเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่ควรจะมีจึงเท่ากับ 15,000 x 3 เท่ากับว่านาย A ควรมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 45,000 บาท
👱‍♀️ นางสาว B ทำงานบริการทั่วไป มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณ 15,000 บาท แต่นางสาว B มีการกู้ยืมเงินที่ต้องผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท หากนางสาว B มีความสามารถในการหางานใหม่ในระยะเวลา 6 เดือน ดังนั้นเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่ควรจะมีจึงเท่ากับ (15,000 + 5,000) x 6 เท่ากับควรมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 120,000 บาท
การคำนวณเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่ใช่สมการที่ซับซ้อนแต่ทำได้จริง เพียงแต่เราจำเป็นต้องสามารถรับรู้ถึงรายจ่ายต่อเดือนที่ชัดเจน และสามารถประเมินสถานการณ์การหางานของตัวเองได้ โดยดูจากปัจจัยแวดล้อมและเศรษฐกิจทั่วไป
เทคนิคช่วยเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉิน (1 ลด - 3 เพิ่ม)
นอกจากเงินออมเผื่อฉุกเฉินจะสามารถคำนวณได้ผ่านสูตรคำนวณแล้ว ก็ยังมีเทคนิคที่จะช่วยให้เก็บเงินในส่วนนี้ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ผ่านแนวคิด ‘1 ลด - 3 เพิ่ม’ ที่หมายถึง
⬇ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมาเป็นเงินออม : คือการนำค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่เกิดขึ้นตัดออกมาเป็นส่วนเงินเก็บ เช่น ค่าอาหารนอกบ้าน ค่าสินค้าแฟชั่นแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น
⬆ เพิ่มบัญชีสำหรับการเก็บเงินออม : คือการแยกเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้อีกบัญชี ไม่รวมกับค่าใช้จ่ายประจำวัน และถอนใช้เฉพาะสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น
2
⬆ เพิ่มการตัดเงินแบบอัตโนมัติ : คือการเพิ่มวิธีการเก็บเงินที่เป็นระบบและวินัยมากขึ้น ด้วยการพึ่งพาการตัดเงินของบัญชีเมื่อเงินเดือนเข้าในทุก ๆ เดือน เพื่อป้องกันการลืมและทำให้เกิดความสม่ำเสมอ
⬆ เพิ่มเงินคืนในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินเมื่อใช้ : คือการเพิ่มเงินทันทีหรือหาวิธีออมทันที หลังจากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องนำเงินจากบัญชีดังกล่าวออกไปใช้ในยามมีเหตุจำเป็น
ด้วยการคำนวณที่ไม่ยากจนเกินไปพร้อมกับเทคนิคการเก็บเงิน เอไอเอหวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้มีแนวทางในการสร้างเงินออมเผื่อฉุกเฉินของตัวเอง เพื่อไว้ใช้สำหรับวันที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนะครับ
ขอบคุณข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา