23 ม.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

เข้าใจ โมเดลธุรกิจของบริษัท ผ่าน งบดุล

ถ้าพูดถึงงบแสดงฐานะทางการเงิน หรืองบดุล เราคงนึกถึงสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท
1
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะใช้งบดุล ในการตรวจสอบความแข็งแกร่งทางการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท
แต่รู้หรือไม่ว่าตัวเลขในงบดุล สามารถบอกให้เรารู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทกำลังใช้อยู่ได้
แล้วงบแสดงฐานะทางการเงิน หรืองบดุล จะช่วยบอกเราเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทใช้ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เมื่อบริษัทใช้โมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม ย่อมสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในงบดุล ซึ่งแสดงถึงฐานะทางการเงินของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น
- รายได้รับล่วงหน้า
รายได้รับล่วงหน้า ที่อยู่ในส่วนของหนี้สินในงบดุล จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทใช้โมเดลธุรกิจแบบเก็บเงินก่อนที่จะส่งมอบสินค้า หรือก่อนการให้บริการลูกค้า
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมรายได้รับล่วงหน้า ถึงอยู่ในส่วนของหนี้สิน ?
สาเหตุก็คือ บริษัทมีภาระผูกพันในอนาคต ที่จะต้องส่งมอบสินค้า และบริการในอนาคต ไม่ต่างอะไรจากหนี้เงินกู้ ที่มีภาระผูกพันว่าต้องจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้รายได้รับล่วงหน้าจะจัดว่าเป็นหนี้สิน แต่ก็ถือเป็นหนี้สินที่ดี เพราะรายได้รับล่วงหน้า จะทำให้มีเงินสดไหลเข้ามาในบริษัทเร็วขึ้น
ตัวอย่างบริษัท ที่มีสัดส่วนรายได้รับล่วงหน้าในงบดุลสูง ๆ ก็คือ Starbucks
โดย Starbucks คิดค้นระบบบัตรสมาชิกที่เรียกว่า Starbucks Rewards Card ซึ่งถูกใช้เป็นระบบชำระเงินด้วย
Starbucks จูงใจลูกค้าให้เติมเงินเข้าบัตรสมาชิกด้วยโปรโมชันสำหรับสมาชิก เช่น สะสมแต้มแลกเครื่องดื่มฟรี หรือให้เครื่องดื่มและขนมฟรี ในเดือนเกิดของเจ้าของบัตร
พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้ลูกค้านิยมมาสมัครสมาชิกบัตร Starbucks และเติมเงินในบัตรไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก
โดย Starbucks มีเงื่อนไขไม่คืนเงินที่ได้รับมาล่วงหน้าในทุกกรณี ทำให้รายได้รับล่วงหน้าตรงนี้ เป็นเงินที่ไม่ต้องคืนลูกค้าแน่นอน
ซึ่ง Starbucks มีสัดส่วนรายได้รับล่วงหน้า คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 26% ของสินทรัพย์รวม
ในขณะที่บริษัทอย่าง Yum! Brands เจ้าของร้านเคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ซึ่งจัดเป็นธุรกิจในกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเหมือนกับ Starbucks
แต่ไม่มีโมเดลธุรกิจในการดึงดูดให้ลูกค้าฝากเงินเข้ามาในบัตรสมาชิกเหมือน Starbucks ทำให้งบดุลของ Yum! Brands ไม่มีรายการ รายได้รับล่วงหน้า ในส่วนหนี้สินของบริษัท
 
- ลูกหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้า ที่อยู่ในสินทรัพย์หมุนเวียน จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีการขายสินค้า หรือบริการแบบเงินเชื่อ คือการส่งสินค้า หรือบริการให้ลูกค้าก่อนเก็บเงิน
บริษัทที่มีลูกหนี้การค้าน้อย เมื่อเทียบกับยอดขาย หรือไม่มีลูกหนี้การค้าเลย ก็คือบริษัทที่เน้นขายสินค้าหรือบริการ เป็นเงินสด
ขณะที่บริษัทที่มีลูกหนี้การค้าในสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกับรายได้ ก็คือบริษัทที่เน้นขายสินค้าหรือบริการ เป็นเงินเชื่อ
3
ตัวอย่างของบริษัทที่เน้นขายสินค้าเป็นเงินสดในไทย คือบริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI
โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 MOSHI มีลูกหนี้การค้าอยู่ที่เพียง 990,138 บาท ขณะที่ในไตรมาสเดียวกัน บริษัทมีรายได้รวม 588,715,316 บาท
แต่หากเทียบกับธุรกิจค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ อย่างบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในไตรมาสเดียวกัน มีลูกหนี้การค้าอยู่ที่ 2,650,874,000 บาท จากรายได้รวม 16,328,775,965 บาท
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า MOSHI มีสัดส่วนลูกหนี้การค้าน้อยกว่า COM7 เมื่อเทียบกับรายได้ของแต่ละบริษัท
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า MOSHI เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ ราคาไม่แพง ขณะที่ COM7 เน้นขายอุปกรณ์ไอที ซึ่งลูกค้ามักจะซื้อด้วยบัตรเครดิต
- ค่าความนิยม
ค่าความนิยม คือสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ที่บ่งบอกถึงประโยชน์ ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับ เมื่อซื้อกิจการอื่น
โดยคิดจาก ส่วนต่างของมูลค่าการซื้อกิจการจริง และมูลค่ายุติธรรม
ในขณะที่ มูลค่ายุติธรรม คำนวณจาก มูลค่าสินทรัพย์ หักด้วยหนี้สินของกิจการที่ถูกเข้าซื้อ
ซึ่งค่าความนิยมจะสูงขึ้น ตามความคาดการณ์ของบริษัทถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จากการซื้อกิจการส่วนเพิ่มนี้ในอนาคต
ดังนั้นบริษัทที่มีค่าความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ก็คือบริษัทที่มีกลยุทธ์เน้นซื้อกิจการ เพื่อสร้างการเติบโต หรือรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้
ตัวอย่างบริษัทที่เน้นซื้อกิจการ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ก็คือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น Microsoft และ Alphabet
อย่างไรก็ตาม ค่าความนิยมก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่นักลงทุนต้องระวัง เพราะหากบริษัทซื้อกิจการมาในราคาที่แพงเกินไป ค่าความนิยมที่มีมูลค่าสูงในงบดุล ก็อาจถูกลดมูลค่าลงในอนาคต
และถ้าเป็นแบบนั้น มูลค่าของค่าความนิยมที่หายไป บริษัทก็อาจตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ เป็นรายการค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนได้
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นได้ว่านอกจากงบแสดงฐานะทางการเงิน จะบอกเราเกี่ยวกับสุขภาพทางการเงินของบริษัทแล้ว ก็ยังบอกให้เรารู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทใช้อีกด้วย
ซึ่งเราก็สามารถนำข้อมูลจากบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใช้ตรวจสอบว่าบริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจตรงกับที่ผู้บริหารบริษัทเคยกล่าวไว้หรือไม่..
References
- งบการเงินประจำไตรมาส 3/2565 บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- งบการเงินประจำไตรมาส 3/2565 บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)
โฆษณา