23 ม.ค. เวลา 08:59 • สิ่งแวดล้อม

รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยมี ‘แร้ง’ อยู่ในธรรมชาติด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด

เป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล และเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด ได้แก่ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และ แร้งดำหิมาลัย
แร้ง หรืออีแร้ง ถึงแม้จะเป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกนักล่า (Bird of prey) แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับเหยี่ยวหรือนกอินทรี แร้งจะไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วกินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น นกตระกูลแร้งจึงเปรียบเสมือน ‘เทศบาลประจำผืนป่า’ หรือกองควบคุมโรค ผู้มีหน้าที่รักษาความสะอาด และด้วยจะงอยปากที่หนาและแข็งแรง พวกมันสามารถฉีกกินเอ็นและพังผืด ซึ่งสัตว์ชนิดอื่นทำไม่ได้ มันจึงเป็นนักเก็บกวาดซากได้อย่างหมดจด
ในร่างกายของแร้งมีความพิเศษตรงที่มีกรดเกลือในกระเพาะอาหาร มีบทบาทช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่าที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมตัวของสัตว์หลายชนิดจำนวนมากที่ซากสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า ตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศ ผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ
หากที่ไหนมีแร้ง พื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกกลุ่มแร้งนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่ก็ว่าได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทยและนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม คือ ป่านเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงมีความพยายามในการช่วยกันฟื้นฟูประชากรพญาแร้งและเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์กินซาก (Scavenger) ผ่านโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ
ปัจจุบัน แร้งประจำถิ่นของไทยทั้ง 3 ชนิด ถูกจัดอยู่ในสถานะสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ อยากรู้ว่าเพราะอะไร อย่าลืมติดตามอ่านตอนต่อไปกันนะคะ
โฆษณา