27 ม.ค. เวลา 03:00 • หนังสือ

ที่เกิดเหตุ: บันทึกการอ่าน ก่อนเดินทางสู่ชายแดนใต้

ด้วยภารกิจที่ต้องเดินทางลงใต้
เครื่องบินออกจากสุวรรณภูมิและร่อนลงที่สงขลา
หาดใหญ่เป็นเมืองที่สวยงาม น่าค้นหา ทว่า ที่นี่เป็นเพียงทางผ่าน
เป้าหมายของการเดินทาง คือสามจังหวัดชายแดน
จุดหมายปลายทางที่ผมไม่เคยคุ้นมาก่อน
…สถานที่เกิดเหตุ
ในฐานะคนที่ชอบอ่านและรักในการทำบทสัมภาษณ์ งานของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ หลายเล่มล้วนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้แก่ตน ทั้งเพื่อเติมใจยามเหนื่อยล้า และเพื่อเติมไฟยามที่สมองตีบตันไร้กระบวนท่าเมื่อต้องปฏิบัติการงานอันเป็นที่รัก
สำหรับผมความโดดเด่นในงานของวรพจน์คือ ‘เสียง’
เสียงที่ว่าคือเสียงของเหล่าผู้คนที่เขาได้ผ่านพบและสนทนาด้วย แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของเขาย่อมไม่ได้อยู่ที่เขาได้สนทนากับเสียงเหล่านั้นได้อย่างไร เรื่องแบบนี้หากทำงานมานานพอและสร้างความน่าเชื่อถือพอประมาณให้กับตนเองได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาทำอย่างไรให้ผู้สนทนาเปล่งเสียงบางเสียงที่เราไม่เคยได้ยินออกมาได้
ในอีกมุมหนึ่ง งานเขียนของวรพจน์มักบันทึกเสียงที่เราไม่ได้ยิน
ไม่ก็เป็นเสียงที่เราอาจได้ยิน แต่อาจทำเป็นหูทวนลมหรือไม่ได้เก็บมาใส่ใจ เสียงของเหล่าคนธรรมดา เสียงของคนตัวเล็กๆ เสียงของคนที่ถูกลืม
ด้วยภารกิจและหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมหยิบหนังสือ ที่เกิดเหตุ (พิมพ์ครั้งแรก 2550) ออกจากกรุมาเพื่อทำการบ้านก่อนออกเดินทาง นี่คือความเรียงบันทึกชีวิตและเสียงของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วรพจน์ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่กว่า 1 ปี
หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนชั้นหนังสือที่บ้านมานานหลายปี แต่กลับไม่ถูกเปิดอ่านเลยสักครั้ง กระทั่งตระหนักได้ว่าตนเองก็เป็นผลผลิตของรัฐไทยที่ปลูกจิตสำนึกบางชุดเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดไว้ในหัว และในอีกด้านก็ปลูกฝังความไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่ตื่นตัว เพราะเป็นประเด็นที่ห่างไกลจากตน
ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า ช่วยไม่ได้ ก็ ‘ที่เกิดเหตุ’ อยู่ห่างใกล้บ้านนับพันกิโล คงช่วยไม่ได้ที่เราจะไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน นอกจากต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนลงพื้นที่แล้ว อีกหนึ่งเหตุผลคือนอกจากประวัติศาสตร์ของดินแดนปาตานี ความขัดแย้งระหว่างชาวมลายูมุสลิมและรัฐไทย นโยบายความมั่นคงของประเทศซึ่งอาจหาอ่านได้ตามอินเทอร์เน็ตและหนังสือวิชาการแล้ว ก็ตระหนักได้ว่าตัวเองแทบไม่รู้เลยว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นมีชีวิตอยู่อย่างไร มีความคิดและความรู้สึกอย่างไร ไม่เคยทราบ ไม่เคยได้ยินเสียงของพวกเขา
เมื่อไม่รู้ จึงเกิดเป็นความกลัว กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวในวิถีทางและชุดความคิดที่ตนไม่เข้าใจ เป็นชุดความกลัวทั่วไปที่รัฐไทยประสบความสำเร็จในการปลูกฝังให้กับผู้คน
ถึงเวลาแล้วที่ต้องสดับความกลัว เปิดใจให้กว้าง เพื่อฟังเสียงที่เราไม่เคยได้ยิน
บทแรกของหนังสือเปิดมาด้วยเสียงระเบิด
คนตายเป็นครูสาว 2 คนที่ขับมอเตอร์ไซค์ออกมาซื้อชาดำเย็น มีทหารได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากชีวิตมนุษย์และความเสียหายทางอินทรีย์สารแล้ว ยานพาหนะและตึกรามบ้านช่องก็ได้รับความเสียหายจากสะเก็ดระเบิด
ครู พระสงฆ์ ทหาร คือเหยื่อขาประจำของผู้ก่อเหตุนิรนาม และถ้าหากทักษะการอ่านระหว่างบรรทัดของตนยังพอไปวัดไปวาได้อยู่บ้าง คงรวมผู้คนต่างถิ่นและนักเดินทางขาจรไว้ด้วย
เมื่อจบบทแรก ความกลัวจากความไม่รู้ แปรเปลี่ยนเป็นความกลัวจากการได้รู้ทันที
ไปต่อหรือพอแค่นี้ คำถามที่ใช้ทบทวนได้กับทั้งการเดินทางที่กำลังจะมาถึงและการวางหนังสือเล่มนี้ลงและเอาเก็บใส่กรุ
พลันตระหนักถึงคุณค่าจากหนังสือเล่มนี้ได้ว่า อย่างน้อยความกลัวจากการได้รู้ ก็ยังดีกว่าความกลัวจากการไม่รู้
หากรู้จักเขาแล้ว หากเข้าใจเขาแล้ว ถ้ายังกลัวอยู่ก็ไม่เป็นไร คนเราเกิดมาด้วยเงื่อนไขชีวิตและการปลูกฝังทัศนคติที่แตกต่างกัน อย่างน้อยก็ยังดีกว่ากลัวในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น หรือกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงไหม
รู้เขารู้เรา ย่อมไม่ใช่เรื่องเสียหาย
แต่ต้องไม่ตามมาด้วย ‘รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’
เพราะนี่ไม่ใช่การรบ สิ่งที่ทุกคนมองหาไม่ใช่ชัยชนะ
แต่เป็นสันติ
แม้ไม่อยากพูดจาหรือใช้ถ้อยคำที่แบ่งเขาแบ่งเรา แต่ผมคิดว่าในหลายๆ เรื่อง การแยกเขาแยกเราให้ออกก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ยิ่งถ้าหากเขาแตกต่างจากเรา และไม่ได้ต้องการเป็นเหมือนเรา เราควรทำความเข้าใจตรงนี้
ไม่ใช่เอาแต่บอกว่าจะเขาหรือเราก็ล้วนไม่ต่างกัน อยู่บนแผ่นดินเดียวกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน
รัฐสื่อสารแบบนี้มานับร้อยปีแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นเขา เขาก็ยังไม่เป็นเรา
แน่นอนว่าการทำความเข้าใจเขาให้มากขึ้นย่อมมีคุณูปการหลายอย่าง คนเข้าใจกันมากขึ้นทำไมจะไม่ดี เรื่องราวของครูมุสลิมที่เหนื่อยเหน็ดและท้อแท้กับการสอนนักเรียน ชีวิตของนักศึกษาจิตรกรรมที่ยังคงยึดมั่นในความเชื่อทางศาสนาอย่างไม่สั่นคลอน เรื่องของหนุ่มชาวพุทธที่รักสาวคนหนึ่งจนหมดใจ ถึงขั้นยอมเปลี่ยนศาสนาและพบว่าทางสายนี้เป็นทางที่เขาศรัทธาหมดหัวใจ
นอกเหนือจากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองเอาตัวเราไปอยู่ในโลกของเขาบ้างด้วยก็ดี และหลายบทในหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจโลกของเขามากขึ้น
สำรวจโลกของเขาแล้ว อย่าลืมกลับมาสำรวจโลกของตัวเอง มนุษย์อยู่บนโลกนี้มานานเป็นแสนๆ ปี กว่าจะเข้าใจว่าโลกนี้ไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล กว่าจะเข้าใจว่ามีสิ่งที่เรียกว่าแรงโน้มถ่วง อย่าคิดว่าตัวเองเข้าใจโลกของตัวเองดีนัก
หนังสือเล่มนี้พาผมไปสำรวจโลกของความเชื่อและศรัทธา
พระสงฆ์รูปหนึ่งสนทนากับวรพจน์ บอกเล่าประสบการณ์ตัวเองในวัยเด็กที่มีเพื่อนมุสลิมที่เล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน เด็กก็คือเด็ก จะศาสนาอะไร ขอแค่วิ่งได้ ปีนได้ เตะบอลได้ ล้วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ตั้งแต่เด็กจนโตมีเพื่อนชาวมุสลิมสม่ำเสมอ วนเวียนเปลี่ยนผันไปตามอายุ ความไม่เข้าใจในความแตกต่างทางความเชื่อและวิถีชีวิตมีบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตายหรือเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้ง เช่น สมัยอนุบาลซึ่งต้องกินข้าวถาดหลุม อิจฉาเพื่อนมุสลิมที่ได้กินไก่ทอดอยู่บ่อยๆ หรือเมื่อโตขึ้นมาหน่อยก็อาจมีความสงสัยในวิถีการกินของเพื่อนชาวมุสลิมที่จริงจังและเคร่งครัดกับอาหารฮาลาล แต่โนพร็อบเบลมกับการออกไปดื่มด่ำสุราทุกค่ำคืน
ทำไงได้ ต่างความคิด ชีวิตคนละแบบ
ในฐานะชาวพุทธที่ตลอดชีวิตที่อีกไม่กี่ปีจะเข้าสู่วัย 30 บวชเรียนมาแล้ว 3 ครั้ง แม้จะไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมนัก แต่คิดว่าใช้ชีวิตอยู่ในวิถีชาวพุทธไม่ใช่น้อย นั่นคือการครองสติและรู้จักการปล่อยวาง
มีสติอยู่เสมอ รู้ตัวรู้ตน รู้ในรู้นอก ตลอดเวลา ทั้งเวลาทำงาน เวลาเรียน เวลาเล่น สำคัญมากๆ เมื่อเผชิญความโกรธ เผชิญความเศร้า เผชิญความสิ้นหวัง จะครองสติอยู่ได้ไหม จะจัดการกับทั้งในและนอกของตัวเองอย่างไร
สุดท้าย ถ้าจัดการกับสิ่งที่เข้ามาไม่ได้ ก็คงทำได้แค่ปล่อยวาง
พลาดพลั้งไปแล้ว สอบตกเสียแล้ว รถชนเสียแล้ว เลิกรากันเสียแล้ว ตัดขาดกันเสียแล้ว จากกันเสียแล้ว ถ้าทำถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนก็คงต้องปล่อยวาง
หลักการง่ายๆ แต่เมื่อต้องมาปฏิบัติจริงไม่ได้ง่ายเหมือนปากพูด ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น วัดโดนบุกยิง หลวงตาที่เคารพถูกบุกเข้ากุฏิกลางดึกและฟันคอขาดมรณภาพคาที่
พระสงฆ์รูปหนึ่งยอมรับกับวรพจน์ว่าถ้าเกิดเหตุขึ้นอีก อาจลงมือฆ่าผู้ก่อเหตุได้ นี่ไม่ใช่บทสนทนาที่เต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย แต่เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจในศรัทธาของตนเอง ว่าจะคงยึดมั่นในศีลธรรม ครองสติ และปล่อยวางได้ไหม หากเกิดเหตุเลวร้ายเช่นนั้นขึ้น
ย้อนกลับมาสำรวจใจของตัวเอง ขนาดพระสงฆ์ที่อยู่ใต้ร่มเงาพุทธศาสนามายาวนานยังเกิดความรู้สึกเช่นนั้นได้ และตัวเองเป็นพระโพธิสัตว์มาจากไหนถึงได้แน่ใจในความเป็นชาวพุทธที่ดีของตนเองนัก
ในการเดินทางครั้งนี้ บทบาทของผมคือ ‘สื่อมวลชน’
ผมและเพื่อนอีกคนเป็นตัวแทนของสื่อแห่งหนึ่งจากภาคกลาง ที่จะเดินทางไปศึกษาและทำประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกับเพื่อนสื่ออื่นๆ จากทุกภูมิภาค เหนือ ใต้ และอีสาน
เช่นเดียวกับวรพจน์ที่ในการเดินทางตลอดทั้งเล่มของเขา เพื่อนร่วมทางของเขาคือนักข่าวในพื้นที่ที่ล้วนใกล้ชิดกับเหตุการณ์และเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน
ในพื้นที่สามจังหวัด อาชีพนักข่าวล้วนเป็นหนึ่งในอาชีพที่เสี่ยงตายอาชีพหนึ่ง ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ จะค้าขาย ซ่อมจักรยาน หรือเป็นหมอฟัน แน่นอนว่าก็ย่อมเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทุกอาชีพเสมอภาคกันต่อหน้ากระสุนปืนและสะเก็ดระเบิด
จุดต่างอยู่ตรงที่ในขณะที่เมื่อเสียงระเบิดและเสียงปืนดังกึกก้อง หลายอาชีพพุ่งเข้าที่กำบัง รับสายโทรศัพท์จากญาติมิตรให้อยู่ในบ้านอย่างมิดชิดอย่าออกไปไหน แต่นักข่าวต้องคว้ากล้องถ่ายรูป ผูกเชือกรองเท้า สตาร์ตมอเตอร์ไซค์และพุ่งไปยังที่เกิดเหตุทันที
ขณะที่หลายคนความจริงจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ขอแค่เอาตัวรอดเป็นยอดดี นักข่าวกลับเลือกที่จะเดินหน้าเข้าหาความจริงเหนือสวัสดิภาพในเนื้อตัวร่างกาย ถึงตัวจะตาย ก็ตายเพราะได้รู้ความจริง
วรพจน์เดินทางมาที่นี่ เพราะต้องการหาความจริงเช่นกัน แต่ไม่ใช่ความจริงเกี่ยวกับรายละเอียดเหตุการณ์ ใครคือผู้ทำ ฉนวนเหตุคืออะไร แรงจูงใจคืออะไร
แต่เป็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตผู้คน พ่อแม่ที่สูญเสียลูกจากการวางระเบิดรู้สึกอย่างไร ทหารจากภาคต่างๆ ที่ถูกส่งมาอยู่ในพื้นที่รู้สึกอย่างไร พระสงฆ์รู้สึกอย่างไร ครูรู้สึกอย่างไร อาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกอย่างไร เด็กรู้สึกอย่างไร
ในวิชาการเขียนข่าว เป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาเนิ่นนานที่นักข่าวจะต้องบันทึกข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความรู้สึก บันทึกถ้อยคำ ไม่ใช่น้ำเสียง
แต่หากการบันทึกข้อเท็จจริงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ผ่านมาเกือบร้อยปี เราคงไม่ต้องพูดถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เราคงไม่ต้องมีผู้ถูกจับ ถูกหมายศาล เพียงเพราะสวมชุดมลายู
หากไม่รับรู้ว่าคนในพื้นที่รู้สึกอย่างไร แล้วจะเข้าใจเขาอย่างแท้จริงได้อย่างไร
หากไม่ว่าเสียงที่เปล่งออกมามีอารมณ์อะไรซ่อนอยู่ จะเข้าใจความเจ็บปวดของพวกเขาได้อย่างไร
เตือนตัวเองในฐานะสื่อตัวเล็กๆ ว่าระยะเวลา 5 วัน คงไม่ทำให้เราสามารถเข้าใจข้อเท็จจริงได้อย่างกระจ่างแจ้ง และคงไม่สามารถเก็บทุกประเด็นที่อ่อนไหวมานำเสนอได้อย่างครบถ้วน
ถ้างั้นเราควรบันทึกอารมณ์และน้ำเสียงของผู้คนไว้ให้มากที่สุด ซึ่งทำได้เพียงสนทนาและสบตากับคนรอบตัว เก็บอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นกลับมา
เพราะน่าจะเป็นสิ่งเหล่านี้มากกว่าที่ทำให้ผู้คนตาสว่างและลดอคติต่อกัน
หนังสือเล่มนี้ผ่านกาลเวลามากว่า 15 ปีแล้ว ถ้าเป็นข่าวก็คงเป็นข่าวเก่าที่สถานการณ์ต่างๆ ย่อมเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเป็นงานวิจัยก็มีงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ มาหักล้างไปจนหมดสิ้น
สิ่งต่างๆ อาจดีขึ้น หรือมันอาจแย่ลงก็ได้ ไม่มีใครรู้ จะรู้ได้อย่างเดียวคือต้องเดินทางไปดู ไปรับรู้ ไปฟัง
ชวนให้ย้อนคิดว่า อคติและความกลัวของคนในสังคมเราที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดนั้น มีอายุยืนยาวมากแค่ไหน ลุงทหารผ่านศึกข้างบ้านอาจเคยประจำการที่ภาคใต้เมื่อปี 2548 แต่ปัจจุบันผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ยังคงเชื่อและส่งต่อสิ่งที่รับรู้มาราวกับว่าความเปลี่ยนแปลงไม่เคยมีอยู่บนโลก
อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์หรือผู้คนอาจเปลี่ยนแปลงไป สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือมันยังคงเป็น ‘ที่เกิดเหตุ’ อยู่เสมอ
ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงไม่ปรับมุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงและหากระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติอย่างจริงจัง ที่เกิดเหตุจะยังคงเป็นที่เกิดเหตุ และเหตุก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น
โฆษณา