Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Kirikhan Spirits - คีรีขาล
•
ติดตาม
27 ม.ค. 2024 เวลา 12:04 • ธุรกิจ
ทำความรู้จัก “วอดก้า” (Vodka) ประวัติศาสตร์อำนาจของน้ำสีใสๆ แต่ไม่ธรรมดา Part 2
หลังจากที่พระนางแคทเธอรีนที่ 2 ได้มีการยกเลิกระบบผูกขาด vodka ชาวบ้านหรือคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการผลิต ก็แอบกลั่นกันเอง ซึ่งรัฐถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่การกลั่นแบบนี้กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1812 รัสเซียได้ถูกรุกรานจากฝรั่งเศส จนก่อให้เกิดสงครามนโปเลียนขึ้น จึงทำให้รัสเซียต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ ค่าเงินตกต่ำ เนื่องจากเงินในท้องพระคลังถูกนำไปใช้ในการทำสงครามเพื่อปกป้องประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยึดกรรมสิทธิ์การครอบครองโรงงานวอดก้า เพื่อสร้างรายได้กลับคืนมาให้แก่รัฐของจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อสงครามกับนโปเลียนสิ้นสุดลง วอดก้ารัสเซียได้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในฝรั่งเศส
ต่อมาในระหว่าง ค.ศ. 1904-1905 เป็นช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ได้มีประกาศห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มวอดก้าขึ้นเป็นครั้งแรก และครั้งที่สองใน ค.ศ. 1914-1918 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อให้เหล่าพลทหารในกองทัพมีสติและตั้งใจในการต่อสู้กับเหล่า ข้าศึก และได้สิ้นสุดลง เมื่อสงครามจบ
หลังจากปี ค.ศ. 1917 นายวลาดิมีร์ เลนิน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคบอลเชวิคในขณะนั้นได้กำหนดการห้ามดื่มวอดก้าเป็นกฎพื้นฐานของพรรคบอลเชวิค จนได้กลายเป็นกฎหมายห้ามดื่มวอดก้าในภายหลัง ซึ่งเลนินได้กล่าวอ้างว่าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทรงพยายามใช้วอดก้ามอมเมาประชาชนเพื่อดึงความสนใจของประชาชนจากพวกปฏิวัติใต้ดินที่ต้องการล้มล้างระบบซาร์หรือพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งกฏหมายดังกล่าวได้นำไปสู่การลดจำนวนลงของผู้บริโภควอดก้า แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายนั้นยังไม่สามารถปฏิบัติได้ในเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กและกรุงมอสโก
ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1917 อำนาจของโซเวียตใหม่ก็ได้เข้ามาทำลายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยพยายามจะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นหายไป
ต่อมาในปีค.ศ. 1920 ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง โดยในไซบีเรียมีการนำฉลากวอดก้ามาใช้แทนเงิน ซึ่งจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำนั้นจึงมีการรณรงค์ให้ดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน
ในปี ค.ศ. 1921 โดยการเลิกดื่มวอดก้าและเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายให้ประหยัดมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะพัฒนาค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจนในปี ค.ศ. 1921-1922 ไวน์และเบียร์ได้ถูกนำกลับมาขายอย่างอิสระอีกครั้ง โดยในช่วงนั้นวอดก้ามียอดขายที่ลดลง
เมื่อถึงยุคของโจเซฟ สตาลิน มีการยกเลิกกฎหมายการห้ามดื่มวอดก้าจากรัฐบาลโซเวียตในปี ค.ศ. 1925 และได้มีการขยายการผลิตวอดก้ารวมถึงการเพิ่มระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในวอดก้าให้มีดีกรีที่สูงมากขึ้น นอกจากนี้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 วอดก้ายังถูก นำมาใช้เป็นเครื่องมือให้แก่พลทหารในกองทัพ โดยทุกมื้อของอาหารสามารถดื่มวอดก้าได้ อีกทั้งรัฐบาลยังใช้วอดก้าเป็นเครื่องมือในการควบคุมแรงงานกรรมกรเพื่อช่วยคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงานอย่างหนักและมอมเมาไม่ให้เหล่าแรงงานลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐ
ในช่วงปี ค.ศ. 1991 บอริส เยลต์ซิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1992 และได้ประกาศยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายวอดก้าที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ช่วงนั้นรัสเซียเต็มไปด้วยวอดก้าราคาถูกที่มีคุณภาพต่ำและวอดก้าเถื่อนที่ทำมาจากแอลกอฮอล์ที่มีพิษ หรือ แม้แต่การนำเข้าวอดก้ายี่ห้อต่างประเทศจำนวนมาก
ทำให้ภายใน 1 ปี รายได้หลักของรัสเซียที่มาจากวอดก้าตกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการยกเลิกดังกล่าวของเยลต์ซินนั้นได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสถานการณ์การเงินของรัฐที่มาจากการเก็บภาษีและจำหน่ายวอดก้า จนเยลต์ซินยอมรับความผิดพลาดต่อการประกาศยกเลิกระบบและให้รัฐกลับมาเป็นผู้ผูกขาดทั้งหมดในปี ค.ศ. 1993 แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากในช่วงที่ยกเลิกการผูกขาดนั้น ได้มีการส่งออกวอดก้าที่มีอยู่ในราคาถูกจนหมด ทำให้สินค้าขาดตลาด คนในประเทศจึงต้อง หันมาบริโภควอดก้าเถื่อนหรือวอดก้าที่ไม่มีคุณภาพตามเดิม
ในช่วงปี ค.ศ. 2000 วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้ชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเยลต์ซิน โดยปูตินได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหาและควบคุมการผลิต การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เถื่อนและการกลั่นวอดก้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนชาวรัสเซียเสียชีวิต โดยปูตินได้กล่าวว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวรัสเซียเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ปูตินจึงได้นำระบบผูกขาดการผลิตวอดก้ากลับมาใช้อีกครั้งและออกกฎหมายเพื่อควบคุมและปราบปรามการผลิตวอดก้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตของชาวรัสเซียและยังสามารถนำวอดก้ามาเพิ่มมูลค่าโดยมีรัฐควบคุม และสร้างเป็นสินค้าส่งออกของรัสเซีย โดยกำหนดกรอบให้มีภาษีวอดก้าขึ้น
ปัจจุบันวอดก้าเป็นมากกว่าเครื่องดื่มประจำชาติ น้ำเมาชนิดนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมืองของรัสเซียมาโดยตลอด นับแต่ยุคจักรวรรดิ ผ่านยุคสหภาพโซเวียตจนมาถึงสหพันธรัฐ ผู้นำมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นลงสู่อำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือรายได้จากเครื่องดื่มน้ำเมา
รู้หรือไม่ : นักเคมีชาวรัสเซีย Dmitri Mendeleev ได้ค้นพบว่าอัตราส่วนของน้ำและแอลกอฮอล์ที่ดีที่สุด ควรอยู่ที่ 38% (Vol.38)
อ้างอิง :
https://km-ir.arts.tu.ac.th/s/ir/media/3274
https://th.wikipedia.org/wiki/วอดก้า
https://en.wikipedia.org/wiki/Vodka
คีรีขาล
kirikhanspirits.me
Kirikhan Spirits - คีรีขาล
สัมผัสรสชาติแห่งเมืองเหนือ ผ่านสุราขาวคีรีขาล ลิ้มรสความพิถีพิถันของเมล็ดข้าว ที่ถูกกลั่น จากท้องนาเมืองพะเยา ช่วยกันสืบสานตำนานเหล้าไทยให้รุ่งเรื่องสืบไป
เยี่ยมชม
#คีรีขาล #วอดก้า #vodka #คนกลั่นข้าว #สุราประชาชน #สุราก้าวหน้า #สุรากลั่นชุมชน
#บทความนี้มิใช่เพื่อเชิญชวนมาดื่มหรือโฆษณาแต่อย่างใด
ธุรกิจ
ความรู้รอบตัว
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย