27 ม.ค. เวลา 12:46 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] _RUKRUKLERKLERK - underscoreLESS >>> JAI RUK

“ฉันรู้ว่าเราโตมาในประเทศที่เพลงรักๆเจ็บๆล้นเมือง”
-ประโยคเปิดอินโทร _RUK ที่ระบายความอัดอั้นที่คัลเจอร์เพลงไทยมักจะพรั่งพรูด้วยเพลงรักอกหักมากมายเสียจนหาเพลงที่ไม่เกี่ยวกับความรักความเศร้ายากเหลือเกิน อาจจะมีแต่ก็ไม่อยู่ในกระแสเมนสตรีมมากเท่าไหร่นัก
-นี่อาจจะไม่ใช่แค่การระบายความอัดอั้น แต่เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะมาสร้างความแตกต่างในซอกหลืบของวงการเพลงไทยที่เพลงรักๆเจ็บๆผุดเป็นดอกเห็ดไม่ต่างจากคอนโดในกรุงเทพ การได้มาเป็นศิลปินภายใต้สังกัด Sony Music Thailand ยิ่งการันตีถึงความพร้อมในแง่ของทุนทรัพย์และการติดปีกพีอาร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
-เริ่มต้นเส้นทางศิลปินด้วยวิถีอินดี้ไร้ค่าย ย่อมเป็นธรรมดาที่ cult following ของพวกเขาจะเป็นห่วงในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่อาจจะถูกจำกัดหรือโอนอ่อนตามกระแสนิยมหรือไม่? ขอบอกเลยว่า สองหนุ่ม คิม (_mig-j) และ บิลลี่ (_lilb) ยังคงเป็นความพิศวงอันน่าฉงนสนเท่ห์ภายใต้หน้ากากญี่ปุ่น พร้อมทั้งชาวคณะเต้นรำและประสานเสียงที่เป็นเสียงสองขับเคลื่อนสีสันความแปลกที่ไม่ยึดติดว่าจะต้องไปยึดโยงที่ไอ้หนุ่มคิมเสมอไป นั่นก็สบายใจได้เลยว่า พลังงานแห่งอินดี้ ไม่เคยถูกลดทอนไปแม้แต่นิดเดียว
-ทั้งนี้พวกเขายังคงมาพร้อมกับ “ความคาดเดาไม่ได้” อันเป็นลายเซ็นต์ที่แหล่มชัดเสมอมา จะเห็นได้ว่าพวกเขามีเพลงหลากหลายอารมณ์ ทั้งประชดประชันแบบ From Bangkok to Betong ครุ่นคิดแบบ Everybody Wants To Hit The Road, But อยากกลับไปเล่นกับเพื่อนสมัยเรียน EXBESTFRIEND ล้วนแล้วแต่เป็นความไฮเปอร์ที่วูบวาบทางความคิดจนเดาทางไม่ถูก ซึ่งนับว่าดีตรงที่อย่างน้อยก็ไม่ได้ยึดติดที่เรื่องใดเรื่องนึงจนเกินไป
-การเปิดตัวด้วยซิงเกิ้ล don’t you even cry หวือหวาที่สุดในอัลบั้มนี้ พวกเอ็งเล่นเปิดโหมดบู๊เลยเว้ย ระบายความอัดอั้นที่ถูกมองว่าเป็นคนไร้จิตใจจากการไม่เสียน้ำตา ทั้งๆที่ข้างในกูก็แหลกสลายเหมือนกัน แทนที่จะถามไถ่ให้กำลังใจ แต่กลับมาถามว่า ทำไมเอ็งไม่ร้องไห้ที่ย่าเสียไปล่ะวะ?
-ซิงเกิ้ลแรกก็ว่าบู๊แล้ว ซิงเกิ้ลถัดมา Last Festival คนละฟีลราวฟ้ากับเหว แต่ก็ทำให้ค้นพบว่า พวกเขาก็แต่งเพลงลึกซึ้งกินใจเป็นเหมือนกัน และก็ไม่ได้มาเวย์บัลลาดเค้นดราม่ากะเอาบ่อน้ำตาแตกให้ได้เดี๋ยวนั้น พวกเขารู้จักที่จะให้ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ คิดถึงถวิลหาทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแน่นอนว่ามันได้กลายเป็นเพลงงานศพที่ยอดเยี่ยมเปี่ยมหัวใจ รวมไปถึงการเล่นคำที่แพรวพราว โดยเฉพาะ “ใจลาจากร่างร้างลืมเลือน” ที่ยังคงเป็นวลีที่ตราตรึงถึงทุกวันนี้
-ซิงเกิ้ลที่สาม notOKkrubbossx ดูเหมือนจะเป็น ความสนุกแบบฉบับ underscoreLESS ที่เราคุ้นเคยมากที่สุด วิถีแห่งความประชดประชันโลกแห่งการทำงานที่แสนจุกจิก แม้แต่สามทุ่มก็ยังตามงาน แปลกดีที่ศิลปินคนอื่นๆไม่ค่อยหยิบประเด็นนี้มาเล่นมากเท่าไหร่นัก ทั้งๆที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนฟังทุกหมู่เหล่าเหลือเกิน ในที่สุดก็มีดูโอ้หน้ากากเนี่ยแหละที่ขยี้ความอัดอั้นนี้เสียที
-Shower Mic ก็พูดถึงมุมส่วนตัวที่ทุกคนต่างก็เคยเปิดเพลงฟังระหว่างอาบน้ำหรือร้องเพลงกับฝักบัวแทบทั้งนั้น ท่วงทำนองแสน lively ร่าเริงแตกต่างจากสามซิงเกิ้ลที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง เห็นมั้ยล่ะว่าการปูทางสู่อัลบั้มเต็มชุดแรกของพวกเขาช่างเดาทางไม่ออกเลย
-เมื่อได้เห็นภาพปกอัลบั้มสองหนุ่มวิ่งเล่นในทุ่งหญ้าเป็นวงกลมบวกกับเนื้อหาเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มที่ไม่ได้พูดถึงความรักและการเลิกราโดยตรง แต่เป็นการพาผู้ฟังผ่านพ้นประสบการณ์ชีวิตที่มีทั้งข้อโต้แย้ง ขมขื่น ตลกร้ายมากกว่าสุขสมหวังเสียอีก นั่นก็ทำให้ผมแอบตีความภาพปกอัลบั้มไปในเชิงทีจริงมากกว่าทีจริง สองหนุ่มบอกไบ้โดยนัยถึงสังสารวัฏเวียนว่ายตายเกิดที่ยังคงวนลูปไปเรื่อยตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่นั่นเอง
-นอกจากการระบายความอัดอั้นของการถูกตีกรอบค่านิยม โลกแห่งการทำงาน หรือแม้กระทั่งการเผชิญความตายจากคนใกล้ตัว ดูโอ้หน้ากากยังคงครุ่นคิดถึงการปรับตัวต่อโลกใบนี้และ thai music industry พอสมควร
-ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามบาลานซ์ตัวตนของตัวเองกับตัวตนที่คนอื่นต่างคาดหวังในเพลง Play/Pause/Copy/Paste ที่ให้มู้ดแอนด์โทนแห่งความปลงปนรับสภาพกับการที่เป็นตัวของตัวเองนั้นไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา มันมักจะมีโมเมนต์โลกบังคับให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ชวนนึกถึงคัลเจอร์ครอบครัวเอเชีย(บางครอบครัว)ที่มักจะคาดหวังให้ลูกตัวเองต้องเก่งเหมือนลูกคนอื่นบ้าง เป็นกรอบแห่งความน่าอึดอัดใจด้วยคำถามที่วนอยู่ในหัวตลอดเวลาว่า เป็นคนอื่นเพื่อใครกัน ?
-Nostalgia Is A Drug ก็ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนาในชุมชนเพลงระหว่างแฟนเพลงกลุ่ม New School กับ Old School ขิงกันเรื่องความเก๋า ความเรียลในแนวเพลงต่างๆ ทั้งๆที่เทรนด์เพลงเปลี่ยนแปลงไปๆมาๆตลอดเวลา จนบางทีไอ้การยึดติดอดีตหรือความสำเร็จเก่าๆก็อาจจะไม่เกิดการพัฒนาได้เหมือนกัน (นี่เป็นมุมมองส่วนตัวของผมเท่านั้นนะครับ) ไม่ได้แปลว่าผมต่อต้าน old school แค่อยากเห็นวงการมีสีสัน มี new original เยอะๆ โดยที่ไม่หลงลืมความดั้งเดิมไปด้วย
-ในขณะที่ T-Pop เป็น skit สั้นๆเปิด Wikipedia ออกมาอ่านกันซึ่งๆหน้าเลย ทำไมรู้สึกว่าจิกกัดได้โคตรแสบจัง ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงอะไร พอเข้ากรอบเพลงรักๆเจ็บๆปุ๊บเอามาจับใส่กระด้ง T-Pop ทันที แต่แปลกดีที่เพลงเพื่อชีวิตที่ได้อิทธิพลร็อคมาเหมือนกัน และโฟล์คซองกลับไม่เข้าข่าย อาจเพราะไม่แมสพอรึเปล่า แต่พวกเขาก็อยู่ในจุดที่ “ช่างแม่ง” ไปแล้ว
-อีกหนึ่งเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงหนีไม่พ้น petstar เป็นเพลงงานศพที่เกิดมาเพื่อเหล่าทาสหมาทาสแมวทั้งหลายด้วยสมมติฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของดาวน้องหมาแมวใน afterlife พวกมัน ว่าจะมีอยู่จริงตามที่ชาวมนุษย์ขอพรไว้มั้ย ต่อให้ไม่รู้ แต่ก็คิดถึงพวกมันสุดหัวใจ
-ท่วงทำนองเปียโนของเพลง Plastic Plastic ยังคงอบอุ่นและดีงาม ในขณะที่ Pawalee ถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างห่วงหาอาทร อีกทั้งยังมีท่อน “ขอบคุณจริงๆนะ” เป็นจุดเชื่อมกับ Last Festival อีกด้วย เป็นความพิเศษที่ควรฟังต่อกัน อาลัยอาวรณ์กับสัตว์เลี้ยง แล้วต่อด้วยเพื่อมนุษย์ด้วยกันเอง
-ปิดท้ายอัลบั้มด้วยไตเติ้ลแทร็ค _RUKRUKLERKLERK ที่สรุปองค์รวมและสื่อถึงภาพปกอัลบั้มได้ดีที่สุด เข้าใจง่ายในแง่ของการทบทวนชีวิตรักปกติของมนุษย์ที่ผ่านมาของทุกคนทุกท่านที่วนเวียนความสมหวังและผิดหวังสลับกัน บางทีก็แปลกแต่จริงกับการที่เราโตมาในประเทศที่เพลงเจ็บๆล้นเมืองจนเอามาเป็นส่วนนึงในการขับเคลื่อนความสุขส่วนตัว
ถ้าได้ฟังการลำดับความ มีช่วงนึงที่พวกเขา flip คำได้ฉลาดมากๆ ประมาณว่า ถ้าหากยึดติดให้เพลงรักอยู่ที่ใครคนใดคนนึง มันคงไม่มีทางเป็นได้ตลอดแน่ แต่ก็เข้าใจเลยว่า ใครมันอยากจะให้คนที่เรารักไปอยู่ในเพลย์ลิสท์เพลงเศร้าของเรา ทุกคนต่างอยากพบพานความสมหวังเพื่อการดำรงอยู่ จริงมั้ย?
การแซมเปิ้ลด้วย Everybody Wants To Hit The Road, But มีนัยยะที่น่าสนใจ เพราะซิงเกิ้ลดังกล่าวมันว่าด้วยความพยายามหนีจากความผิดหวังความเศร้าทั้งหลายแหล่ ออกไปในที่ๆใครไม่รู้จักเรา พอมาซึมอยู่ในเพลงนี้เหมือนตบความรู้สึกให้เข้ามาอยู่ในเลนวงกลมแห่งสังสารวัฏโดยอัตโนมัติ เป็นอันเข้าใจได้ว่า พวกเขายอมรับแรงปะทะแห่งความผิดหวังต่อไป โดยช่วง Outro จะลิ้งค์เข้ากับ Intro _RUK โดยอัตโนมัติ เป็นการออกแบบอัลบั้มให้มีฟังก์ชั่นฟังวนลูปตามที่ใจต้องการ
-ที่สุดแล้วนี่ไม่ใช่อัลบั้มที่เล่าเรื่องความรักน้ำเน่าแต่อย่างใด พิสูจน์ให้เห็นด้วยว่าพวกเขาเป็นได้มากกว่าเนิร์ดอินเตอร์เน็ต เด็กไฮเปอร์ชอบทดลองไปเรื่อย ต่อให้ใช้ศัพท์การแต่งเพลงที่โคตรจะชาวเน็ตสไตล์มากๆ แต่ยังคงใส่หัวจิตหัวใจแห่งการครุ่นคิดสัจธรรมที่ไม่ได้พูดเอาเท่ห์ ไม่ได้พูดลอยๆ
-เปิดตัวได้สวยงามตามท้องเรื่อง พร้อมพกอุดมการณ์แห่งการสร้างความแตกต่างไว้เต็มกระเป๋า พวกเขาบาลานซ์ความป็อปและ experiment ไม่ให้ออกมาอิหยังวะจนเกินไปในแบบที่มองหาจุดร่วมได้เก่งขึ้นแล้ว รับประกันความแตกต่างจาก T-Pop ในท้องตลาดแน่นอน
เสน่ห์ความคาดเดาอะไรไม่ได้ก็จะเป็นเช่นนี้
Give 7.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา