28 ม.ค. เวลา 09:37 • ประวัติศาสตร์

“ม้าเจ๊ก” ตัวละครผู้ไม่เคยสาบสูญบนหน้าประวัติศาสตร์

วาระสุดท้ายของม้าเจ๊กค่อนข้างจะจืดชืดบนหน้าประวัติศาสตร์ แม้ล่อกวนตงจะเขียนเรื่องราวของเขาในวรรณกรรมในเชิงให้เกียรติว่า หลังพ่ายศึกที่เกเต๋ง ม้าเจ๊กรู้ตัวว่าได้ทำผิดใหญ่หลวง จึงตัดสินใจมัดตัวเองแล้วเข้ามาขอรับโทษประหารชีวิตกับขงเบ้ง
.
เนื้อหาในวรรณกรรมอธิบายว่า ขงเบ้งร้องห่มร้องไห้เป็นการใหญ่ เนื่องจากนึกถึงคำพูดของพระเจ้าเล่าปี่ ที่ตรัสไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ว่า “ม้าเจ๊กคนนี้ปากรู้มากกว่าใจ ใช้ทำการใหญ่มิได้” บัดนี้ม้าเจ๊กทำเสียเกเต๋ง ขงเบ้งจึงเสียใจที่ไม่ยอมฟังคำตักเตือนของพระเจ้าเล่าปี่
ท้ายที่สุด ขงเบ้งจึงตัดสินใจประหารชีวิตม้าเจ๊กด้วยน้ำตา พร้อมทั้งเขียนฎีกาถวายพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้ลดยศตัวเอง 3 ขั้น เพื่อรับผิดชอบการพ่ายศึกในครั้งนี้
.
เฉิน โซว ได้บันทึกวาระสุดท้ายของม้าเจ๊กไว้ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทที่ 39 (ชีวประวัติของม้าเลี้ยง) ต่างจากในวรรณกรรมโดยสิ้นเชิง มีเนื้อหาดังนี้คือ หลังแตกทัพที่เกเต๋ง ม้าเจ๊กถูกจับขังคุกเพื่อรอโทษประหารชีวิต แต่ระหว่างอยู่ในคุก ได้เกิดล้มป่วยแล้วเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
นอกจากนั้นเฉิน โซว ยังบันทึกเรื่องของม้าเจ๊กไว้ในบทที่ 41 (ชีวประวัติของเซียงหลัง) ซึ่งไม่มีอยู่ในวรรณกรรมว่า เซียงหลังเป็นเพื่อนสนิทของม้าเจ๊ก ได้พยายามช่วยม้าเจ๊กออกจากคุก แต่ไม่สำเร็จ
.
จึงกล่าวได้ว่า บทบันทึกชีวประวัติม้าเจ๊ก ฉบับของเฉิน โซวแตกต่างจากในวรรณกรรมราวฟ้ากับเหว เขาถูกจับขังคุก แล้วยังเสียชีวิตในคุกอีกด้วย แต่ในวรรณกรรมเขากลับมีวาระสุดท้ายเยี่ยงวีรบุรุษ นับเป็นการให้เกียรติม้าเจ๊กอย่างยิ่ง ที่มีจุดจบอย่างนักรบผู้กล้าหาญ
ม้าเจ๊กเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น (ค.ศ. 190-228) แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานดังกล่าว เราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าจุดจบของม้าเจ๊กเป็นอย่างไรบนหน้าประวัติศาสตร์จริง แต่ที่เห็นจะกล่าวได้ตรงกันมากที่สุด คือม้าเจ๊กเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้ฝ่ายจกก๊กต้องเสียเกเต๋งอันเป็นจุดยุทธภูมิสำคัญในการยกพลขึ้นเหนือเป็นครั้งแรก
ขงเบ้งต้องถ้อยทัพกลับมาทางฮั่นจง ซึ่งการพ่ายแพ้ในศึกนี้ ทำให้ฝ่ายจกก๊กต้องสูญเสียทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ทำให้ขงเบ้งต้องถูกผู้คนประณามตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ว่า “เป็นคนกระหายสงครามจนหน้ามืดตามัว”
ความพ่ายแพ้ของม้าเจ๊ก ให้บทเรียนอะไรแก่ขงเบ้งบ้าง ?
.
ม้าเจ๊กจัดได้ว่าเป็นคนมีความสามารถคนหนึ่ง เขายังเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาโอกาสให้ตัวเองได้สร้างชื่อ จึงกล่าวได้ว่าม้าเจ๊กเป็นคนที่มีความกล้าหาญคนหนึ่งก็ว่าได้---แต่ข้อเสียของม้าเจ๊กก็คือ
1. มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
2. ไม่รู้จักตัวเอง
3. ขาดการประเมินความยาก-ง่ายของงาน
4. เมื่อทำงานมักจะประมาทจนทำให้งานเสียหาย
5. หากทำงานผิดพลาด เขากลับรับผิดชอบได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น
ลักษณะของม้าเจ๊ก เป็นลักษณะของบุคคลที่เราพบเห็นได้ในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มักชอบอาสาทำภารกิจสำคัญระดับชาติโดยไม่คำนึ่งว่ามีความสามารถทำได้จริงหรือไม่ เช่นการรบในศึกสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในระดับชาติ โดยเขาจะตั้งปฏิญาณว่า “หากภารกิจมีข้อผิดพลาดหรือล้มเหลว ข้าขอรับผิดชอบเพียงคนเดียว” แต่เมื่อภารกิจมีความผิดพลาดจริง เขากลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
.
จริงอยู่ที่องค์กรควรให้โอกาสบุคคลทำงานเพื่อความก้าวหน้าของชีวิต แต่กับภารกิจบางอย่าง ที่มีความสำคัญในระดับความเป็นความตายขององค์กร ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก การทำงานในระดับนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาล้อเล่น เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงเกินกว่าคนเพียงคนเดียวจะรับผิดชอบได้ทั้งหมด
.
ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ความทะเยอทะยานไม่ควรเกินความสามารถตัวเอง”
.
ขงเบ้งได้รับบทเรียนข้อนี้เป็นอย่างดี เขาจึงสั่งประหารชีวิตม้าเจ๊กเพื่อหวังว่าจะช่วยลดความเสียใจของเหล่าทหารที่ยังโกรธแค้นกับความพ่ายแพ้อยู่ และขงเบ้งก็พยายามแสดงให้ทหารเห็นว่า ตัวเองเป็นคนที่ยึดหลักคุณธรรมเป็นสำคัญ เมื่อมีทหารทำผิดวินัยกองทัพ ต่อให้เป็นคนรักคนโปรดแค่ไหน ก็ต้องได้รับโทษตามวินัยกองทัพอยู่ดี
โปรดติดตามตอนต่อไป...
Author: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
Refer:
ราชบัณฑิตยสภา. (2471). สามก๊ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาก
ยศไกร ส.ตันสกุล. (2556). จดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซว่. กรุงเทพฯ: ปราชญ์สำนักพิมพ์
เล่าชวนหัว. (2553).สามก๊กฉบับคนเดินดินเปิดหน้ากากขงเบ้ง .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
โฆษณา