30 ม.ค. เวลา 17:08 • ศิลปะ & ออกแบบ

แม่บ้านหัวร้อน สอนใช้เครื่องครัว: มาร์ธา รอสเลอร์ ผู้ใช้เครื่องครัววิพากษ์วิจารณ์สังคมปิตาธิปไตย

Semiotics of the Kitchen (1975), Martha Rosler
ผลงาน “สัญศาสตร์แห่งห้องครัว” (Semiotics of the Kitchen, 1975) เป็นวีดีโอภาพขาวดำ มีความยาว 06:09 นาที โดยศิลปินหญิง มาร์ธา รอสเลอร์ วีดีโอของเธอเลียนแบบรายการทำอาหารอันโด่งดังในทศวรรษ 1960 ของ Julia Child รายการสอนทำอาหารฝรั่งเศสที่แม่บ้านทุกคนรู้จักกันดี
เมื่อวีดีโอเริ่มขึ้นมาร์ธายืนอยู่ที่เคาน์เตอร์ทำอาหาร เธอหยิบเครื่องครัวขึ้นมาตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากสวมผ้ากันเปื้อน “Apron” เธอหยิบชามผสมแล้วทำท่าคนอาหาร “Bowl” เธอหยิบมีดสับอาหารและสับมีดลงกับโต๊ะ “Chopper”...เธอสาธิตการใช้เครื่องครัวจนถึงตัวอักษร T “Tenderloin maker” พร้อมกับใช้ค้อนทุบเนื้อทุบลงกับโต๊ะ และได้เปลี่ยนจากการใช้เครื่องครัวเป็นการทำมือเป็นตัวอักษรแทนเมื่อถึงตัวอักษร U, V, W, X, Y และ Z
การทุบ การหั่น การกรีด หรือการจับมีดจ้วงลงไปในอากาศดูราวกับว่าเป็นฉากหนึ่งในหนังฆาตกรรมมากกว่าการสาธิตทำอาหาร ท่าทางที่ก้าวร้าวรุนแรงเริ่มมากขึ้นตามลำดับ การกระทำของเธอแสดงถึงความรู้สึกโกรธแค้นที่ได้เธออดกลั้นเอาไว้
การทำอาหารในครัวเป็นหนึ่งในความคับข้องใจที่ผู้หญิงหลายคนเผชิญในสังคมปิตาธิปไตย ความสามารถของเธอถูกจำกัดไว้ด้วยหน้าที่ตามประเพณี ต้องอยู่ภายใต้อำนาจ ต้องเชื่อฟัง ถูกปิดกั้นจากสังคมทั้งด้านการศึกษา และอาชีพ ผู้หญิงหลายคนเป็นได้แค่แม่ครัวในบ้าน แต่มีผู้ชายมากมายเป็นพ่อครัวในร้านอาหารหรู แม้แต่ในวงการศิลปะศิลปินหญิงเองก็ไม่ได้มีความสำคัญเท่าศิลปินชาย
การแสดงของแม่บ้านหัวร้อนนี้จึงเป็นหนึ่งในศิลปะเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมปิตาธิปไตย สภาวะทางสังคม และเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชนชั้น และเพศสภาพ เป็นสาเหตุให้ศิลปินหญิงในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 เริ่มใช้ศิลปะเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของตน และมาร์ธาก็เลือกใช้สื่อวีดีโอซึ่งเป็นสื่อใหม่ในขณะนั้น แน่นอนว่าผลงานนี้ทำให้ผู้ชาย และศิลปินชายไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความเคลื่อนไหว และเป็นหนึ่งในผลงานไฮไลท์ให้กับแนวคิดสตรีนิยมในประวัติศาสตร์ศิลปะ
When the woman speaks, she names her own oppression
Martha Rosler
ตามไปดูวีดีโอกัน👇👇👇
-ซับศิลป์-
โฆษณา