3 ก.พ. เวลา 14:59 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] american dream - 21 Savage >>> คนอังกฤษ ฝันอเมริกัน

-สปอยไว้ก่อนเลยว่า i am > i was ยังคงชนะเลิศด้วยเหตุผลแห่งการบาลานซ์ความวาไรตี้และเป้าประสงค์ความเอาจริงเอาจังได้อย่างลงตัว ออร่าแรปสตาร์ตัวตึงก็ฉายแสงและถูกปลดล็อคออกมาได้แหล่มชัดกว่า แต่ก็ไม่อยากจะคาดหวังความพีคหรือ wow factor จาก 21 Savage มากกว่านี้
-ด้วยข้อจำกัดความ deadpan style อันเป็นเอกลักษณ์ที่คาดเดาได้ง่ายจนไม่รู้ว่าจะมาเวย์ไหนที่เกินความคาดหมาย เพราะ i am > i was คือความวาไรตี้ที่น่าจะดึงศักยภาพได้ถึงขีดสุดแล้วล่ะครับ สิ่งที่ผมคาดหวังจากแรปเปอร์อังกฤษคนนี้คงหนีไม่พ้นคอนเทนท์อันแสนคมคายอย่างที่เขาเคยนำเสนอมาแล้วในงานเดี่ยวชุดที่แล้วก็เท่านั้น
-อย่างที่ทราบกันดีในช่วงที่เขาห่างหายจากการโฟกัสงานเดี่ยวของตัวเอง 21 Savage ก็มีคดีความสุดโป๊ะแตกเมื่อปี 2019 ที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเขามาทั้งชีวิตด้วยข้อหาวีซ่าหมดอายุตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งความจริงเปิดเผยว่า เขาไม่ใช่คนถิ่นแอตแลนต้าอย่างที่ทุกคนเข้าใจมาโดยตลอด แท้จริงแล้วเขาคือคนอังกฤษที่ย้ายมาอยู่แอตแลนต้ากับแม่ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แล้วทำการขอวีซ่าอเมริกาเป็นต้นมาจนขาดการต่ออายุตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งก็ผ่านไป 13 ปีจนเจ้าตัวไปได้ไกลในสายอาชีพเสียแล้ว
-อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน นาย 21 ได้ Green Card สามารถทำงานและใช้ชีวิตอย่างถูกกฏหมายในอเมริกาโดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าอีกต่อไป (แต่ยังต้องต่ออายุกรีนการ์ดต่อตามกฎหมาย)
-นั่นก็ทำให้ชื่ออัลบั้ม american dream ที่แสนจะธรรมดาใครๆก็หยิบมาจิกกัดดันเป็นความน่าสนใจขึ้นมาทันที เมื่อมาอยู่ในบริบทประเด็นส่วนตัวของศิลปินที่ทำให้เราต่างคาดหวังความ insight ที่มากกว่าหน้าสื่อข่าวต่างๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันจนชินหูตลอด 6 ปีที่เขาคนนี้ได้โลดแล่นในโปรเจคต์อื่นๆอยู่ดี ไม่มี storytelling เจาะลึกลำดับความจริงจัง ยังเป็นความชินหูที่ไม่ได้ยกระดับจาก i am > i was มากนัก
-ถึงแม้ว่า nothing new แต่ก็ไม่ได้สิ้นคิดในแง่โปรดักชั่นเสียทีเดียว โดยเฉพาะเทคนิค sample ที่มีชัยไปกว่าครึ่ง เป็นตัวชูรสมู้ดแอนด์โทนที่บ่งบอกความเป็น 21 ได้พอสมควร โดยเฉพาะ redrum (กลับคำมาจาก murder) ที่เป็น first impression โดนเส้นอย่างแรง ดัดแปลงแซมเปิ้ลให้ไปไกลกว่าการแซมปกติ
บิดคีย์ให้เฮี้ยนสอดรับการ reference จากหนัง The Shining เข้าใจคิดในการหยิบฉากภาพจำหนังสยองขวัญสุดคลาสสิคเอามาไว้ในช่วง Outro เพิ่มความสาแก่ใจ อีกทั้ง redrum ยังเป็นศัพท์แสลงของ UK Drill อันเป็นบ้านเกิดที่แท้จริงของนาย 21 ด้วย พูดได้อย่างเต็มปากว่านี่คือ best song ในอัลบั้มที่สุมด้วย reference pop culture ทั้งฝั่งเมกาและอังกฤษด้วย
-all of me ที่แซมเปิ้ลเพลง Wishing On a Star ของ Rose Royce ให้ออกมา emotional ไปกับชีวิตความยากลำบากของเด็กหนุ่มอังกฤษที่ต้องย้ายมาอยู่ในแอตแลนต้าที่แวดล้อมด้วยความอันตรายของชาวแกงค์ข้างถนนที่หล่อหลอมให้นาย 21 เป็นแรปเปอร์ที่แสนชินชาและอันตรายไปในตัว ซึ่งนั่นก็เป็นฝันร้ายให้กับแม่ของเขาที่ปราถนาให้ลูกตัวเองนั้นมีชีวิตดีๆในดินแดนของลุงแซมดั่งเป้าประสงค์ที่แม่ได้พร่ำบอกไว้ในอินโทรเปิดอัลบั้มอันเป็นไตเติ้ลแทร็ค ที่ไหนได้เขากลายเป็นคนที่โคตรอันตรายเสียงั้น
-หนึ่งเพลงที่โคตรส่วนตัวอย่าง letter to my brudda มาพร้อมท่วงทำนอง soulful สุดเศร้าสร้อยเป็นการร่อนจดหมายเพื่อเอาใจช่วย Young Thug ที่ตอนนี้ยังคงติดคุกยาวๆ มันจะมีท่อน interlude ที่นาย 21 ยังคงมีความเชื่อที่คนไม่ได้เลวแท้ 100% เพียงแค่อยู่ผิดที่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในการตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูก แต่เพื่อความอยู่รอดจึงจำเป็น แต่นั่นก็ไม่ทำให้เขาลืมคนทรยศไม่ลง
ซึ่งโดยนัยยังแอบแซะ Gunna ที่ออกจากคุกก่อนใครเพื่อนด้วยดีลพิเศษที่ตอนนี้ใครๆต่างก็มองว่าเป็นหนอนบ่อนไส้ชัวร์ ไม่เพียงแค่เพลงนี้ที่ออกมาแซะ Gunna โดยนัย ยังมีเพลงรองสุดท้ายอย่าง red sky ที่เปิดโหมด self-confident มั่นอกมั่นใจในการยืนหยัดในวงการได้อย่างร่วมสมัย แต่ก็ไม่ขอร่วมงานกับพวกหักหลังหรือขายเพื่อนเด็ดขาด
-ฟีทเจอร์แขกรับเชิญตัวตึงทั้งหลายก็เป็นตัวชูรสสร้างสีสันให้กับอัลบั้มนี้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงบารมีที่เพิ่มขึ้นจนสามารถดึงดูดใครหลายคนให้มาร่วมงานเพลงของตัวเองอย่างคับคั่ง
ไม่ว่าจะเป็น Doja Cat ในยุคครูกายแก้วเข้าสิงมาถ่ายทอดความแห่บในเพลง n.h.i.e (never have i ever) สอดรับความอึมครึมได้แนบเนียน ชวน Lil Durk มาซัดความกระโชกโฮกฮากในเพลง dangerous ผิดกับ Travis Scott ที่มาในบริบทที่ไม่โฉ่งฉ่างมากนัก แลดูชิวล์เป็นพิเศษในเพลง ​née-nah ถือเป็นความเซอร์ไพร์สที่เฉพาะตัวอีกแบบที่นานๆครั้งจะได้เห็นทราวิสลดทอนความบู๊ของตัวเองเพื่อไหลตามสไตล์ของเพื่อน
-ครึ่งหลังที่เป็นพาร์ทอาร์แอนด์บียังคงต้องพึ่งพาแขกรับเชิญเกือบทุกเพลง ยกเว้น see the real ที่อยากโชว์ความเป็นของจริงจากไอ้เด็กยากจนข้างถนนคนนึงกลับกลายเป็นเสี่ยที่นังตัวดีทั้งหลายต่างเรียกซานต้ากันทั้งนั้น เป็นการบ่งบอกความมีอาร์แอนด์บีในหัวใจ แต่ถ้าจะให้นาย 21 ขับขานอาร์แอนด์บีเองก็กะไรอยู่ พอแกร้องเพลงออก Live ทีไร โดนแซวพอๆกับธนาธรเลยฮะ
-แขกรับเชิญในพาร์ทอาร์แอนด์บีที่เสริมเพลงได้โดดเด่นมากๆสำหรับผมคือ Burna Boy ผู้ซึ่งมีภูมิหลังที่คล้ายกับกรณีของนาย 21 ถูกแบนห้ามเข้าสหราชอาณาจักรตั้งหลายปี จนตอนนี้ได้เป็นขวัญใจคน UK ไปแล้ว และเป็นครั้งที่สองที่ได้ร่วมงานกันในเพลง just like me โดยเฮีย Burna ชูรสความเป็น afrobeat ได้อย่างไพเราะเสนาะหู แถมยังโรแมนติกอีกด้วย
-dark days เพลงปิดท้ายที่มีความป็อปแรปพอสมควร Mariah the Scientist ถ่ายทอดความเจ็บปวดของผลกระทบประสบการณ์อันโหดร้าย โดยเฉพาะนาย 21 ที่เล่าความอันตรายมาเยอะแล้ว เลยขอทำหน้าที่สอนน้องๆทั้งหลายให้ออกไปจากวังวนชาวแก๊งค์แล้วไปทำหน้าที่เรียนหนังสือ อย่าคาดหวังการยอมรับจากเหล่าอันธพาลทั้งหลาย เพราะสุดท้ายแล้วมันก็เอาตัวรอดตัวใครตัวมันอยู่ดี แม่ต่างหากคือคนที่ควรแคร์ จบด้วยเสียงคุณแม่ที่ภูมิอกภูมิใจในตัว 21 ที่สามารถอยู่รอดจนเติบใหญ่ถึงทุกวันนี้
-ยังคงเป็นความไม่มีอะไรมาก นอกเสียจากการตอกย้ำและยืนหยัดในเป้าประสงค์ตัวเอง อีกทั้งยังพอบาลานซ์สถานะปัจจุบันกับเรื่องราววีรกรรมในอดีตด้วยท่าทางชิวล์ขึ้น แอบเห็นความพยายามคราฟต์ผลงานให้มีรสความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงติดรสความชินชา deadpan แบบเดิมๆ การใช้ P***y ที่เปลืองได้โล่ห์อีกเช่นเคย
-อีกทั้งคอนเทนท์ไม่ตรงปก แลดูทะเยอทะยานในการเผยความในจากใจคนอังกฤษที่ใช้ชีวิตในแอตแลนต้า ที่ไหนได้เรากลับไม่ได้กลิ่นของคนพลัดถิ่นมากเท่าไหร่นัก เป็นอเมริกันของแทร่ที่ยังติดใจ “ฝันอเมริกัน” โดยที่ยังใช้เวลากลับไปอังกฤษเพื่อทำความคุ้นเคยน้อยเกินไป
เลือดคนแอตแลนต้ามันข้นเสียแล้ว
Top Tracks: ​all of me, ​redrum, ​n.h.i.e. , letter to my brudda, dangerous, née-nah,
​just like me, dark days
Give 7/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา