6 ก.พ. 2024 เวลา 01:12 • ท่องเที่ยว

ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค มีการนวด อบ ประคบ และฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง
ในปี พ.ศ. 2452 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบอง สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล“อภัยวงศ์” ว่าจ้างบริษัทโฮวาร์ด เออร์สกิน สร้างตึกเพื่อใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะใช้เป็นที่ประทับแรม ในกรณีที่พระองค์เสด็จมายังมณฑลปราจีนบุรีอีก แต่พระองค์เสด็จสรรคตเสียก่อน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2455 ตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระยาอภัยวงศ์วรเศรฐ และถวายเป็นของทูนพระขวัญ
ในวันอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6(พระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ ทรงมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบ้านและที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ขณะพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ได้พระราชทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดนั้นแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็น โรงพยาบาลปราจีนบุรี เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีพระประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลอยู่แล้ว
ต่อมาเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้พระราชทานนามใหม่เป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 โดยมีสมเด็จเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯ มาทรงเปิดป้าย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมทั้งทรงรับโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้ง 2 พระองค์
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นสถาปัตยกรรมบาโรก แสดงออกอย่างไม่สมดุล(Asymmetry) มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงด้วยลวดลายม้วนงอหรือขด ไม่ว่าจะเป็นลายปูนปั้นที่เป็นรูปกระถางต้นปาล์มที่อยู่หน้าบัน นอกจากนี้ตามซุ้มประตู หน้าต่าง เสา ขื่อ คานจะตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายใบไม้
ภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ท้องถิ่น
แต่เดิมนั้นตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นตึกอำนวยการ ได้มีการดัดแปลงทำชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยา และห้องผ่าตัด ชั้นบนทำหน้าที่รับคนไขัหญิง โดยมีเรือนคนไข้ชายแยกต่างหาก มีเตียงรับคนไข้ 50 เตียง มีโรงประกอบอาหารคนไข้ โรงซักฟอก ที่เก็บศพ เรือนพักคนงาน บ้านพักนายแพทย์ อย่างละ 1 หลัง บ้านพักพยาบาลอีก 3 หลัง การเข้าถึงโรงพยาบาล เข้าได้ทางเรือเพียงอย่างเดียว จนมีการสร้างถนนขึ้นในปี พ.ศ. 2486 จนถึงปี พ.ศ. 2512
ตึกอำนวยการในปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จ ส่วนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้ในการประชุมสัมมนาในบางกรณี
ในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติ ต่อมาได้มีการบูรณะตึกครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2537 โดยงบประมาณของจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 2.5 ล้านบาท และคุณจรวย ประสมสิน บริจาคสมทบอีก 100,000 บาท โดยมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรขึ้น
นอกจากนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังเคยเป็นสถานที่แข่งขันของรายการโทรทัศน์ อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 30 มาแล้ว
โฆษณา