7 ก.พ. เวลา 16:28 • กีฬา

วันพรุ่งนี้ของโรงละครแห่งความฝัน

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยมีการวางโครงการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อปี 2022 โดยเป้าหมายของการรีโนเวทครั้งนี้ ไม่ได้แค่เพิ่มความทันสมัย แต่ต้องการเพิ่มความจุของสนาม 74,140 ที่นั่งในปัจจุบัน ให้มากไปกว่าเดิม
ในช่วงเวลาที่เกลเซอร์ยังคงครอบครองหุ้นเกือบทั้งหมดของสโมสร แผนการนี้ยังไม่ขยับ อาจจะไม่ได้มาจากการไม่อยากลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาในการขยับขยายโรงละครแห่งความฝัน มีอยู่ไม่น้อย
โครงสร้างของสนามที่ใช้งานมาแล้ว 114 ปี ต้องการการปรับปรุงมากมาย และการจะขยายอัฒจันทร์ฝั่งเซอร์บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน สแตนด์ ออกไป ซึ่งติดอยู่กับทางรถไฟ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
เมื่อปี 2022 แมนยูได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินถึงการปรับปรุงและขยายความจุโอลด์ แทรฟฟอร์ด ซึ่งหนึ่งในทีมงานได้บอกกับ “แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่งนิวส์” ว่า การสร้างสนามใหม่ในพื้นที่เดิม จะเพิ่มความสามารถด้านต่างๆ ของพื้นที่ได้มากกว่าการอัพเกรดลงบนของเดิม
การทุบโรงละครแห่งความฝันหลังเดิม แล้วสร้างโรงละครที่ใหม่กว่า ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า เหตุผลแรก การสร้างใหม่จะทำให้สนามแห่งใหม่หมุนทิศไม่ให้กระทบกับรางรถไฟได้ ปัญหาที่ค้างคามานาน จะได้ถูกแก้ไขเสียที
แต่ปอปูลัส บริษัทที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ของสนามมองว่า การสร้างโอลด์ แทรฟฟอร์ด แห่งใหม่ ในพื้นที่ใกล้เคียงจะเป็นไอเดียที่ดีกว่า เพราะในช่วงเวลาที่กำลังก่อสร้างนั้น โอลด์ แทรฟฟอร์ดเดิมยังสามารถทำหน้าที่ของมันไปได้ ไม่มีการลดจำนวนผู้ชมต่อเกมลง รายได้ของสโมสรไม่ได้หดหายไปไหน และไม่ต้องหาสนามอื่นเป็นรังเหย้าทดแทนในเวลาที่ก่อสร้างสนามใหม่ลงบนพื้นที่เดิม
เอติฮัด สเตเดียม สนามของเพื่อนบ้านน่ารำคาญอย่างแมนเชสเตอร​์ ซิตี้ ไม่สามารถเป็นตัวเลือกสนามเหย้าชั่วคราวได้อย่างแน่นอน และไม่มีสนามไหนในระยะใกล้เคียงที่จะรองรับแฟนบอลจำนวนมากของแมนยูได้ในระยะเวลาของการทุบสร้างใหม่
ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นตัวอย่างของการสร้างสนามในพื้นที่ใหม่ ในขณะที่กำลังก่อสร้างท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม ทีมไก่เดือยทองยังคงฟาดแข้งเกมเหย้าที่ไวท์ ฮาร์ท เลน ได้ตามปกติ ถึงแม้จะต้องขยับไปใช้เวมบลีย์เป็นรังเหย้าแทนในปี 2017 เพราะแผนการสร้างสนามใหม่เสร็จไม่ตามเวลา แต่ก็ถือว่ามีสนามมาตรฐานสูงรองรับอยู่ไม่ไกลนัก ต่างจากที่แมนเชสเตอร์ ที่ทำแบบนั้นไม่ได้
มีรายงานว่าเซอร์จิม แรทคลิฟฟ์ ผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งของสโมสร เข้าใจดีถึงความเป็นแฟนบอลแมนยู เพราะเขาเติบโตมากับการเชียร์ทีมนี้ เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรแล้ว ก็อยากจะทิ้งมรดกบางอย่างเอาไว้ให้กับสโมสรอันเป็นที่รัก
ในวัย 71 ปี เซอร์จิมไม่ใช่คนที่ใจเย็น และไม่รู้ว่าเวลาของเขาจะเหลืออีกเท่าไร การมีสนามแข่งขันที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ให้สมกับความเป็นสโมสรที่(เคย)ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเรื่องที่จำเป็น และจะเป็นการสร้างความจดจำในตัวจิม แรทคลิฟฟ์ เอาไว้อีกหลายสิบปี ถ้าเขาทำมันได้สำเร็จ
เซอร์จิมมองไปถึงขั้นว่า สนามเหย้าใหม่ของแมนยูจะต้องเป็น “เวมบลีย์ทางเหนือของอังกฤษ” เลยทีเดียว
จิม เฮเวริน ผู้อำนวยการของบริษัทสถาปนิกซาฮา ฮาดิด ที่สร้างสนามและตึกชื่อดังมากมาย บอกว่า แมนยูควรเอาอย่างรีล มาดริด หรือบาร์เซโลน่า ที่พัฒนาสนามเหย้าในพื้นที่เดิม มากกว่าการย้ายไปสร้างที่ใหม่ อย่างโอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็สามารถปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นได้ โดยไม่ต้องย้ายไปไหนเลย
ไอเดียนี้ก็ตรงกับความเห็นของแกรี่ เนวิลล์ อดีตกัปตันทีมปีศาจแดงยุครุ่งเรือง ที่บอกว่า การได้เล่นที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นสนามที่มหัศจรรย์มากๆ การทุ่มเงิน 200 ล้านปอนด์ในการปรับปรุงสนาม น่าจะช่วยให้ทุกอย่างดูดีขึ้นมากแน่ๆ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ไม่ควรเล็กลงไปกว่านี้ แต่ต้องใหญ่โตขึ้นไปอีก
จากการประเมินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสนามเดิมจะอยู่ที่ 800 ล้านปอนด์ แต่ถ้าสร้างขึ้นใหม่จะต้องใช้งบ 1,500-2,000 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
เงินก้อนตรงนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากเงิน 1,250 ล้านปอนด์ ที่เซอร์จิมและอิเนออสจะเอามาพัฒนาสาธารณูปโภคของสโมสร แต่ก็หั่นจากส่วนนั้นออกมาเพียง 239 ล้านปอนด์เท่านั้น ที่เหลือก็อาจจะต้องมาจากการกู้มาสร้างหรือซ่อม
อีกวิธีหนึ่ง คือ การร่วมลงทุนกับเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งแอนดี้ เบิร์นแฮม นายกเทศมนตรีเมืองแมนเชสเตอร์ได้ตอบเรื่องนี้กับทาง “เทเลกราฟ” ว่า ไม่ว่าอิเนออสจะลงมือทำอะไร ก็จะมีการหารือกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสโมสรจะทำเพื่ออนาคตที่ดี
แล้วถ้ามีการสร้างสนามใหม่ขึ้นมาจริงๆ โอลด์ แทรฟฟอร์ด เดิม จะทำหน้าที่อะไรต่อไป เรื่องนี้ “เดอะ การ์เดี้ยน” มีคำตอบว่า อาจจะมีการลดขนาดลง แล้วทำให้เป็นสนามเหย้าของแมนยู ทีมหญิง รวมทั้งทีมอะคาเดมี่ หรือใช้พื้นที่บางส่วนทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของสโมสรต่อไป
แน่นอนว่าข้อสรุปเรื่องโอลด์ แทรฟฟอร์ด จะยังไม่ได้คำตอบในเร็วๆ นี้ แต่การเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าติดตาม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การพยายามเอาทีมกลับมาเป็นสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปให้ได้เหมือนในอดีต ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
เพราะฉายาโรงละครแห่งความฝัน ไม่ได้มาจากความสวยงามของสนามเท่านั้น แต่มาจากความสำเร็จ ประวัติศาสตร์ ความทุ่มเท เสียงเชียร์ ที่สั่งสมมากว่า 100 ปี ในพื้นที่ตรงนั้น
โฆษณา