8 ก.พ. เวลา 17:57 • ประวัติศาสตร์

เยาวราช ไชน่าทาวน์เมืองไทย ไชน่าทาวน์ระดับโลก

การโยกย้ายกระจายตัวไปตามเขตต่างๆ ทั่วโลกของชาวจีนจากประเทศจีนในอดีต มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นกระแสโดดเด่นของโลก คลื่นชาวจีนจำนวนมหาศาลได้ดั้นด้นจากเมืองจีนข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงโชคตามเมืองเขตต่างๆทั่วโลกกันหลายระลอก โดยครั้งใหญ่สุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ระหว่างช่วงเหตุการณ์กบฏไท่ผิง ประชาชนในมลฑลฝูเจี้ยน กว่างตง (กวางตุ้ง) ต่างยากจนจนตรอก
ขณะที่ราชวงศ์ชิงก็ถูกกลุ่มชาติเจ้าอาณานิคมบีบให้อนุญาตประชาชนออกไปทำงานนอกประเทศ โดยขณะนั้นชาติอาณานิคมหลายแห่งก็ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ชาวจีนตามชายฝั่งภาคใต้จีนจึงได้อพยพไปยังดินแดนอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ในกลางศตวรรษที่ 19 ก็เกิดคลื่นชาวจีนโยกย้ายกระจายตัวไปยัง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล และในยุโรปตะวันตก รวมทั้งในเปรู เม็กซิโก เป็นต้น ชุมชนชาวจีนทั้งจีนโพ้นทะเล ลูกหลานจีนจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก และไชน่าทาวน์ก็ได้กลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเมืองใหญ่ต่างๆ
ไชน่าทาวน์ในกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในไชน่าทาวน์หรือชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชาวจีนอพยพที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋ว โดยเมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนที่เดิมอยู่รอบ ๆ ย้ายไปยังสำเพ็ง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนจีนเกิดขึ้นที่นี่
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัด "ถนนเยาวราช" ขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราชเป็นย่านหลักของชุมชนจีน และกลายเป็นเขตการค้าหลักของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นย่านสีแดงแหล่งค้าฝิ่น โรงละคร ไนต์คลับ และบ่อนการพนัน
ถนนเยาวราช ยังคงเป็นชุมชนคนจีน ย่านธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ เหมือนดั่งในอดีต ยามค่ำคืนเยาวราชจะแปรสภาพจากถนนเศรษฐกิจเป็นถนนอาหาร (Street Food) ที่มีความยาวที่สุดแห่งหนึ่ง
สองฟากถนนเต็มไปด้วยอาหารหลากหลายชนิดวางขายเรียงรายเป็นแนวยาวมีทั้ง หูฉลาม ซุปรังนก ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ บะหมี่ ก๋วยจั๊บ แพะตุ๋น ยาจีน เกาเหลาเครื่องในหมู ข้าวขาหมู อาหารทะเล เกาลัดคั่ว ของหวานและผลไม้หลากชนิด เลือกนั่งได้ทั้งแบบภัตตาคาร ร้านริมถนนหรือจะซื้อจากรถเข็นและแผงลอยนานาชนิดก็ได้ ท่ามกลางบรรยากาศแสงสีไฟจากป้ายชื่อร้านที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบกัน
หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว กรุงเทพฯ ได้เริ่มทำการค้ากับประเทศทางตะวันตกมากขึ้นมีการส่งสินค้าออก เช่น ข้าว เครื่องเทศ น้ำตาลและมีการนำเข้าเหล็ก ผ้าแพรจากจีน เครื่องหอม ฯลฯ แหล่งการค้าของกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในย่านคนจีน โดยมีอาณาเขตตั้งแต่ริมคลองโอ่งอ่างจนถึงคลองผดุงกรุงเกษมจากกิจการค้าที่รุ่งเรืองและรายได้เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสายพร้อมกับความเจริญที่ตามมา
ถนนเยาวราชใช้เวลาสร้างกว่าจะเสร็จสมบูรณ์นานถึง 8 ปี คือเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2435 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2443 ทั้งที่เป็นถนนที่มีความยาวเพียง 1,410 เมตร เส้นทางสายนี้ เริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุง ตรงข้ามป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้ บรรจบถนนจักรวรรดิ เรียกว่า"สี่แยกวัดตึก" ผ่านถนนราชวงศ์ เรียก "สี่แยกราชวงศ์" ก่อนไปบรรจบถนนเจริญกรุงก่อนถึงวัดไตรมิตรฯ
ถนนเยาวราชสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็ง ซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้ว เพื่อส่งเสริมการค้าขาย เยาวราชเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมเจ้าพระยานริศรานุวัตตวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ.2434 โดยให้ชื่อว่าถนนยุพราช และต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่เป็น "ถนนเยาวราช"
เอกสารของกรมโยธาธิการระบุว่าการสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากมีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นนับแต่เริ่มกรุยทางใน พ.ศ.2435 จนถึง พ.ศ.2438 เพราะกระทรวงโยธาธิการต้องการที่ดินเพื่อสร้างถนนให้แล้วเสร็จ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ไม่ต้องพระประสงค์ตัดถูกที่ดินของชาวบ้าน โดยมุ่งให้ใช้แนวเดิมที่เป็นทางเกวียนหรือแนวทางเดิน ขณะที่ทางกระทรวงนครบาลก็พยายามที่จะให้ราษฎรได้รับเงินค่าที่ดินจากรัฐบาลให้เรียบร้อย
กระทั่งในปี พ.ศ.2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการ ถ้าเจ้าของที่ดินผู้ที่ไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ก็ให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้ฟ้องกรมอัยการ ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินการต่อไปได้
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2443 กระทรวงโยธาธิการ ได้ขยายถนนเยาวราชออกเป็น 12 วา ในที่ที่ยังว่างอยู่ และเนื่องจากถนนสายนี้มีการก่อสร้างอาคารขึ้นตามริมทางแล้ว ทางการจึงต้องรีบขุดรางน้ำและถมปลายถนน ปลูกต้นไม้ห่างจากริมถนน 10 ศอก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า เนื่องจากถนนตอนบนขยายไม่ได้ ขยายได้แต่ตอนล่างซึ่งเป็นที่ว่าง การแก้ท่อน้ำจึงต้องค่อยๆแปรให้กว้างออกไป การตัดถนนเยาวราชจึงสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ การตัดถนนที่คงไว้ตามพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ทำให้ถนนเยาวราชเป็นไปแบบคดไปเคี้ยวมาจนมีคนบอกว่าเป็นเหมือนมังกร
จุดเริ่มต้นของถนนสายมังกรเส้นนี้ เริ่มจากส่วน "หัวมังกร" คือบริเวณวงเวียนโอเดียน ที่ตั้งของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ส่วน "ท้องมังกร" อยู่ระหว่างตลาดเก่าเยาวราชและถนนแปลงนาม ส่วนสุดท้ายคือ "หางมังกร" ข้ามคลองโอ่งอ่างมาที่ถนนจักรเพชร มุ่งหน้าสู่พาหุรัด วังบูรพา และสะพานพุทธ
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา