9 ก.พ. เวลา 08:52 • ธุรกิจ

Honda สื่อความถึงการเปลี่ยนจาก “Efficient Engine” เป็น “Extremely Efficient Engine” มันหมายถึงอะไร?

สวัสดีค่ะ วันก่อนได้คุยกับบริษัทญี่ปุ่นเรื่องโอกาสการลงทุนในภูมิภาค และได้เข้าใจมากขึ้นว่า ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่แต่เฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ยังรวมถึงบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานด้วย แน่นอนว่าทั้งสองอุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก และหลายคนคงนึกถึงบริษัทพลังงานด้านน้ำมันเป็นหลักที่ต้องปรับตัว หากแต่ว่าที่ญี่ปุ่นนั้นแม้แต่บริษัทในธุรกิจโรงไฟฟ้าก็ต้องปรับตัวอย่างมากด้วยเช่นกัน
วันนี้เรามาเริ่มที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นกันก่อน เพราะการปรับตัวอย่างมากในครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่
เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้เห็นข่าวความร่วมมือระหว่าง Honda และ GM เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา ในเรื่องการผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงเริ่มจากการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์สําหรับ EV ในอนาคตที่โรงงานร่วมทุน GM-Honda ในเมืองบราวน์สทาวน์ รัฐมิชิแกน
ความร่วมมือระหว่าง Honda และ GM มีมายาวนานหลายสิบปี และความร่วมมือด้านการพัฒนา EV ราคาไม่แพงเกิดขึ้นหลายปีแล้วแต่ได้ถูกยกเลิกไปในขณะนั้นเพราะประเมินความเป็นไปได้แล้วพบว่าขนาดตลาดไม่ใหญ่เพียงพอที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ จนถึงปีนี้ที่ได้กลับมาเริ่มโครงการอีกครั้ง
ความต้องการและเป้าหมายของ GM คืออะไร?
CEO Mary Barra ประกาศต่อผู้ถือหุ้นว่า "จะใช้ประสิทธิภาพทางวิศวกรรมและการปรับปรุงอื่นๆ ที่จะทําให้ยานพาหนะของเรามีราคาไม่แพงในการผลิตและทํากําไรได้มากขึ้น"
แล้วความต้องการและเป้าหมายของ Honda คืออะไร?
Honda นั้นประกาศในงานแถลงข่าวความร่วมมือกับ GM ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนว่า "ต้องการจะเปลี่ยนรูป (transform) การเคลื่อนที่ในโลกนี้ (mobility) โดยตั้งใจจะเผยโฉมสิ่งที่จะมาเปลี่ยนรูปดังกล่าวภายในปี 2027 หรืออีก 3-4 ปีข้างหน้านี้ และจะไม่มีรถยนต์ที่เราขับกันอยู่ในปัจจุบันในโรงงานของ Honda อีกเลยภายในปี 2040"
ในคราวที่ Honda-GM แถลงยกเลิกความร่วมมือในครั้งนั้น ทั้งสองเชื่อว่า EV ที่พัฒนาในแพลตฟอร์มปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่ยั่งยืนและเชื่อมั่นว่ามีแพลตฟอร์มที่ดีกว่า ในวันนี้ทั้งสองเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มประดิษฐ์ตามเป้าหมาย และรถเซลล์เชื้อเพลิงคันต่อไปของ Honda จะเป็นรถ SUV ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนโดยเริ่มจาก CR-V
Honda กับการพัฒนาบนจุดแข็งและพร้อมเสมอสำหรับโอกาส
ถ้าเรามาพิจารณา Competitiveness ของ Honda และ GM จาก Porter’s Five Forces Analysis โดยใช้ข้อมูลจาก case study ของ New York University โดย Charles Chang และ Professor Joseph Foudy จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าทำไมจึงมีการเจรจาความร่วมมือระหว่าง Honda และ GM มาหลายครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์มี Low threat of new entrants, Moderate bargaining power of suppliers, High bargaining power of buyers, High threat of substitute products or services, และ High rivalry among existing competitors
Honda เลือกที่จะแข่งขันโดยใช้จุดแข็งของตนเองคือ Honda R&D ที่เป็นบริษัทแยกออกมาชัดเจนเพื่อวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพทางวิศวกรรมที่เหนือกว่าทั้งสำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์และเครื่องยนต์อื่นๆ ซึ่งแม้ว่ารายได้จาก Honda R&D Company จะมีสัดส่วน 2% ของรายได้ทั้งหมดของ Honda แต่เป็นสิ่งที่ Honda ให้ความสำคัญสูงมาก
และด้วยจุดแข็งนี้เองที่ทำให้ Honda และรถยนต์จากญี่ปุ่นอื่นๆ สามารถครองตลาดรถยนต์ที่ใหญ่มากและมีผู้ครองตลาดที่แข็งแรงอย่างสหรัฐอเมริกาและขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับ 1 ในโลกได้ในทศวรรษ 1980’s โดยอาศัยจังหวะที่มีการประกาศและบังคับใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยและการปล่อยมลพิษ
ในครั้งนั้นรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกายังคงมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ประสิทธิภาพน้อยกว่าและใช้พลังงานมาก ในขณะที่ Honda มีการพัฒนาในเรื่องนี้มาโดยตลอดจนมีความพร้อมอยู่แล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบริษัทรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาก็สูญเสียการครองตลาดและต้องหันมาใช้กลยุทธ์ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นหลักแทน (SUVs และ pickup trucks)
แน่นอนว่าไม่มีความสามารถในการแข่งขันใดยั่งยืน Honda กับวันนี้ที่ต้องปรับตัวอีกครั้ง
นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาที่รถยนต์จากจีนขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับ 2 ในโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา รถยนต์ญี่ปุ่นรวมทั้ง Honda ก็ไม่สามารถวางใจในสถานะผู้ครองตลาดได้อีกต่อไป และนั่นทำให้ Honda ทวีความสำคัญของ Honda R&D ยิ่งขึ้นไปอีกโดยดึง R&D รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาอยู่ภายใต้การทำงานของบริษัท Honda ซึ่งเดิมทำหน้าที่ขายและการตลาดเป็นหลัก และสิ่งนี้ทำให้การ R&D รถยนต์รุ่นใหม่ใช้พื้นฐานความต้องการของตลาดเป็นหลัก ขณะที่ Honda R&D ไม่ต้องสนใจความต้องการของตลาดปัจจุบันเลยในการทำงานอย่างเต็มที่
และในวันนี้ที่สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลทั่วโลกต่างผลักดัน กฎหมายเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (legistration to limit greenhouse emissions) ก็เป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับ Honda และรถยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆ อีกเช่นกันที่พร้อมแล้วอย่างมากกับประสิทธิภาพเครื่องยนต์ที่ถูกกำหนดให้พัฒนาในมาตรฐานใหม่นี้ก่อนหน้านี้แล้ว
Honda สื่อความว่า วันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรูปจาก “Efficient Engine” เป็น “Extremely Efficient Engine” และจะไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์อีกต่อไป ทั้ง Honda รถยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆ และรถยนต์ทั่วโลก จะเปลี่ยนรูปเป็น “Tech Company” โดยใช้จุดแข็งของ จุดตัดระหว่างเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์ (Intersection between tech and automotive industry)
Honda ให้ข่าวว่า "ระบบรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงรุ่นถัดไปจะเป็นรถยนต์ CR-V ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยอาศัยเซลล์เชื้อเพลิงที่ Honda และ GM ร่วมกันพัฒนาใหม่นี้ และจะมีต้นทุนการผลิตด้านฮาร์ดแวร์ถูกลงถึงหนึ่งในสาม เนื่องจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการลดลงของโลหะมีค่าและการออกแบบเซลล์ใหม่"
วันนี้กับหลายคำถามที่เราต้องเริ่มถามตัวเองและเพิ่มทางเลือกทางธุรกิจ
ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มีหลายคำถามที่สำคัญ คือ
  • 1.
    ความร่วมมือระหว่าง Honda และ GM ในครั้งนี้จะถูกยกเลิกอีกครั้งเพราะความไม่พร้อมของตลาดหรือไม่?
  • 2.
    ผู้ผลิตรถยนต์ EV พลังงานแบตเตอรี่จะตอบสนองอย่างไร?
  • 3.
    และจะมีพลัง R&D ใหม่ๆ สุดล้ำเหนือจินตนาการอีกหรือไม่ที่จะทำให้เปลี่ยนรูปแบบการ “เปลี่ยนรูป (transform)” ไปอีก?
แล้วผู้ประกอบการในห่วงโช่อุปทานรถยนต์ในไทยมีทางเลือกในการเตรียมตัวอย่างไรบ้างในขณะนี้ ที่ทุกอย่างไม่แน่นอน ยากที่จะคาดการณ์ และใช้เวลาในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ทดแทนสิ่งที่มีอยู่ และกับคำถามที่อาจจะสำคัญที่สุดในเวลานี้ จะทำอย่างไรกับสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมือนกับเมื่อปี 1980’s ที่ GM ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ​ ให้อยู่รอดโดยเป็นเพียงบริษัทรถยนต์ที่เน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ในปัจจุบันนั่นเอง
โลกนี้มีการเปลี่ยนรูป (transform) ครั้งใหญ่มาหลายครั้งแล้ว มีทั้งผู้ที่รอดผู้ที่เติบโต และผู้ที่หายไป อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใดเริ่มวิเคราะห์โมเดลธุรกิจของเราเองอย่างจริงจัง ให้เข้าใจและมองเห็นความเป็นไปได้ของเส้นทางการพัฒนาบนจุดแข็งให้อยู่รอดและเติบโตได้ในอนาคต
เมื่อบริบทและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน โมเดลธุรกิจของเราก็จำเป็นต้องปรับเช่นกัน
ใครมีความคิดเห็นอย่างไรต่อทิศทางและความเป็นไปได้ในการปรับตัวเตรียมตัว แบ่งปันกันได้ใน comment นะคะ
บริษัท ที่ปรึกษาทรัพย์ทวี จำกัด
Supthavee Advisory Company Limited
เราคือ ที่ปรึกษาธุรกิจการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโตและการสร้างผลกำไรจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน
โฆษณา